แพคริม: สองอุปสรรคใหญ่ที่ “องค์กรไทย” ต้องก้าวข้ามเพื่อรับมือ “วิกฤต” ครั้งต่อไป

“ชัยชนะเกิดขึ้นกับคนที่เตรียมพร้อมเท่านั้น” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลย ยิ่งโลกเพิ่งผ่านพ้น “วิกฤต” ครั้งใหญ่อย่าง COVID-19 ยิ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าองค์กรต้องแข็งแกร่งเพื่อที่จะปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง เราจึงไปพูดคุยกับ “พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ “แพคริม กรุ๊ป” บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำ ว่ามีอุปสรรคใหญ่อะไรที่ “องค์กรไทย” ต้องก้าวข้ามให้ได้เพื่อให้พร้อมสำหรับวิกฤตครั้งต่อไป

เบื้องหลังความสำเร็จของหลายบริษัทในไทยมาจากการเตรียมความพร้อมเรื่อง “คน” และหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาที่ช่วยองค์กรขนาดใหญ่มาครบ 3 ทศวรรษคือ “แพคริม กรุ๊ป” บริษัทระดับ Top 10 ของไทยในแวดวงต่างๆ เช่น การเงิน ธนาคาร อาหารและเครื่องดื่ม ต่างเคยใช้หลักสูตรฝึกอบรมและให้แพคริมเป็นพาร์ทเนอร์มาแล้ว โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการองค์กรมาแล้วกว่า 1,000 แห่ง

ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของแพคริม กรุ๊ป และเป็นช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย พรทิพย์ได้แบ่งปันประสบการณ์และชี้ให้เห็นว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นบทพิสูจน์ว่าองค์กรใดแกร่งพอที่จะปรับตัวรับมือได้รวดเร็ว ซึ่งรากฐานสำคัญของความแข็งแกร่งคือการเตรียม “คน” และ “วัฒนธรรมองค์กร” ให้พร้อม

แพคริม องค์กรไทย
“พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ “แพคริม กรุ๊ป”

“ชัยชนะเกิดขึ้นกับคนที่เตรียมพร้อมเท่านั้น วิกฤตที่ผ่านมาคือข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่องค์กรทำไว้ใน 5 ปีก่อน COVID-19 ทำให้เขาได้โอกาสในวิกฤต เพราะคนของเขาสามารถเปลี่ยนตัวเองได้เร็ว รับความเปลี่ยนแปลงได้ก่อนคนอื่น วัฒนธรรมองค์กรที่สร้างไว้จึงเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน” พรทิพย์กล่าว

แล้วอะไรคืออุปสรรคที่ทำให้องค์กรไม่พร้อม? พรทิพย์กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญ 2 ข้อที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายๆ “องค์กรไทย” เจอ ‘กำแพง’ แบบเดียวกันในยุคนี้ คือ

 

1.Successor ขาดแคลน การสร้าง “ผู้นำ” ในองค์กรไม่เกิดความต่อเนื่อง

ถือเป็นปัญหาใหญ่อันดับแรกที่องค์กรไทยส่วนใหญ่จะเผชิญ เกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม และไม่เพียงแต่บริษัทเอกชน ยังเป็นปัญหาในแวดวงราชการไทย และสถาบันการศึกษาด้วย

เมื่อไม่มี Successor หรือผู้นำคนต่อไปขึ้นมากุมบังเหียน ผู้นำคนเดิมก็จะต้องรั้งตำแหน่งต่อไปจนเข้าสู่วัยเกษียณ หรือต้อง ‘ซื้อตัว’ ผู้นำจากองค์กรอื่นเข้ามาบริหาร แต่ก็มีความเสี่ยงที่คนในองค์กรจะไม่ให้การยอมรับ เพราะถือว่าไม่ได้เติบโตมาด้วยกัน และอาจจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้

Photo : Shutterstock

ประเด็นนี้พรทิพย์ระบุว่า เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากหากไม่มีการวางแผนมาแต่เนิ่นๆ เพราะการพัฒนาคนขึ้นมาสู่ระดับ ‘Top Management’ ต้องใช้เวลาและต้องทำต่อเนื่องเหมือนกับการปลูกต้นไม้

“หากวันนี้องค์กรยังคิดว่าองค์กรก็ยังเดินต่อได้ปกติดี อีก 5 ปีจะพบว่าการสร้างผู้นำขึ้นมารับช่วงต่อนั้นไม่ทันแล้ว” พรทิพย์กล่าว “การสร้างผู้นำไม่สามารถปั้นได้ภายใน 6 เดือน ต่อให้ใช้เวลา 6 ปียังไม่แน่เลยว่าจะทันต่อความต้องการ”

การสร้าง Successor จึงเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวอย่างน้อย 10 ปี และต้องเป็นวิสัยทัศน์ร่วมของผู้บริหารระดับสูงทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงโครงการหนึ่งของฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล (HR) องค์กรจะต้องมีการสร้างทีมที่จะมาเป็นผู้นำคนต่อไป และลงทุนกับการสร้างบุคลากรเหล่านี้ พร้อมกับวางโครงสร้างบันไดความก้าวหน้าในอาชีพ (career path) ที่ชัดเจนภายในองค์กร เพื่อเก็บบุคลากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ไว้กับองค์กรให้ได้

 

2.การทรานสฟอร์มองค์กร

โจทย์ที่แพคริมได้รับมามากที่สุดเกี่ยวกับการทรานสฟอร์มองค์กร คือการเปลี่ยน “วัฒนธรรมองค์กร” ให้สามารถทรานสฟอร์มได้

“วัฒนธรรมองค์กรยังไม่มีความรู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วน (sense of urgency) ผู้บริหารตั้งแต่ระดับสูงลงมายังไม่มี mindset เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงคนในองค์กรไม่พร้อมจะเปลี่ยน” พรทิพย์กล่าว

ปัจจุบันหลายๆ องค์กรพูดถึง Digital Transformation แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยน เป็นเครื่องมือปลายทางที่จะตามมา แต่จุดเริ่มต้นคือผู้นำในองค์กรต้องเล็งเห็นร่วมกันก่อนว่า องค์กรต้องการทรานสฟอร์มเพื่อบรรลุผลลัพธ์อะไร และผู้นำทั้งหมดต้องมองเห็นตรงกัน เดินไปพร้อมกัน เพื่อสื่อสารให้ชัดเจนลงไปในทุกระดับ

เมื่อทุกระดับและทุกแผนกมี ‘แพสชัน’ ที่ตรงกันแล้วว่าองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนเพื่ออะไร ต่อไปคือการเติม “ทักษะ” ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นขั้นตอนของการ Reskill/Upskill ที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง

พรทิพย์ยังเน้นย้ำด้วยว่า การทรานสฟอร์มองค์กรต้องพร้อมใจกันทุกส่วน ต้องมีการ collaboration ร่วมมือกันทั้งหมด เพราะหลายองค์กรอาจพบปัญหาการทำงานแบบ ‘ไซโล’ ที่บางส่วนพร้อมแล้วในการเปลี่ยน แต่ภาคส่วนอื่นขยับตามไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การทรานสฟอร์มไม่สำเร็จ

 

มุ่งสู่การเป็น “พาร์ทเนอร์” ระยะยาว

แพคริม กรุ๊ปเองก็ผ่านการปรับตัวมามากตลอดเส้นทาง 30 ปีเช่นกัน โดยพรทิพย์เล่าถึงแรกก่อตั้งว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นในลักษณะ ธุรกิจตัวแทนจัดหางาน (Recruitment Advertising Agency) เมื่อปี 2535 ให้บริการประกาศรับสมัครงานที่ช่วยให้องค์กรได้ ‘ทาเลนต์’ คุณภาพเข้ามาร่วมงาน และช่วยนำเสนอบริษัทลูกค้าว่าเป็นสถานที่ที่น่าร่วมงานด้วยสำหรับกลุ่มคนดีคนเก่งเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้มีแต่บริษัทเลย์ออฟมากกว่ารับสมัครงานใหม่ แพคริมจึงเผชิญการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้แทบปิดบริษัท ต้องมีการปรับธุรกิจตัวเองไปในด้านอื่น โดยในปี 2541 พรทิพย์ได้เรียนรู้หลักสูตรชื่อ ‘7 Habits’ จาก FranklinCovey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก และต้องการจะนำเข้ามาฝึกอบรมในไทย ใช้เวลาจนถึงปี 2543 เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำได้ จนได้เซ็นสัญญาเป็น Exclusive Partner หลักสูตรนี้กับทางบริษัท

ชัยชนะเกิดขึ้นกับคนที่เตรียมพร้อมเท่านั้น วิกฤตที่ผ่านมาคือข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่องค์กรทำไว้ใน 5 ปีก่อน COVID-19 ทำให้เขาได้โอกาสในวิกฤต เพราะคนของเขาสามารถเปลี่ยนตัวเองได้เร็ว รับความเปลี่ยนแปลงได้ก่อนคนอื่น วัฒนธรรมองค์กรที่สร้างไว้จึงเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

นั่นเป็นจุดเปลี่ยนให้บริษัททำธุรกิจด้านฝึกอบรม (Training Company) และพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาคนระยะยาวกับองค์กรต่างๆ โดยการอบรมของแพคริมจะยึดจุดขาย 4 ด้าน คือ การสร้างผู้นำ, สร้างคนที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง, สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไว้วางใจกันและกัน และ การวางกลยุทธ์ที่ใช้ได้จริง

พรทิพย์ยังกล่าวถึงอนาคตแพคริม กรุ๊ปว่า สิ่งที่บริษัทจะสร้างความชัดเจนยิ่งขึ้น คือ การเป็นพาร์ทเนอร์ระยะยาวกับองค์กร เพื่อช่วยสร้างผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ ช่วยออกแบบการพัฒนาบุคลากรที่คุ้มค่าทางงบประมาณ และวัดผลความสำเร็จได้ รวมถึงเน้นกลยุทธ์การสร้าง “เทรนเนอร์” in-house ในองค์กรลูกค้าเอง เพื่อให้ผู้บริหารระดับกลางได้โอกาสฝึกอบรมด้วย

โอกาสครบรอบ 30 ปี แพคริม กรุ๊ปยังจัดทำโครงการคืนกำไรให้สังคมด้วย ด้วยการจัดทำ e-Book และวิดีโอสัมภาษณ์แนวคิดจากผู้นำองค์กร 30 ท่าน แจกให้กับประชาชนทั่วไป โดยจะเปิดตัวในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ พร้อมกับงานสัมมนา PacRim’s Leadership Forum ‘Decoding the Great and Enduring: Wisdom from 30 Leaders’ ที่จะมีวิทยากรภายในงานหลากหลาย รวมถึง “พอล วอล์คเกอร์” ซีอีโอจาก FranklinCovey ให้สัมภาษณ์สดจากเมืองซอลท์เลค ซิตี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์นี้สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://www.30years.pacrimgroup.com/  (ไม่มีค่าใช้จ่าย, รับจำนวนจำกัด)