Layar คือ Reality Browser ที่ทำงานบนโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟน มีคุณสมบัติเป็นAR ชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “ Mobile Augmented Reality Browser” แสดงผลหน้าจอในรูปแบบของ 3D โดยรับข้อมูลผ่านกล้องโทรศัพท์มือถือ มีเข็มทิศเป็นตัวบอกทิศทาง
จัดเป็น AR On-the-go (Location-Based) โดยอาศัย GPS เหมาะเจาะกับไลฟ์สไตล์ที่ไม่หยุดนิ่งของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการเดินทาง ท่องเที่ยว และ Layar เป็น AR Browser บนโทรศัพท์มือถือรายแรกของโลก
Layarถูกพัฒนาด้วยคอนเซ็ปต์แรงๆ ที่ว่า “See the World” กับ “See what you can’t see” เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อมิถุนายน 2552 ที่เนเธอร์แลนด์ และเพิ่งเปิดตัวทั่วโลกเมื่อสิงหาคม 2552
ข้อดี
ในอนาคตผู้ใช้ซิมเบียนก็จะสามารถใช้ Layar ได้ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับบาด้าของซัมซุง แต่ในเบื้องแรกเริ่มต้นกับแอนดรอยด์และไอโฟนก่อน และสามารถดาวน์โหลดฟรีได้จาก Application Store ของแต่ละค่าย ส่วนผู้ใช้งาน BlackBerry ต้องทำใจไปก่อนเพราะรุ่นที่ผลิตออกมาจำหน่ายไม่มีเข็มทิศในตัว
หรือจะเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า Layar ก็เหมือนเคเบิลทีวีบนโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นเคเบิลทีวีหลายราย (เหมือน Developers) แต่ละรายก็มีช่องจำนวนมาก และการที่จะออนแอร์รายการไหนก็ขึ้นอยู่กับโลเกชั่นที่เราอยู่ ที่สำคัญเราสามารถดูได้เสมือนจริงในรูปแบบของ 3D
ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ การใช้ Layar ดูรายละเอียดของตึกต่างๆ ในรูปแบบ 3D ทั้งข้างในและข้างนอกโดย Developer ส่วนใหญ่เป็นศูนย์การค้า พิพิธภัณฑ์ และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ การแสดงสถานที่ตั้งของสาขาของค้าปลีกและโครงการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แสดงที่ตั้งของตู้เอทีเอ็ม
จากข้อมูลใน Layar.com คาดว่าจะมีผู้ใช้งาน Layar หลายสิบล้านคนภายในปี 2553 นี้ จากตัวเลขในปัจจุบัน 2 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเหตุผลจูงใจง่ายๆ ว่าทำให้ชีวิต “ง่ายและสนุก” มากขึ้น ขณะเดียวกัน Developer ก็เล็งเห็นศักยภาพของ Layar ว่าจะไปได้ไกลและเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคได้ดี และเมื่อถึงเวลานั้น Layar จะต่างอะไรกับ Mass Media ในแง่ของ Penetration และผู้บริโภคจะมี Experience สูง
เมื่อปี 2552 พบว่า 1 ใน 10 ของผู้ใช้สมาร์ทโฟน ใช้ Layar แต่ในอนาคตตัวเลขอาจใกล้เคียง 100% โดยล่าสุดรุ่น Galaxy ของซัมซุงได้ทำการทดลองติดตั้ง Layar ใน 100 ประเทศทั่วโลก ด้วยจำนวน 1 ล้านเครื่องต่อเดือน และขณะนี้กลายเป็น
Layarถูกติดตั้ง 1ใน 3 ของสมาร์ทโฟนทั่วโลกแล้ว ซึ่งภายในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 เลยทีเดียว
แม้ในขณะนี้ Layar จะอยู่ในช่วงวัยทารก แต่ก็เป็นทารกที่มีพัฒนาการเกินวัย และมีวี่แววว่าจะเติบโตอย่างน่าอัศจรรย์ต่อไป
กระนั้นเหตุการณ์นี้ Layar เองก็ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในแถบอเมริกาและยุโรปก่อนจะแผ่ขยายไปยังทวีปอื่นๆ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ขณะที่ อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ Adapter บอกกับ POSITIONING ว่า Layar จัดเป็น AR ที่มาแรงที่สุดเวลานี้ แต่ในเมืองไทยช่วงแรกจะเป็นของเล่นสนุกของบรรดากลุ่มคนที่เป็น Trendsetter และจากนั้นเมื่อมี Developer มากขึ้นและผู้ใช้งานได้สิทธิประโยชน์จากโปรโมชั่นต่างๆ ก็จะเกิดการบอกต่อและได้รับความนิยมในวงกว้างในที่สุด
“ตอนนี้กลุ่มคนเมืองที่มีกำลังซื้อและใช้งานสมาร์ทโฟนทั้งไอโฟนและแอนดรอยด์จะตื่นตัวก่อนเพราะสามารถใช้งานได้เลย”
ทุกวันนี้ Layar ยังคงพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องโดยสามารถระดมเงินทุนจากกองทุนได้ราว 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
อนาคตอันใกล้ Layar กำลังพัฒนาฟังก์ชันของ Photo Recognition และนั่นจะทำให้ Layar กลายเป็น AR ลูกผสมระหว่าง Location Based กับ Marker Based ในที่สุด
ทั่วโลกต่างจับตา Layar แม้แต่ Google ยังเชิญให้ Layar เข้าร่วมงาน Zestgiest Europe 2010 ซึ่งเป็นฟอรั่มที่ Google จัดขึ้นและเชื้อเชิญให้บริษัทชั้นนำต่างๆ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์กัน และผู้บริหาร Google ได้ให้คำแนะนำสั้นๆ กับผู้บริหาร Layar ว่า “Keep Going”
เหนือสิ่งอื่นใดใช่ว่าทุกคอนเทนต์จะได้รับความนิยม ไอเดียที่เด็ดและเป็นประโยชน์โดยแท้จริงต่อผู้บริโภคเท่านั้นถึงจะอยู่รอด ปลอดภัยและเติบโต ไม่ต่างจากคอนเทนต์ที่ปรากฏในสื่ออื่นๆ