นิยาม “ผู้นำ” ยุคใหม่ ไม่ใช่คนสั่ง-กำกับควบคุม แต่เป็นคนดึงศักยภาพพนักงาน

“แพคริม” ชี้ทิศการเป็น “ผู้นำ” องค์กรยุคใหม่ที่ต้องก้าวให้ทันความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ มองคำตอบต้องปรับองค์กรให้มีวัฒนธรรมแบบ “Agile” ทำงานแบบคล่องตัว ลดโครงสร้างตำแหน่ง และผู้นำในวัฒนธรรมนี้ไม่ใช่คนสั่งการผ่านวิสัยทัศน์-ความสามารถของตนเองคนเดียว แต่เป็นผู้ดึงศักยภาพพนักงานทุกคนออกมา

“พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ กลุ่มบริษัทแพคริม ที่ปรึกษาและฝึกอบรมด้านการพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 28 ปี เปิดบรรยายในหัวข้อ “Reimagine Leadership Development for the New Normal”

โดยพรทิพย์กล่าวว่า ความท้าทายสำคัญของโลกธุรกิจยุคนี้คือ “ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว” กว่าเดิมมาก พฤติกรรมผู้บริโภคมีความซับซ้อนและต้องการความเข้าใจมากกว่าเดิม ไปจนถึงเรื่องการปฏิรูปทางดิจิทัลที่มีผลกระทบ ทำให้ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของกลุ่ม “ผู้นำ” องค์กร เพื่อจะนำพาองค์กรให้ก้าวทันความเร็วเหล่านี้

 

“Agile” คือคำตอบในการติดสปีด

ก่อนจะไปถึงเรื่องการปรับทักษะผู้นำ พรทิพย์กล่าวถึง “รูปแบบองค์กร” ที่จะทำให้ปรับตัวได้เร็ว คำตอบคือโครงสร้างแบบ Agile การบริหารองค์กรแบบนี้จะมีความคล่องตัวมากกว่าเดิม เพราะลดลำดับตำแหน่งในองค์กรลง ทำให้โครงสร้างการบริหารราบลงมามากขึ้น แต่ละคนไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะของตนเองเท่านั้น แต่สามารถช่วยเหลือกันเป็นทีม ทำงานหลายอย่าง (multitask) พร้อมๆ กันได้

เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารองค์กรเป็นแบบ Agile รับโลกธุรกิจยุคใหม่

เธอเปรียบเทียบการทำงานแบบ Agile ว่าเหมือนกับเรือยางล่องแก่ง คนบนเรือทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหา และเป็นทีมที่เหมาะกับความเชี่ยวกรากของสายน้ำ เหมือนกับความเร็วของธุรกิจยุคนี้ จะต่างจากลักษณะองค์กรใหญ่สมัยก่อน (หรือกระทั่งสมัยนี้) ที่เหมือนกับเรือสำราญลำยักษ์ คนบนเรือมีหน้าที่เฉพาะของตนเองและทำเฉพาะหน้าที่เท่านั้น

 

ผู้นำไม่ใช่อัจฉริยะแต่เป็นผู้สร้างอัจฉริยะ

พรทิพย์กล่าวต่อว่า เมื่อองค์กรบริหารแบบ Agile ความเป็นผู้นำแบบเดิมๆ ก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะคนที่สำคัญที่สุดคือพนักงานระดับ frontline หัวหน้าหรือผู้นำไม่ใช่คนที่ใช้ความสามารถของตัวเองและสั่งการลงมา แต่เป็นคนที่ทำให้พนักงาน frontline ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ให้มากที่สุด โดยแจกแจงความต่างของผู้นำยุคเก่าสู่ยุคใหม่ 5 ข้อ ดังนี้

1.ความเป็นผู้นำมิได้วัดกันที่ “ชื่อตำแหน่ง” แต่เป็น “ผลลัพธ์และงานที่ทำให้องค์กร”
2.ไม่ดูความเป็นผู้นำจาก “งานที่ได้รับมอบหมาย” แต่เป็น “ตัวตน คุณลักษณะ”
3.ผู้นำไม่ใช่ “ช่างเครื่อง” ที่รวบรวมสิ่งที่มีอยู่แล้วมาสร้างเครื่องยนต์ แต่เป็น “คนทำสวน” ที่ปลูกสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาให้เติบโต
4.ผู้นำไม่ใช่ “ผู้ควบคุมสั่งการ” แต่เป็น “ผู้ปลดปล่อยความสามารถ” ให้กับพนักงาน
5.ผู้นำไม่ได้ทำหน้าที่ “ปิดจุดอ่อน” แต่ทำหน้าที่ “สร้างศักยภาพใหม่ๆ” ให้กับองค์กร

เธออ้างอิงคำพูดจาก “ลิซ ไวส์แมน” นักวิจัยและนักเขียนเกี่ยวกับภาวะความเป็นผู้นำ มาให้ทุกคนลองถามตนเองดู โดยเป็นประโยคท้าทายความคิดของคนเป็นหัวหน้าว่า “คุณเป็นอัจฉริยะ หรือเป็นผู้สร้างอัจฉริยะ?”

 

ฝึกรู้เท่าทันตนเอง ไม่เป็นผู้นำแบบเดิมๆ

ไวส์แมน ยังให้คำแนะนำด้วยว่า การเปลี่ยนองค์กรและเปลี่ยนทักษะความเป็นผู้นำสู่ยุคใหม่ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อาจจะเริ่มต้นด้วยการรู้เท่าทันตนเอง “ไม่” เป็นผู้นำ 9 แบบ ต่อไปนี้ เพื่อไม่ติดกับดักเป็นผู้นำแบบเก่าที่จะทำให้พนักงานไม่พัฒนา และเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความสามารถ

1.ผู้นำไอเดียพรั่งพรู – มีสิ่งที่คิดฝันมากเสียจนพนักงานไม่ได้คิดเลย
2.ทำงานตลอดเวลา – สร้างความรู้สึกเหนื่อยล้าให้กับพนักงาน
3.ช่วยตลอด – เพราะกลัวพนักงานทำไม่ถูก จึงลงมือทำเองหรือเข้าช่วยตลอด ทำให้พนักงานไม่พัฒนา
4.ทำงานเร็วเกินไป – บางครั้งความเร็วก็อาจจะส่งผลร้ายได้ หากคนในองค์กรเดินตามไม่ทัน
5.ทำแทนพนักงาน – คล้ายกับข้อ 3 แต่ทำแทนพนักงานเพราะพนักงานทำไม่ทันใจ
6.มองโลกแง่ดีเกินไป – เช่น คิดว่านโยบายนั้นๆ สามารถทำได้จริง แต่พนักงาน frontline ทำไม่ได้
7.เจ้านายสาย ‘โอ๋’ – มีความรักและปกป้องพนักงานเกินไป จนพนักงานไม่ได้เจอปัญหา
8.นักวางกลยุทธ์มือทอง – แต่วางละเอียดเกินไปจนไม่เหลือให้พนักงานช่วยเติมเต็ม
9.นิยมความสมบูรณ์แบบ – บีบคั้นพนักงานจนเกินไปเพราะอยากให้งานสมบูรณ์แบบ 100% จนพนักงานรู้สึกว่า “ทำเท่าไหร่ก็ดีไม่พอ”

โดยสรุปแล้ว พรทิพย์กล่าวว่าผู้นำยุคใหม่ควรฝึกทักษะ “การส่งเสริมศักยภาพ” คนในองค์กรให้ทำผลงานด้วยตนเอง เพราะความรู้สึกเชื่อใจในทีม รู้สึกได้เป็นเจ้าของทั้งงานและองค์กรที่ทำนั้น คือสิ่งที่สำคัญยิ่งในปัจจุบัน

ผู้นำที่ดีไม่ใช่ผู้ให้คำตอบแต่เป็นผู้ถามคำถามที่ดี เป็นคนที่หยุดหาว่าพนักงานคนไหนเก่งกว่า แต่หาว่าแต่ละคนเก่งอย่างไร เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความสามารถ และเพิ่มความท้าทายมากขึ้นๆ เพื่อให้พนักงานพัฒนาตนเอง