เตรียมใจ! เทรนด์ใหม่ปี 2023 ‘Quiet Hiring’ ย้ายตำแหน่งเพื่อทำงานที่ ‘สำคัญกว่า’ ให้องค์กร

Quiet Hiring
(Photo: Shutterstock)
รู้จัก ‘Quiet Hiring’ กระแสการบริหารบุคลากรที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ (และอาจมาถึงไทยในไม่ช้า) เพราะเศรษฐกิจฝืดบีบให้องค์กรต้องรัดเข็มขัด แต่ความท้าทายทางธุรกิจเร่งให้บริษัทต้องเปลี่ยนแปลง คำตอบขององค์กรจึงเป็นการเจรจาโยกย้ายบุคลากรไปทำงานตำแหน่งอื่นที่สำคัญกว่า

Emily Rose McRae หัวหน้าทีมวิจัยด้านอนาคตของการทำงาน จากบริษัทวิจัย Gartner กล่าวถึงเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 ว่าจะเป็นเทรนด์ ‘Quiet Hiring’ ตอบโจทย์การหาทักษะใหม่ทำงานให้องค์กรโดยไม่ต้องจ้างพนักงานใหม่แบบเต็มเวลา

บางครั้งกระแสนี้หมายถึงการเปิดรับลูกจ้างแบบสัญญาจ้าง บางครั้งหมายถึงการผลักดันให้พนักงานปัจจุบันย้ายตำแหน่งไปทำหน้าที่อื่นในองค์กร

“ความจริงที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือ ไม่ว่าเราจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ทุกคนก็ล้วนรู้สึกหวั่นเกรงนิดๆ ทั้งนั้น” McRae กล่าว “ในหลายๆ กรณี องค์กรไม่ได้หยุดการจ้างงานหรือฟรีซคน และไม่มีการเลย์ออฟ แต่อาจจะจ้างเพิ่มในจำนวนน้อยลง”

อย่างไรก็ตาม ทุกองค์กรก็ยังคงมีเป้าหมายด้านรายได้ที่ต้องไปให้ถึง และส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานแม้เศรษฐกิจจะไม่ดีก็ตาม

“ปัญหาขาดแคลน ‘ทาเลนต์’ จากปี 2022 ก็ยังไม่ไปไหนด้วยเช่นกัน” McRae กล่าว “ดังนั้น คุณจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่เพิ่มจำนวนคนไม่ได้ แต่ก็ต้องการทาเลนต์มาทำงานอย่างมาก”

คำตอบของโจทย์นี้จึงเป็นการ Quiet Hiring ซึ่งไม่ใช่การจ้างงานคนใหม่แต่เป็นการจัดลำดับตำแหน่งที่สำคัญกับบริษัทมากที่สุดก่อนในห้วงเวลาหนึ่งๆ จากนั้นก็โยกย้ายพนักงานไปทำตำแหน่งที่สำคัญกว่าก่อน ซึ่งอาจจะไม่ใช่การย้ายถาวรก็ได้ แต่เป็นการผสมผสานบทบาทหน้าที่ สวมหมวกหลายใบชั่วคราว

McRae อ้างถึงตัวอย่างการ Quiet Hiring ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เช่น เมื่อปีที่แล้วสายการบิน Qantas ในออสเตรเลีย มีการร้องขอให้พนักงานระดับผู้บริหารมาช่วยทำงานเป็นพนักงานยกกระเป๋าชั่วคราวไปก่อน เพราะเกิดเหตุแรงงานขาดแคลนสวนทางกับดีมานด์การบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ผู้บริหารก็ยอมทำเพราะว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะทำให้บริษัทไปต่อได้ เป็นการโยกย้ายตำแหน่งชั่วคราวที่ทุกคนเข้าใจตรรกะเหตุผล” McRae กล่าว

นอกจากการย้ายตำแหน่งชั่วคราว บริษัทยังอาจจะมีการจ้างงานชั่วคราวจากคนภายนอกเพื่อช่วยให้บริษัทอยู่รอดปีนี้ไปได้ก่อน และตอบโจทย์ตำแหน่งที่จำเป็นมากที่สุดก่อน

 

นายจ้าง-ลูกจ้างจะปรับตัวกันอย่างไร

การถูกย้ายตำแหน่งงานอาจจะเป็นสิ่งที่น่าหวั่นกลัว น่าหนักใจสำหรับลูกจ้าง ประเด็นนี้ McRae ให้คำแนะนำทั้งกับนายจ้าง/หัวหน้างาน และพนักงานว่าจะเปลี่ยนผ่านตำแหน่งงานอย่างไรให้สบายใจที่สุด

สำหรับหัวหน้างานนั้น การเข้าเสนอลูกน้องให้ย้ายตำแหน่งงานควรจะอธิบายให้ชัดเจนว่าตำแหน่งงานใหม่หรือโปรเจ็กต์ใหม่ที่จะให้ทำนั้นสำคัญกับความสำเร็จของบริษัทอย่างไร เพื่อทำให้พนักงานที่ถูกย้ายงานรู้สึกว่าตนมีคุณค่า และไม่มองว่าการถูกย้ายตำแหน่งงานคือสัญญาณว่าตำแหน่งในบริษัทของตนไม่มั่นคง ซึ่งจะนำไปสู่การหางานใหม่ได้

หัวหน้างานอาจจะฉายภาพให้ชัดไปเลยว่า การยอมย้ายตำแหน่งงานในครั้งนี้จะเป็นบันไดสู่การเติบโตในหน้าที่การงานที่นี่ได้อย่างไร หรืออาจจะบอกข้อดีอื่นๆ ของตำแหน่งงานใหม่ เช่น ตำแหน่งใหม่จะให้สมดุลชีวิตและการงาน (work-life balance) ที่ดีกว่า

โดยสรุปก็คือ แค่เหตุผลของบริษัทว่าเพราะบริษัทต้องการคนในส่วนนี้ขององค์กร ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่จะจูงใจคนได้ ต้องมีแรงจูงใจอื่นให้พนักงานด้วย

ในทางกลับกัน สำหรับพนักงานที่สนใจจะย้ายตำแหน่งงานอยู่แล้ว นี่จะเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าไปต่อรองกับหัวหน้างานถึงการเติบโตของตนเองในบริษัทนี้

Source

 

ไม่ใช่แค่บริษัทต่างชาติที่มีการ Quiet Hiring องค์กรไทยบางแห่งก็เริ่มแล้ว เช่น ไปรษณีย์ไทย ซึ่งมีแผนจะขยับโครงสร้างองค์กร เปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์สาขาไปทำหน้าที่อื่นที่สำคัญกับบริษัทมากขึ้น อย่างการรับพัสดุถึงบ้าน (pick-up service) หรือบริการหลังการขาย (อ่านเพิ่มเติมที่: ถาม-ตอบ “ดร.ดนันท์” แม่ทัพ “ไปรษณีย์ไทย” กับน่านน้ำใหม่ที่จะใช้เครือข่าย “พี่ไปรฯ” ทำธุรกิจ)