สรุปพื้นฐานคุณสมบัติ “ผู้นำ” 3 ด้าน จากนักบริหารแถวหน้าของเมืองไทย

คุณสมบัติ ผู้นำ
(Photo: Freepik)
การเป็น “ผู้นำ” ที่ประสบความสำเร็จได้ในยุคนี้มีจุดร่วมที่เหมือนกันบางอย่าง เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ช่วยนำองค์กรฝ่าฟันวิกฤตมาได้ โดย “แพคริม กรุ๊ป” เก็บรวมรวมองค์ความรู้ของผู้บริหารแถวหน้าเมืองไทย 30 ท่าน สรุปเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน 3 ด้าน

โอกาสครบรอบ 30 ปี ของบริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กร “แพคริม กรุ๊ป” มีการสัมภาษณ์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านการบริหารองค์กรจากผู้บริหารแถวหน้าเมืองไทย 30 ท่าน ในหนังสือ “Decoding the Great and Enduring Wisdom from 30 Leaders”

โดยมีแนวคิดจากผู้นำจากทั้งภาคเอกชนทุกขนาด ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา เช่น ขัตติยา อินทรวิชัย ซีอีโอ ธนาคารกสิกรไทย, ชาตยา สุพรรณพงศ์ Chief Engagement Officer บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด, ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ Founder & CEO Ookbee, ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ

30 ผู้นำที่ได้รับการสัมภาษณ์

“พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์” ซีอีโอ แพคริม กรุ๊ป ได้สรุปความรู้จากการพูดคุยกับผู้นำทั้ง 30 ท่าน และพบว่าคุณสมบัติสำคัญที่ทุกคนต่างมีร่วมกัน และทำให้ประสบความสำเร็จในการนำพาองค์กรยืนหยัดฝ่าวิกฤตได้ แบ่งเป็นพื้นฐาน 3 ด้าน ดังนี้

(Photo: Freepik)
Who they are

1.มีเข็มทิศของตนเอง ยิ่งข้างนอกมีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ ความมั่นคงจากภายในยิ่งต้องมีเท่านั้น ผู้นำจะต้องนิ่งพอที่จะรู้ได้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร ทำเพื่อใคร จุดประสงค์ของชีวิตที่เป็น ‘Ultimate Goal’ คืออะไร เปรียบเสมือนการมี “ดาวเหนือ” ของชีวิต

ทั้งนี้ การหาดาวเหนือของชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ต้องใช้หัวใจและจิตวิญญาณ และอาจจะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าที่จะค้นพบคำตอบ

2.พลัง ผู้นำต้องมีพลังให้กับคนรอบข้างให้มากที่สุด ส่งพลังให้คนอื่นได้ท่ามกลางความผันผวนและเปลี่ยนแปลง

3.ความถ่อมตัว ผู้นำต้องรู้ว่าตัวเอง “ไม่เก่ง” ในจุดไหน และยอมรับที่จะฟังคนอื่นที่เก่งกว่าในจุดนั้น ยอมที่จะทำตามวิธีการของผู้อื่น

(Photo: Freepik)
How they see

1.มองเห็นภาพใหญ่ ผู้นำจะต้องมองเห็นระบบนิเวศที่มากกว่าตัวเองหรือองค์กรของตน มองเห็นภาพใหญ่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบ้าง มองถึงสังคม มองโลกใบนี้

2.มองเห็นโอกาส มาจากการคิดบวกของผู้นำ ปัญหามีทุกที่แต่ปัญหามีไว้ให้แก้ ทุกวิกฤตมีโอกาสอยู่ในนั้น

3.มองเห็นศักยภาพ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ โดยมี ‘Gardener’s mindset’ ไม่มองคนเป็นเครื่องจักรแต่บุคลากรเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตได้ สามารถบ่มเพาะได้

(Photo: Freepik)
What they do

1.สร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเอง และต้องสร้างมาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน ไม่ได้เริ่มเมื่อขึ้นสู่ตำแหน่ง ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สั่งสมมาตลอดชีวิต

2.สร้างทีมที่ยอดเยี่ยม ให้ความไว้ใจคน รู้จักการรวมคนดี คนเก่ง คนที่เหมาะกับองค์กรเข้ามาเป็นทีมเดียวกัน

3.สร้างวัฒนธรรมองค์กร บทพิสูจน์ช่วงวิกฤตคือวัฒนธรรมองค์กรใดที่แข็งแรง เพราะองค์กรที่สร้างความแข็งแรงมาแต่แรกจะอยู่รอดได้มากกว่า

Satya Nadella ซีอีโอ Microsoft (Photo by Christophe Morin/IP3/Getty Images)

ทั้งหมดคือรายละเอียดจากการสรุปของแพคริม กรุ๊ป นอกจากนี้ ยังมีข้อสรุปเรื่องคุณสมบัติผู้นำที่สำคัญจาก “พอล วอล์กเกอร์” ซีอีโอ FranklinCovey บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรระดับโลก โดยยกตัวอย่างความสำเร็จจาก Microsoft ภายใต้การนำของซีอีโอคนปัจจุบันคือ “สัตยา นาเดลลา” เขาเป็นผู้นำที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2014 และสามารถทรานสฟอร์มองค์กรได้สำเร็จ

วอล์กเกอร์สรุปสไตล์การเป็นผู้นำของนาเดลลาว่า เป็นผู้นำที่ “มีความเข้าอกเข้าใจ” ใช้วิธีการสร้างแรงบันดาลใจและไว้วางใจพนักงาน กระตุ้นศักยภาพในตัวของพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่ม ‘ทาเลนต์’ ที่ซ่อนอยู่ในทุกระดับขององค์กร ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้เต็มศักยภาพ มากกว่าการเป็นผู้นำสไตล์เดิมคือการใช้คำสั่งแบบ Top-down management ซึ่งไม่เหมาะกับโลกยุคปัจจุบันที่พนักงานทุกระดับสามารถเข้าถึงข้อมูลได้และพัฒนาตนได้สูง

ยุคนี้จึงเป็นยุคที่องค์กรแบบ ‘Flat Company’ มีลำดับชั้นการตัดสินใจน้อยลง ให้โอกาสพนักงานระดับ Front Line ได้เสนอแนะการพัฒนา จะเป็นองค์กรที่สำเร็จได้มากกว่า เพราะอย่างไรเสีย พนักงานที่หน้างานจริงก็คือคนที่ได้สัมผัสลูกค้ามากที่สุดเสมอ