แรงงานไทย Gen Y-Gen Z เกินครึ่ง ‘ใช้ชีวิตเดือนชนเดือน’ อยากสลับทำงานจากบ้านเพื่อประหยัด

แรงงานไทย เดือนชนเดือน
ปัญหา ‘ค่าครองชีพ’ คือเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในใจ Gen Y และ Gen Z จากการศึกษาของ ‘ดีลอยท์ ประเทศไทย’ พบว่า เกือบครึ่งของคนรุ่นใหม่สองเจนเนอเรชันนี้ ‘ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน’ ทำให้มากกว่าครึ่งมีการทำอาชีพเสริม และสนใจทำงานแบบที่มีวันทำงานจากบ้านบ้างเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อให้นายจ้างดูแลบุคลากรได้ถูกจุด

จากรายงาน The Deloitte Global 2022 Gen Z and Millennial Survey: Striving of Balance, Advocating for Change ซึ่งได้ทำการสำรวจบุคลากรใน Generation Y (Millennials) จำนวน 8,412 คน และ Generation Z อีก 14,808 คน ในจำนวนนี้รวมคนไทยรุ่นใหม่ 300 คน

(*Gen Y ที่สอบถามเกิดระหว่างเดือนมกราคม 1983 – ธันวาคม 1994 และ Gen Z ที่สอบถามเกิดระหว่าง มกราคม 1995 – ธันวาคม 2003)

การสำรวจนี้มีการวัดมุมมองเกี่ยวกับการทำงานและมุมมองต่อโลกในมิติต่างๆ โดยได้ข้อค้นพบ 4 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

 

ประเด็นแรก คนรุ่นใหม่ต้องดิ้นรนกับค่าครองชีพและวิตกกังวลเรื่องการเงิน

เมื่อถามถึงความกังวลของคนรุ่นใหม่ต่อชีวิต พบว่าคนไทยมีความเป็นห่วงดังนี้

  • คนไทย Gen Y ร้อยละ 36 เห็นว่าประเด็น ค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าที่อยู่ ค่าเดินทาง ฯลฯ คือสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุด
  • คนไทย Gen Z ร้อยละ 33 ห่วงว่าตนเองจะไม่มีงานทำ
  • 3 ใน 4 ของกลุ่ม Gen Y (ร้อยละ 77) และ กลุ่ม Gen Z (ร้อยละ 72) เห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้นเรื่อยๆ
  • เกินครึ่งของคนไทยในกลุ่ม Gen Y (ร้อยละ 67) และ Gen Z (ร้อยละ 68) มีการ ‘ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน’ กังวลว่าจะไม่มีเงินไปจ่ายบิลต่างๆ
  • ใน Gen Y ร้อยละ 43 และ Gen Z ร้อยละ 51 ไม่มั่นใจว่าจะเกษียณอายุได้อย่างสะดวกสบาย
  • ร้อยละ 63 ของคนไทย Gen Y และ ร้อยละ 67 ของกลุ่ม Gen Z มีรายได้มากกว่าช่องทางเดียว โดย 3 อันดับของงานเสริมที่นิยมมากที่สุดของคนไทย ได้แก่ การขายของออนไลน์ การเป็นศิลปิน และ การทำงานองค์กรไม่แสวงหากำไร
ภาพจาก Shutterstock

เทียบกับค่าเฉลี่ยโลก: ความกังวลด้านค่าครองชีพของคนรุ่นใหม่ไทยนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับโลก แต่คนที่มีการใช้ชีวิตเดือนชนเดือนนั้นมีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกในสถานการณ์เดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการหาอาชีพเสริมทำด้วย ส่วนมุมมองการเกษียณนั้นคนไทยจะมองบวกมากกว่าทั่วโลก

 

ประเด็นที่สอง The Great Resignation และโอกาสวิธีการทำงานใหม่ ๆ

แม้ว่าความภักดีต่องานเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในปีก่อนเล็กน้อย แต่ผลจาก The Great Resignation ยังคงคุกรุ่นโดยเฉพาะกับกลุ่ม Gen Z

  • คนไทย Gen Y ร้อยละ 13 วางแผนจะลาออกภายใน 2 ปี ขณะที่ Gen Z มีถึงร้อยละ 39 ที่จะลาออก
  • โดยรวมแล้วทั้งสองเจนมีถึง 2 ใน 3 ที่อาจจะลาออกจากงานโดยไม่มีงานอื่นรองรับ สะท้อนถึงความไม่พอใจต่องาน
คนรุ่นใหม่อยากสลับมีวันทำงานจากบ้านด้วย เพื่อประหยัดเงินและเวลา

ภาคธุรกิจจะทำอย่างไรเพื่อดึงคนรุ่นใหม่ให้อยู่ต่อ ลดอัตราการาออก ต้องทำความเข้าใจวิธีคิดและการให้ความสำคัญของคนรุ่นใหม่ ดังนี้

  • 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ดึงคนรุ่นใหม่ไว้กับองค์กรมากที่สุดก็คือ ค่าตอบแทน แต่ยังมีเหตุผลอื่นด้วยที่สำคัญ คือ ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตที่ดี และ โอกาสการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง
  • ร้อยละ 64 ของคนไทยในกลุ่ม Gen Y และ ร้อยละ 71 ของ Gen Z อยากทำงานแบบแบบที่จะได้มาเจอหน้าเพื่อนร่วมงานบ้าง แต่ให้มีวันที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ประหยัดเงิน และ มีเวลาเหลือ

 

ประเด็นที่สาม ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม

แนวคิดของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ร้อยละ 75 ใส่ใจกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 88 เชื่อว่าโลกอยู่ในจุดเปราะบางที่อาจไม่คืนสู่สภาพเดิมหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

ด้วยแนวคิดนี้ทำให้คนรุ่นใหม่พยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร้อยละ 94 คนไทยทั้ง Gen Y และ Gen Z จะยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

Photo : Shutterstock

ในแง่ของการทำงาน มีเพียงร้อยละ 16 ของ Gen Y และร้อยละ 18 ของ Gen Z ที่เชื่อว่านายจ้างของตนมีความมุ่งมั่นในการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่นายจ้างควรให้ความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการทำงานกับบริษัทที่ให้คุณค่าในแบบเดียวกับตน

 

ประเด็นสุดท้าย สุขภาพจิตในที่ทำงานจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ

เรื่องสุขภาพจิตและความเครียดเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นกับการทำงาน เพราะทำให้เกิดภาวะ “หมดไฟ” ขึ้นในหมู่พนักงาน โดยสองเจนคนรุ่นใหม่มีความเครียดสูง

  • คนไทย Gen Y ร้อยละ 42 และคนไทย Gen Z ร้อยละ 60 ระบุว่าตนเองเครียดและวิตกกังวลมากขึ้น (เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกแล้ว คนไทยเครียดมากกว่า)
  • ปัจจัยหลักที่ทำให้เครียดคือด้าน “การเงิน” โดยร้อยละ 67 ของคนไทยตอบเหตุผลของความเครียดว่าเป็นเรื่องนี้
  • ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด “หมดไฟ” ในที่ทำงาน มากกว่าครึ่งระบุว่ามาจาก “การทำงานหนัก” และสภาพแวดล้อมกดดันในที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่ลาออก
  • อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่งของคนรุ่นใหม่มองว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 นายจ้างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมากขึ้นแล้ว

ข้อสรุปจาก “ดีลอยท์” มองว่าการเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ไทย จะทำให้นายจ้างสามารถปรับกลยุทธ์การบริหารบุคลากรได้ดีขึ้น และทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืนในอนาคต

ข้อมูลโดย