สัญญาณดีของธุรกิจ? ประเทศกลุ่ม “ยุโรปใต้” ทยอยเปิดหาดรับนักท่องเที่ยวมิถุนายนนี้

(photo: pixabay)
กลุ่มประเทศตอนใต้ของทวีปยุโรปกำลังเข้าสู่หน้าร้อนอันเป็นหน้า “ไฮซีซัน” ของธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งโปรตุเกส อิตาลี สเปน กรีซ ไซปรัส ต่างมุ่งเป้าผลักดันการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับมาตรการรักษาสุขอนามัยในระหว่างที่ไวรัส COVID-19 ยังไม่สามารถกำจัดได้ 100% ขณะที่สายการบินวางตารางบินเพิ่ม 400% ในเดือนมิถุนายน พร้อมพานักท่องเที่ยวบินสู่หาดสวยน้ำใสชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมชิงนักท่องเที่ยวยุค COVID-19 เริ่มคลี่คลายคือ โปรตุเกส โดยโปรตุเกสประกาศเตรียมเปิดชายหาดให้มาพักผ่อนกันได้ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2020 อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวที่จะมาอาบแดดทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎเว้นระยะห่างทางสังคม อยู่ห่างจากกันอย่างน้อย 1.5 เมตร

จากกฎดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ต้องการอาบแดดต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เพื่อเช็กว่ายังมีช่องว่างของหาดตรงไหนให้นอนได้บ้าง วิธีการใช้แอปฯ เพื่อจองที่นอนอาบแดดแบบนี้จะมีการนำไปใช้ที่ชายหาดในประเทศสเปนเช่นกัน

ภาพจำลองการเเบ่งพื้นที่ของชายหาด Canet d’en Berenguer ประเทศสเปน – Photo : Canet d’en Berenguer City Hall

ด้านที่พักริมหาด กลุ่มโรงแรมเอกชนของโปรตุเกสจะเริ่มเปิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ ส่วนโรงแรมที่เป็นอาคารโบราณสถานในความดูแลของรัฐซึ่งเรียกกันว่า pousadas จะเริ่มเปิดราวกลางเดือนมิถุนายน และคาดว่าทุกโรงแรมน่าจะมีมาตรการจัดช่วงเวลา “บัฟเฟอร์” คือการปิดห้องหลังทำความสะอาดไว้ก่อน 24 ชั่วโมงโดยไม่มีพนักงานหรือบุคคลใดเข้าไปในห้องพัก ก่อนที่จะให้แขกรายต่อไปเข้าพักได้

 

กอบกู้ธุรกิจท่องเที่ยว

นอกจากประเทศโปรตุเกสแล้ว อิตาลี และ สเปน ประกาศเช่นกันว่าจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ โดยสเปนนั้นคาดว่าจะเริ่มเปิดหาดให้อาบแดดได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน

ส่วนประเทศ กรีซ ประเทศที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวสูงโดยมูลค่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคิดเป็น 10-12% ของจีดีพี มองว่าจะเริ่มทยอยเปิดการท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายน (ขณะนี้วิหารพาร์เธนอนเริ่มเปิดทำการแล้ว) และจะเริ่มรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคม

หมู่เกาะคอร์ฟู ประเทศกรีซ

ถัดมาอีกนิดที่ประเทศ ไซปรัส ส่งสัญญาณว่าจะเปิดการท่องเที่ยวในเดือนกรกฎาคม โดยมีลิสต์ประเทศที่ “อ้าแขนต้อนรับ” ให้มาเยี่ยมเยือนเช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย กรีซ อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และกลุ่มประเทศนอร์ดิก

ปกติแล้วฤดูท่องเที่ยวหน้าร้อนของประเทศกลุ่มยุโรปใต้จะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนกันยายน แต่เมื่อเจอโรคระบาดไวรัส COVID-19 ทำให้โรงแรมต้องปิดทำการชั่วคราวไปนานเกือบ 3 เดือนแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจึงหวังว่าจะมีกระแสรายได้เข้ามาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 3-4 เดือนข้างหน้าก่อนหมดฤดูร้อน

อย่างไรก็ตาม ในแง่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องอาศัยการเจรจาระหว่างประเทศร่วมด้วย โดยสมาชิกสหภาพยุโรปมีการเจรจาระหว่างกันเพื่อจะเปิดให้ประชาชนกลับมาเดินทางระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องเป็นประเทศที่มีระดับการแพร่ระบาดที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น

ขณะที่ชาวไทยที่กำลังวางแผนไปท่องเที่ยวยุโรปต้องระมัดระวังสักหน่อย เพราะแม้ว่าคำสั่งแบนการเดินทางของสหภาพยุโรปจะสิ้นสุด วันที่ 15 มิถุนายนนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าสหภาพยุโรปอาจจะต่ออายุมาตรการปิดเขตแดนไม่ให้ชาวต่างชาตินอก EU เข้าพรมแดนได้ไปอีกสักระยะ อย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม

 

สายการบินเพิ่มตารางบินรับกระแส

ด้านธุรกิจสายการบินเร่งจับกระแสการท่องเที่ยวหน้าร้อนของยุโรปเช่นกัน โดยพบว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเดือนมิถุนายนนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมถึง 400%

ยกตัวอย่างเช่น Lufthansa สายการบินหลักของยุโรปประกาศจัดตารางบิน 3,600 เที่ยวต่อสัปดาห์ภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งคิดเป็น 15-20% ของจำนวนเที่ยวบินปกติก่อนเกิด COVID-19 ระบาด ขณะที่ Ryanair จะกลับมาทำการบิน 40% ของจำนวนเที่ยวบินปกติ สายการบิน Swiss จะกลับมาทำการบิน 15-20% ของเที่ยวบินปกติ (รวมถึงเที่ยวบินระยะไกลไปยังสหรัฐฯ ทวีปเอเชีย และแอฟริกาด้วย)

ฟากสายการบินอาหรับ Emirates ประกาศกลับมาบิน 9 เส้นทางไป-กลับจากดูไบ โดย 5 ใน 9 เส้นทางเป็นจุดหมายปลายทางในยุโรป ด้าน Qatar จะบินจากโดฮาไป-กลับ 20 เมืองในยุโรป

ฝั่งสหรัฐฯ มีสายการบินที่ประกาศทำการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกคือ Delta ที่จะบินจากแอตแลนตาและดีทรอยต์ ไป-กลับ 4 เมืองหลักของยุโรป คือ อัมสเตอร์ดัม แฟรงก์เฟิร์ต ปารีส และลอนดอน

การประกาศตารางบินเหล่านี้เกิดขึ้นแม้ว่าจะยังไม่แน่ชัดว่าวันที่ 15 มิถุนายนนี้ EU จะกลับมาเปิดรับคนเดินทางได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มาจากนอกเขตสหภาพยุโรป แต่เชื่อว่าทุกธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องการจะ “มองโลกในแง่ดี” ว่าการเดินทางจะฟื้นแล้วในเดือนหน้า

Source: Independent, Forbes