10 สัญญาณเตือนว่าคุณยัง “ไม่พร้อม” ที่จะเป็น “ผู้นำ”

ผู้นำ
(Photo: Shutterstock)
การเปลี่ยนตัวเองจากฐานะสมาชิกทีมมาสู่การเป็น “ผู้นำ” นั้นอาจจะเป็นเรื่องท้าทาย เพราะตำแหน่งใหม่จะมาพร้อมกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ในโลกของการทำงาน และหลายครั้งที่คุณอาจจะยัง “ไม่พร้อม” รับตำแหน่งนี้ วัดได้จากสัญญาณเตือนมากมายเหล่านี้

นาตาลี เพียร์ซ ผู้ร่วมก่อตั้ง The Future Kind มองว่า บุคลิกที่มีเสน่ห์และความมั่นใจอาจจะทำให้คนสนใจและส่งคุณขึ้นเป็น “ผู้นำ” องค์กรได้ แต่นิสัยที่ซ่อนอยู่ต่างหากที่จะตัดสินว่าคุณพร้อมหรือยังที่จะนำองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการรู้จักตัวเองตั้งแต่แรกๆ ที่ขึ้นรับตำแหน่งจะทำให้คุณปรับตัวเพื่อสนับสนุน เป็นแรงบันดาลใจให้กับทีม แทนที่จะเป็นอุปสรรคของทีมเสียเอง

“ผู้นำที่ให้ทีมเป็นศูนย์กลางได้ดีที่สุดที่ผมเคยเห็นมา เป็นคนที่เข้าใจหลักการว่าการเป็นผู้นำไม่ได้หมายถึงคนที่เก่งไปเสียทุกอย่าง” คริส เพอร์ซิวาล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ CJPI กล่าว “แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ผู้นำที่เก่งมักจะเป็นคนที่สามารถดึงแนวคิดที่ดีที่สุดออกมาจากคนอื่นได้ และส่งเสริมให้คนที่เก่งกว่าตนเองสามารถรับผิดชอบงานของตนได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ ทั้งสองผู้บริหารจากองค์กรพัฒนาการเป็นผู้นำมองว่ามี 10 สัญญาณเตือนที่บอกได้ว่าคุณยัง “ไม่พร้อม” ที่จะเป็น “ผู้นำ” และควรจะเร่งปรับตัว ดังนี้

1.รับเครดิตไปคนเดียว

สัญญาณเตือนสำคัญของคนที่ยังไม่พร้อมเป็นผู้นำคือ ผู้นำที่ชอบรับเครดิตผลสำเร็จของงานไปคนเดียว บุคคลที่มีลักษณะแบบนี้มักจะเป็น ‘คอขวด’ ในการสร้างนวัตกรรมสิ่งใหม่ของทีมเสียเอง

2.ลูกน้องเลี่ยงที่จะคุยด้วย

ถ้าเห็นสัญญาณว่าลูกน้องในทีมหลีกเลี่ยงที่จะคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้า สะท้อนได้ว่าหัวหน้าไม่สามารถสร้างบรรยากาศปลอดภัยภายในทีมได้ ตัวอย่างเช่น ลูกน้องไม่อยากเปิดกล้องในการประชุมออนไลน์ ไม่อยากทำกิจกรรมนอกเวลางาน ไม่กล้าถามคำถามมากเมื่อได้รับมอบหมายงาน

3.ไม่เชื่อมั่นในตนเอง

เมื่อคนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเองมาเป็นผู้นำ ความรู้สึกนั้นจะถ่ายทอดต่อมาที่ทีมงานด้วย ซ้ำร้ายหากลูกน้องในทีมทำได้ดี หัวหน้าลักษณะนี้อาจจะหวั่นเกรงว่าลูกน้องกำลังจะมาแทนที่ตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งและไม่เชื่อมั่นกันไปหมด

4.ไม่รับรู้ว่าทีมชอบช่องทางการสื่อสารและทำงานร่วมกันแบบไหน

ยุคนี้เป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและการทำงานทางไกล ทำให้แต่ละคนต่างก็มีวิธีการและช่องทางสื่อสารที่ตนเองชอบ บางคนอาจจะชอบการประชุมตอบโต้กันทันทีมากกว่า บางคนชอบการเขียนไอเดียมาแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องมานั่งอยู่พร้อมกัน การเป็นผู้นำยุคใหม่จึงต้องเข้าใจและจัดสมดุลการสื่อสารในทีมได้ โดยดูจากคนในทีมเป็นหลักมากกว่าความชอบของตัวผู้นำเอง

5.ปฏิเสธการวิจารณ์ผลงาน (feedback)

หากใครสักคนไม่ชอบที่จะถูกวิจารณ์งานที่เป็นประโยชน์ คนคนนั้นก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำ คนเป็นผู้นำจะต้องสร้างวัฒนธรรมของความเชื่อมั่นและการร่วมมือกันทำงาน สร้างทัศนคติแบบ ‘เน้นผลลัพธ์ของงานก่อน’ เพื่อทำให้ทีมงานรู้สึกปลอดภัยที่จะอภิปรายถกเถียงกันโดยไม่ต้องเกรงใจตำแหน่งหรือการเมืองในบริษัท ซึ่งการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ผู้นำจะต้องเอาชนะอีโก้ของตัวเองให้ได้เสียก่อน

6.ไม่รู้จุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเอง

สัญญาณเตือนแรงๆ ว่ายังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำคือการไม่รู้ตนเอง หากใครสักคนไม่รู้ว่าจุดแข็งของตัวเองคืออะไร และจุดที่ควรจะพัฒนาคืออะไร พวกเขาจะมีปัญหาเมื่อถึงเวลาต้องสนับสนุนและแนะนำคนอื่น ต่างกับผู้นำที่สามารถรับคำวิจารณ์ได้ ยอมรับความผิดพลาดของตนเองได้ จะกลายเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอื่นในการพัฒนาตนเอง และปิดจุดอ่อนของตัวเอง

7.รู้ไปหมด

ผู้นำที่เชื่อมั่นตนเองมากเกินไป เชื่อว่าตนเองรู้และเก่งหมดทุกเรื่อง ทั้งที่จริงสิ่งที่ผู้นำประเภทนี้ไม่รู้คือ ไม่รู้ขีดจำกัดของตนเอง ผู้นำแนวนี้จะหยุดการเติบโตและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของทีม

ผู้นำที่ดีควรจะต้องมีความถ่อมตน และเลือกจะพาทีมที่มีความสามารถมาทำงานร่วมกัน สร้างบรรยากาศที่ทำให้ทีมแชร์ความเห็นที่แตกต่างกันได้ เพื่อให้ทุกคนดึงจุดแข็งของตัวเองออกมาสร้างความสำเร็จร่วมกัน

8.ไม่เห็นค่าการมีส่วนร่วมของทีมงาน

ผู้นำที่ยังไม่พร้อมมักจะเป็นคนที่ไม่เห็นค่าการทำงานของทีมงานคนอื่น การทำงานเป็นทีมหมายถึงการหาโซลูชันให้ได้ไปพร้อมๆ กันก็จริง แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้นำก็ต้องให้เครดิตกับบุคคลแต่ละคนในทีมด้วย เพื่อให้ทีมงานรู้สึกว่าทุกคนต่างก็ได้ทำงานที่มีค่ากับทีม

9.ไม่ให้เกียรติคนอื่น

สิ่งที่ผู้นำควรมีมากที่สุดคือ ความฉลาดทางอารมณ์ หากเป็นผู้นำที่ชอบด้อยค่าและหยาบคายกับลูกน้อง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ นั่นหมายความว่าคนคนนั้นไม่มีความอดทนต่อการเรียนรู้และเติบโตของลูกน้อง หากผู้นำไม่สามารถสนับสนุนลูกน้อง ไม่มีมารยาท และไม่ให้เกียรติ ก็จะทำให้องค์กรไม่สามารถดึงคนทำงานไว้ได้นาน

10.ไม่มีทักษะการฟัง

การเป็นผู้นำคือการฟังคนอื่นให้เป็น หากขึ้นเป็นผู้นำเพื่อจะทำตามความคิดของตนเท่านั้น แปลว่าคนคนนั้นยังไม่พร้อมที่จะนำองค์กร คนเป็นผู้นำจะต้องฟังทีมงานอยู่เสมอ ต้องปล่อยให้ทีมงานแสดงความเห็นมากกว่าขัดจังหวะไม่ให้พูด และเป็นคนที่ฟังไอเดียและ feedback จากลูกน้องอย่างจริงจัง เพราะการเป็นผู้นำคือการว่าจ้างคนที่เก่งในงานชนิดนั้นๆ และเชื่อมั่นในตัวพวกเขาที่จะปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่ถนัด

Source

 

อ่านบทความอื่นๆ ต่อ