3D Rush in Japa

ปี 2010 นับเป็นปีเริ่มต้นแห่งความบันเทิงในระบบ 3 มิติภายในประเทศญี่ปุ่นอย่างแท้จริงด้วยเทคโนโลยี 3D ซึ่งสามารถนำพาประสาทสัมผัสสู่โลกใบใหม่ในมิติที่สามเนรมิตภาพที่มองเห็นเป็นฉากลึกเข้าไปด้านหลังและวัตถุเคลื่อนไหวที่พร้อมจะทะลุออกมานอกจอได้ตลอดเวลา

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1950 แนวคิดของภาพ 3 มิติได้เคยอยู่ในกระแสนิยมของคนญี่ปุ่นรุ่นปู่ย่ามาแล้วครั้งหนึ่งในห้วงเวลาที่โทรทัศน์ขาวดำได้รับการเปรียบเปรยให้เป็นหนึ่งใน “ราชสมบัติสามอย่างของจักรพรรดิ” ซึ่งกลายเป็นประดิษฐกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชนชั้นกลางในสมัยนั้นต่างปรารถนาอยากเป็นเจ้าของ

หัวข้อสนทนา 3D กลับมาอินเทรนด์อีกครั้งในยุคของโทรทัศน์สีช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อมีการนำเสนอภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิค 3 มิติซึ่งดูผ่านแว่นตากระดาษที่มีฟิล์มข้างหนึ่งเป็นสีแดงและอีกข้างหนึ่งเป็นสีน้ำเงิน

พัฒนาการของเทคโนโลยี 3D ได้ก้าวล้ำขึ้นมาเป็นลำดับกอปรกับวิวัฒนาการของโทรทัศน์จอแบนในยุคดิจิตอลนี้เป็นจุดเวลาอันประจวบเหมาะที่เอื้อต่อเทรนด์ของ 3D ระลอกที่สามในคราวนี้ซึ่งสานฝันของผู้คนในหลายช่วงอายุให้กลายเป็นจริงที่จับต้องได้

ความสำเร็จของภาพยนตร์ 3 มิติเต็มรูปแบบ “Avatar” เมื่อปลายปีที่แล้วเป็นเสมือนการจุดชนวนกระแสของ 3D ในญี่ปุ่นที่มีส่วนหนุนนำให้นวัตกรรม “โทรทัศน์ 3 มิติ” ได้รับการตอบรับทันทีหลังจาก Panasonic ประเดิมตลาดนี้ก่อนใครในโลกด้วย 3D VIERA พร้อมกัน 2 รุ่นขนาดจอ 50 และ54 นิ้วความละเอียดภาพ Full High Vision 1,920×1,080 พิกเซลควบคู่มากับเครื่องบันทึกภาพ Blu-ray 3D DIGA เมื่อเดือนเมษายนปีนี้*

ตามติดด้วย Sony ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในมหกรรมฟุตบอลโลก 2010 โหมโปรโมต 3D Bravia* เป็นเซตกับคู่กับ Blu-ray Disc ในเดือนมิถุนายนในจังหวะที่การแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศแอฟริกาใต้ได้เริ่มต้นขึ้นโดยชูจุดขายของภาพ 3 มิติซึ่งให้ความสมจริงราวกับนั่งเชียร์ทีมโปรดติดขอบสนาม

ล่าสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ Sharp ได้เริ่มวางจำหน่าย AQUOS 3D พร้อมเครื่องบันทึกภาพ Blu-ray Disc เช่นกันนอกจากนี้ยังมี Toshiba และ Mitsubishi ที่ประกาศตัวขอลงสู่ตลาดโทรทัศน์ 3 มิติภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม การรับชมภาพจากโทรทัศน์ 3 มิติยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่งนั่นคือต้องสวมแว่นตา 3 มิติ

Hardware ประเภทอื่นเช่นคอมพิวเตอร์ก็เริ่มต้นทำตลาด 3 มิติไปแล้วซึ่งในขณะนี้ (ข้อมูลจนถึงเดือนกรกฎาคม 2553) มีเพียง Fujitsu*** เท่านั้นที่วางจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ 3D โมเดล FMV ESPRIMO FH series ขนาดจอ 20 นิ้วบนปฏิบัติการ Windows 7 และสามารถดูโทรทัศน์ 3 มิติผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อม Blu-ray 3D ในตัวด้วยแว่นตา 3 มิติ ยิ่งไปกว่านั้นยังเพิ่มฟังก์ชันที่โดดเด่นไม่เหมือนใครด้วยกล้อง Webcam 2 ตัวที่สามารถมองเห็นคู่สนทนาเป็นภาพ 3 มิติได้ในขณะแชต

กล้องดิจิตอลก็เช่นกัน Fuji Film รุ่น FINEPIX REAL 3D W1 และ V1 ทั้ง 2 รุ่นเป็นกล้องดิจิตอลที่พัฒนาขึ้นสำหรับถ่ายภาพ 3 มิติซึ่งสามารถอัดภาพถ่ายออกมาเป็น 3 มิติที่ดูได้โดยไม่ต้องสวมแว่นตา 3 มิติพร้อมกรอบรูปดิจิตอล 3 มิติออกมาวางตลาดแบบครบวงจร

ศึก 3D ในตลาดของเกมส์กำลังจะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้าเมื่อ Nintendo เปิดเผยข้อมูลและแผนการตลาดของเกมพกพาภาพ 3 มิติที่ไม่ต้องพึ่งพาแว่นตาซึ่งใช้ชื่อว่า “3DS” ในงาน E3 Video Game Conference ซึ่งจัดขึ้นที่ Los Angeles เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน Sony ก็แย้มถึงเกมพกพาภาพ 3 มิติของ PlayStation ที่ใช้ได้กับอุปกรณ์ 3 มิติของ Sony เช่นการต่อเข้ากับโทรทัศน์ 3 มิติรวมถึงการตอกย้ำจุดแข็งของ Blu-ray Disc ที่อยู่ภายในเครื่อง PlayStation

ยิ่งไปกว่านั้นตลาด Cable TV ก็ตอบรับกระแสนี้อย่างทันควันด้วยการส่งสัญญาณออกอากาศแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในระบบ 3 มิติทางช่อง Sky Perfect ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการแข่งขันระหว่างสถานีโทรทัศน์ Cable TV ช่องอื่นๆ เช่น ช่อง BS11กำลังจะเริ่มบริการในลักษณะเดียวกันในฤดูหนาวปีนี้ ส่วน J:COM ก็กำลังจะมีรายการในระบบ 3 มิติให้เลือกมากถึง 20 ช่อง นอกจาก Cable TV แล้วสถานีโทรทัศน์ NHK ก็มีแผนการส่งสัญญาณแพร่ภาพในระบบ 3 มิติในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

กระแสของ 3D ในญี่ปุ่นขณะนี้ไม่เพียงจำกัดอยู่แค่บริบทของความบันเทิงบนจอภาพ 3 มิติเท่านั้นแต่ยังนำไปประยุกต์ใช้ในงานโฆษณา 3 มิติ, สื่อการเรียนการสอนที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาวิชาการได้ง่ายขึ้นซึ่งเทคโนโลยี 3D ที่พัฒนาต่อไปจากนี้คาดว่าจะสามารถรับชมภาพ 3 มิติได้ด้วยตาเปล่าซึ่งมีศักยภาพเพียงพอพร้อมแทรกตัวเข้าไปแสดงบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นได้ในทุกแขนงที่มีการสื่อสารกันผ่านจอภาพ

อ่านเพิ่มเติมรายละเอียด
*นิตยสาร POSITIONING คอลัมน์ From Japan หรือ www.positioningmag.com/Magazine/GlobalWrap/FromJapan ฉบับมิถุนายน 2553
**นิตยสาร POSITIONING คอลัมน์ From Japan หรือ www.positioningmag.com/Magazine/GlobalWrap/FromJapan ฉบับกรกฎาคม 2553
***Fujitsu เป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอมพิวเตอร์สำหรับตลาดบนซึ่งวาง Positioning เครื่องคอมพิวเตอร์ FMV ที่จำหน่ายภายในญี่ปุ่นด้วยภาพลักษณ์ของสินค้า Made in Japa