Microsoft เป็นบริษัทล่าสุดที่ปรับนโยบายให้พนักงาน “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” หลังจากหลายบริษัทใหญ่ของสหรัฐฯ วางนโยบายนี้ไปแล้ว เช่น Adobe, Netflix, Salesforce ฯลฯ ไปดูกันว่าทำไมบริษัทถึงยอมสร้างนโยบายเช่นนี้ ข้อดี-ข้อเสีย คืออะไรบ้าง?
วันนี้ (16 มกราคม 2023) เป็นวันแรกที่ Microsoft เฉพาะในสหรัฐฯ เริ่มใช้นโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” โดยเป็นวันลาที่จ่ายเงินเดือนให้ด้วย (PTO: Paid Time-Off) จากปกติพนักงานประจำของบริษัทจะได้โควตาวันลาพักร้อนต่างกัน พนักงานที่เพิ่งเข้าใหม่ ถ้าอยากลายาวๆ ก็มักจะต้องสะสมวันลา แต่นโยบายนี้อนุญาตให้พนักงานใหม่ใช้ได้ทันทีด้วย เรียกว่าเข้ามาปีแรกก็ลายาวได้เลยถ้าอยากทำ
ทั้งนี้ วันหยุดและวันลาด้วยเหตุอื่นๆ ก็ยังมีโควตาให้ตามปกติ เช่น วันหยุดตามเทศกาล, ลากิจ, ลาป่วย, ลาเพื่อทำหน้าที่คณะลูกขุน ฯลฯ การลาหยุดของพนักงานจึงยืดหยุ่นมากนับแต่นี้ไป
Microsoft ไม่ใช่บริษัทแรกที่ใช้นโยบายนี้ ก่อนหน้านี้มีสารพัดบริษัทใหญ่ที่เริ่มใช้ไปก่อนแล้ว เช่น Adobe, LinkedIn, Netflix, Oracle, Salesforce เป็นต้น
ข้อดี-ข้อเสียของนโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด”
ทำไมนโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” จึงถูกนำมาใช้ในกลุ่มบริษัทใหญ่เหล่านี้ ทั้งที่ฟังดูน่าจะเป็นผลเสียกับบริษัทมากกว่าผลดี
เหตุผลนั้นมาจากความต้องการดึงดูด “ทาเลนต์” ให้มาทำงานกับบริษัท และอินไซต์ของทาเลนต์หรือพนักงานยุคนี้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อ “Work-Life Balance” (สมดุลชีวิตกับการทำงาน) ในสหรัฐฯ มีการศึกษาของ BrightPlan พบว่า 78% ของพนักงานต้องการมี Work-Life Balance
- แรงงานไทย Gen Y-Gen Z เกินครึ่ง ‘ใช้ชีวิตเดือนชนเดือน’ อยากสลับทำงานจากบ้านเพื่อประหยัด
- เตรียมใจ! เทรนด์ใหม่ปี 2023 ‘Quiet Hiring’ ย้ายตำแหน่งเพื่อทำงานที่ ‘สำคัญกว่า’ ให้องค์กร
ดังนั้น การมีนโยบายลาพักร้อนได้ไม่จำกัด จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความยืดหยุ่นในการจัดการตนเองได้ว่า เมื่อไหร่ที่อยากทำงาน และเมื่อไหร่ที่อยากลาหยุดไปพักสมองบ้าง
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่เป็นความเสี่ยง จากการรวบรวมโดย LinkedIn แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมในแวดวงทำงาน ข้อดีข้อเสียของนโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” ได้แก่
ข้อดี
1.สร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน
การออกนโยบายนี้ทำให้พนักงานรู้สึกว่า บริษัท “ไว้ใจ” ในการตัดสินใจของพนักงานเอง และยังให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานทั้งกายและใจ พนักงานสามารถลาหยุดเพื่อพักใจหรือจัดการธุระฉุกเฉินในครอบครัวได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้โควตาวันลาพักร้อน ความไว้ใจ ยืดหยุ่น เคารพต่อความเป็นอยู่พนักงานของบริษัท จะทำให้บรรยากาศในการทำงานอบอุ่นกว่า
2.ใช้เป็นสวัสดิการที่ ‘ดีกว่า’ เพื่อดึงดูดทาเลนต์
ปัจจุบันพนักงานไม่ได้มองแค่ฐานเงินเดือนในการสมัครงานหรือตัดสินใจที่จะอยู่ต่อกับบริษัท สวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทให้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ดังที่กล่าวไปว่า 78% ของพนักงานอเมริกันต้องการความยืดหยุ่นในชีวิต ดังนั้น บริษัทที่มีสิทธิลาพักร้อนได้ไม่จำกัดก็จะกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของพนักงานที่มีความสามารถ
3.ช่วยสร้างประสิทธิภาพการทำงาน
เนื่องจากการพักผ่อนเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวพนักงาน เมื่อใดก็ตามที่พนักงานไม่ได้ลาพักร้อน การทำงานหนักติดต่อกันไม่ได้หยุดจะส่งผลต่อวงจรอื่นในชีวิต เช่น ชีวิตครอบครัว สุขภาพจิต และวนกลับมาเป็นชีวิตการงานที่เหนื่อยล้า ขาดแรงบันดาลใจ แถมยังส่งต่อความรู้สึกทดท้อแบบนี้ไปให้คนอื่นในทีมอีก แต่เมื่อมีวันลาพักร้อนได้ไม่จำกัด ทำให้พนักงานได้พักและกลับมาทำงานอย่างมีพลัง สร้างประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น
ข้อเสีย
1.พนักงานอาจหาประโยชน์จากนโยบายนี้จนเกินควร
พนักงานส่วนใหญ่มักจะมีความเกรงใจและลาพักร้อนแต่พอดี แต่ทุกที่อาจได้เจอพนักงานที่จ้องหาผลประโยชน์โดยการลาไม่จำกัดจริงๆ ซึ่งทำให้การทำงานในทีมติดขัด ลดประสิทธิภาพงาน และทำให้กำลังใจของทีมทั้งหมดลดลง หากบริษัทใดที่พบว่ามีพนักงานลามากเกินสมควร อาจจะต้องพิจารณาเปลี่ยนนโยบายเพราะนโยบายนี้อาจไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรของคุณ
2.พนักงานอาจเลือกลาในช่วงที่บริษัทต้องการตัวมากที่สุด
คล้ายกับข้อแรกคือ พนักงานบางรายอาจไม่เกรงใจทีมโดยการลาพักร้อนในช่วงที่รู้ว่าบริษัทจะยุ่งมากที่สุด หรือเลือกลาในช่วงเดดไลน์ของโปรเจ็กต์ที่กำลังทำกันอยู่ หากบริษัทพบปัญหาแบบนี้ อาจจะต้องมีกฎเพิ่มเติมในการลาว่าบริษัทสามารถขอให้เลื่อนการลาพักร้อนออกไปหลังจากช่วงที่สำคัญของบริษัท
3.การให้วันลาพักร้อนเพิ่มเป็นรางวัล…จะทำไม่ได้อีกแล้ว
ก่อนนี้หลายบริษัทอาจจะใช้จำนวนวันลาพักร้อนต่อปีเป็นสวัสดิการสำคัญ ใช้ต่อรองแพ็กเกจเพื่อดึงคนเข้าทำงาน ใช้เป็นรางวัลสำหรับการทำงานที่ดีหรือการเลื่อนตำแหน่ง แต่เมื่อทุกคนจะลาเท่าไหร่ก็ได้ทั้งบริษัท สิ่งนี้ก็จะไม่ใช่รางวัลอีกแล้ว บริษัทจะต้องหาสิ่งจูงใจอื่นๆ แทน
โดยสรุปแล้ว นโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” มีทั้งข้อดีข้อเสียซึ่งบริษัทต้องบริหารจัดการ แต่ดูจากจำนวนบริษัทใหญ่ที่หันมาใช้นโยบายนี้มากขึ้นเรื่อยๆ การวางสวัสดิการข้อนี้น่าจะได้ผลจริงในการดึงทาเลนต์ไว้กับตัว