ในขณะที่หลายประเทศยังคงต่อสู้กับการระบาดของ COVID-19 แต่นิวซีแลนด์และไอซ์แลนด์เป็น 2 ประเทศล่าสุดที่ถูกยกย่องว่าจัดการวิกฤตได้มีประสิทธิภาพมากกว่าใคร เหตุบังเอิญคือรัฐบาลของทั้ง 2 ชาติมีผู้นำเป็นผู้หญิง และอีกหลายพื้นที่ที่ถูกยกเป็นแถวหน้าเรื่องการจัดการ COVID-19 ได้ดีในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีผู้นำเป็นผู้หญิง เช่น ไต้หวัน เยอรมนี ฟินแลนด์ และนอร์เวย์
ปรากฏการณ์นี้เชื่อมโยงกับภาวะผู้นำในองค์กรได้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตใดก็ตาม สิ่งที่ผู้คนต้องการคือผู้นำที่มี Empathy การเข้าถึงใจที่มากกว่าความเห็นอกเห็นใจ ขณะเดียวกันก็ต้องมี Compassion หรือความรู้สึกเมตตากรุณา ที่สำคัญคือต้องมีความสามารถในการแสดงการสนับสนุน ซึ่งทั้งหมดเป็นทักษะที่ผู้นำหญิงมักจะแสดงออกได้มากกว่าผู้ชาย
ภัย COVID-19 ที่เกิดขึ้นถูกมองเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่าโลกควรยอมรับในความสามารถพิเศษของผู้นำหญิง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่หลายบริษัทจะเปิดใจและให้โอกาสผู้หญิงเป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น โดยไม่ต้องรอจนบริษัทต้องพบวิกฤตก่อน จึงจะเปิดให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นผู้นำ
COVID-19 คือบทพิสูจน์
นายกรัฐมนตรี “จาซินดา อาร์เดิร์น” แห่งนิวซีแลนด์ และ “แคทริน เจคอบสดอตเตอร์” แห่งไอซ์แลนด์ ต่างได้รับการยกย่องชื่นชมจากโลกถึงความเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมของทั้งคู่ในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ซึ่งหากมองใน 10 ประเทศที่มีผลงานยอดเยี่ยมที่สุดในแง่ของการตรวจรักษาและการเสียชีวิต
พบว่า 4 พื้นที่เป็นจุดที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำมวลชน ได้แก่ เอสโตเนีย ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ และไต้หวัน โดยผู้นำหญิงอย่าง นายกรัฐมนตรีเยอรมัน “แองเจลา มาร์เคิล” และนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก “แมท เฟรดเดอริกเซน” ก็ได้รับคำชมเชยจากการเป็นผู้นำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคเช่นกัน
ในภาพรวม ผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 7% ของผู้นำของโลก ดังนั้นความจริงที่ว่ามีผู้นำหญิงหลายคนเกิดมีชื่อเสียงในช่วงวิกฤต COVID-19 จึงเป็นเรื่องน่าสังเกต
ผู้ชายจัดการได้แย่จริงหรือ?
แต่อีกประเด็นที่สื่อทั่วโลกไม่มองข้าม คือ ประเทศที่มีผลการดำเนินงานเลวร้ายที่สุดบางประเทศกลับนำโดย “ผู้ชาย” ยกตัวอย่างเบาๆ คือประธานาธิบดี “แจร์ โบลโซนาโร” ของบราซิลที่สื่อแซวว่าได้ถ่ายทอดมุมมองและความเป็นตัวตนที่เรโทรสุดๆ ด้วยการเรียกไวรัสโคโรนาว่า “measly cold” หรือ หวัดธรรมดา พร้อมกับคุยโตว่าเขา “จะไม่รู้สึกอะไรเลย” ถ้าติดเชื้อ
ในอังกฤษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการบันทึกผู้เสียชีวิตมากที่สุดในยุโรป นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ก็เคยมีประวัติแสดงความคิดเห็นแบบหัวเก่าเรื่องผู้หญิง เช่นเดียวกับโบลซานาโร สัญชาตญาณแรกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างจอห์นสันคือพยายามพูดลดความรุนแรงของ COVID-19 ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จบลงด้วยการเปลี่ยนท่าที หลังจากจอห์นสันติดเชื้อ และต้องดูแลรักษาตัวที่หน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก
แม้แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นผู้นำอีกคนที่ถูกมองว่าจัดการกับ COVID-19 ได้ยอดแย่ แถมยังมองข้ามวิกฤตโควิดแบบต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นพิลึกพิลั่น เช่น การบีบให้ “จีนจ่ายเงินชดเชย” โทษฐานเป็นต้นเหตุให้ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลก
หากจะวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จของผู้นำหญิงนั้นสัมพันธ์กับการตอบสนองต่อการระบาดของโรค การตอบสนองที่ดีและเข้าท่ากว่าเหล่านี้อาจมีรากฐานมาจากคุณสมบัติ “ความเป็นผู้หญิง” เช่น ความเห็นอกเห็นใจ และความเต็มใจที่จะร่วมมือกัน ประเด็นนี้สำนักข่าวฟอร์บส์ (Forbes) เรียกการกล่าวคำปราศรัยทางโทรทัศน์ของนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ “เออร์นา ซอว์เบิร์ก” ว่าเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมเรียบง่าย จากแม่เมืองสู่ลูกเมืองที่เกิดขึ้นได้ภายใต้การนำประเทศของผู้หญิง
COVID-19 ยังถูกมองเป็นกระจกที่สะท้อนว่าชายบางคนเป็นผู้นำประเทศที่ไร้ความสามารถและมีแต่คำพูดเยาะเย้ย ตรงกันข้ามกับผู้นำหญิงที่จัดการวิกฤติได้เต็มประสิทธิภาพสูง ปัญหามากมายได้รับการแก้ไข ชี้ขาด ประเมินพยานและหลักฐาน แล้วลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้วยความเด็ดขาด
กรณีของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ พบว่านายกฯ อาร์เดิร์นใช้คติ “go hard and go early” ที่เน้นการทำงานจริงจังและทำให้เร็ว ขั้นแรกอาร์เดิร์นบังคับใช้การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด 4 วันก่อนที่ผู้ป่วย COVID-19 คนแรกของนิวซีแลนด์จะเสียชีวิต ขณะที่ประธานาธิบดีไต้หวัน “ไซ่ อิงเหวิน” ประกาศมาตรการด้านสาธารณสุขมากกว่าร้อยข้อในเดือนมกราคม ทั้งที่ตอนนั้นองค์การอนามัยโลกยังคงเอาแต่สงสัยว่า จะมีความเป็นไปได้ไหมในการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์?
เกี่ยวไหม? นิสัยแบบผู้หญิง
คำพูดว่า “นิสัยแบบผู้หญิง” ไม่ได้อธิบายถึงประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งของผู้นำหญิงในช่วงวิกฤต แต่ที่จะอธิบายได้ดีคือเส้นทางที่ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจขึ้นมา ประเด็นนี้เชื่อมโยงได้กับปรากฏการณ์ “หน้าผาแก้ว” หรือ glass cliff phenomenon ซึ่งมีงานวิจัยมากมายพยายามอธิบายถึงสถานการณ์ขององค์กรที่เริ่มดึงผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำเมื่อต้องจัดการวิกฤติในบริษัท
งานวิจัยเรื่อง glass cliff มีต้นตอมาจากความที่ผู้หญิงมีแนวโน้มได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำช่วงที่บริษัทเริ่มย่ำแย่ ภาวะผู้นำหญิงในสถานการณ์นี้จึงถูกเรียกเป็นหน้าผาแก้วที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และล่อแหลมเพราะง่ายต่อความล้มเหลว การวิจัย glass cliff หลายฉบับ พบว่าก่อนที่จะแต่งตั้งผู้ชายเข้าสู่บอร์ด บริษัทเหล่านี้มักเป็นบริษัทร้อนแรงในตาราง Financial Times Stock 100 Index เพราะราคาหุ้นมีเสถียรภาพ แต่เมื่อมีการเริ่มแต่งตั้งผู้หญิงสักคนเข้ามาในบอร์ดบริหาร บริษัทนั้นก็มักเข้าสู่ช่วงที่ราคาหุ้นบริษัทตกต่ำมาแล้วนานกว่า 5 เดือน
แนวโน้มนี้ไม่ได้หยุดเฉพาะในสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนบริษัท และองค์กรทั่วโลกเริ่มเพิ่มความหลากหลายทางเพศให้บอร์ดบริหารหลังจากเริ่มประสบปัญหาใหญ่ไปแล้วเช่นกัน แม้แต่ในวงการเมืองอังกฤษ “มาร์กาเร็ต แทตเชอร์” ก็กลายเป็นผู้นำของพรรคอนุรักษ์นิยมในยามวิกฤต แม้แต่อาร์เดิร์นก็หนีไม่พ้นกรณีของ glass cliff จนได้โอกาสเป็นผู้นำของพรรคแรงงานของนิวซีแลนด์ในปี 2017 หลังจากหัวหน้าพรรคคนเก่าต้องลาออกเพราะคะแนนนิยมตกต่ำสุดขีด จนอีก 2 เดือนต่อมา อาร์เดิร์นก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดของประเทศในรอบ 150 ปี
ผลการวิจัยพบว่า glass cliff เป็นปรากฏการณ์ที่มักเกิดขึ้นเมื่อองค์กรรู้สึกยอมเสี่ยง และยินดีที่จะท้าทายสถานะ “ไม่มีอะไรจะเสีย” ที่กำลังเป็นอยู่ แต่สิ่งที่พบคือความแตกต่างที่ชัดเจนของการมีผู้หญิงเข้ามาเป็นบอร์ดดูแล นั้นสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสีย เรียกว่าผู้ถือหุ้นจะเบาใจได้ว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น
ด้วยมือของผู้บริหารเลือดใหม่ บนพื้นฐานความคิดแบบ “ผู้หญิง” ที่จะสู้ภาวะวิกฤตได้ดีกว่า!
ที่มา :
Related