“สยามพิวรรธน์” ปรับรับอีเวนต์หด เปิดพื้นที่ให้ขายของฟรี กระตุ้นใช้จ่ายเเบบไทยช่วยไทย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง พร้อมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

“สยามพิวรรธน์” เผยทราฟฟิกกลับมา 50% กลุ่มนักท่องเที่ยวยังต้องรออีกเป็นปี ด้าน “พารากอน ฮอลล์” เจอหนัก อีเวนต์หด รายได้หาย ปรับกลยุทธ์โฟกัสงานในประเทศ ประเดิมเปิดพื้นที่ให้ “ขายของฟรี” กระตุ้นลูกค้าใช้จ่ายเเบบ “ไทยช่วยไทย”

พฤติกรรม “คนเดินห้าง” ไม่เหมือนเดิม

“หลังจากกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งช่วง 2 สัปดาห์เเรก พบว่าลูกค้ามาเดินห้าง เฉลี่ยไม่เกินคนละ 2 ชั่วโมง เเละมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปคือ มาเเเบบมีจุดประสงค์เเน่ชัดหรือมาเพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการจริงๆ เเล้วรีบกลับบ้าน ต่างจากเดิมที่มาเดินห้างเพื่อพักผ่อนหรือมาเดินเที่ยวเพื่อใช้ชีวิตทั้งวัน”

ชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวอีกว่า หลังจากปลดล็อกดาวน์เฟส 2 ให้ธุรกิจค้าปลีกกลับมาเปิดบริการได้แล้วตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ในส่วนของสยามพิวรรธน์ ที่บริหารสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และไอคอนสยาม ผู้คนเริ่มกลับมาบ้างเเล้ว เเต่ทราฟฟิกยังไม่กลับมาเท่าเดิม “หายไปเกินครึ่ง” เนื่องจากมาตรการต่างๆ ของรัฐยังเข้มงวดอยู่ โดยลูกค้าตอนนี้จะกลับมาอยู่ที่ราว 50% จากปกติที่กลุ่มวันสยามเคยมีลูกค้าประมาณ 2.5 เเสนคนต่อวัน ที่ไอคอนสยามประมาณ 8 หมื่นคนต่อวัน

“ลูกค้านักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่สามารถกลับมาได้ มีเพียงชาวต่างชาติที่ทำงานในไทยเท่านั้นที่ออกมาเดินห้าง คงต้องรอถึงช่วงปลายปีอาจจะกลับมาได้ 20-30% จากปกติ เเละต้องรอลุ้นกันยาวถึงปีหน้า ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถกลับมาได้ถึงระดับปกติ ตอนนี้เราจึงต้องส่งเสริมกิจกรรมภายในประเทศมากขึ้น”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวถือเป็นลูกค้าหลักของเครือสยามพิวรรธน์เพราะคิดเป็น 30-40% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ขายดีช่วงนี้จะเป็นกลุ่มของ เครื่องใช้ไฟฟ้า ความงาม สุขภาพ และเครื่องใช้ในบ้าน สำหรับธุรกิจร้านอาหารนั้นกลับมาเปิดบางส่วน แต่คาดว่าหลังจากที่ปลดล็อกเฟส 3 ทุกอย่างจะกลับมาเปิดบริการได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้

“ตอนนี้ร้านค้าต่างๆ ในห้างฯ ของเครือสยามพิวรรธน์ ได้เปิดให้บริการเเล้วราว 90% มีบางส่วนที่เหลือยังติดปัญหาเรื่องพนักงานซึ่งต้องกักตัวหลังกลับมาจากต่างจังหวัด คาดว่าในเดือน มิ.ย.จะสามารถเปิดได้เต็ม 100% เเละยังไม่มีร้านใดปิดตัวไป”

ช่วงก่อนหน้าที่จะกลับมาเปิดห้างฯ “ชฎาทิพ จูตระกูล” ซีอีโอแห่งกลุ่มสยามพิวรรธน์ ให้สัมภาษณ์ถึงการรับมือวิกฤต โดยมองว่าช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค.หากรัฐเริ่มคลายล็อกดาวน์ ทั้งทราฟฟิกลูกค้าและรายได้ศูนย์การค้าจะยังไม่สูง คาดว่าจะอยู่ที่ 30-40% ของปกติ และจะทยอยดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2563 รวมผลกระทบที่ต้องปิดห้างฯ เกือบ 2 เดือน และระยะฟื้นตัว มองว่าธุรกิจศูนย์การค้ารวมร้านค้าภายในทั้งประเทศจะสูญเสียรายได้ 50% จากทั้งธุรกิจที่เคยทำรายได้ให้ประเทศ 1.75 แสนล้านบาทต่อปี

อ่านต่อ : “ชฎาทิพ” แห่ง “สยามพิวรรธน์” ตอบชัด 4 ประเด็น พร้อมเปิดประตูห้างฯ ในยุค New Normal

ชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ (ซ้าย) กฤษณา จรรยาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มบริหารงานขายเเละการตลาด บริษัทสยามอัลไลเเอนซ์ เเมเนจเม้นท์ (ขวา)

พารากอน ฮอลล์ : คอนเสิร์ต-อีเวนต์หาย มุ่งรับงานคนไทย 

ด้านธุรกิจอีเวนต์ นับว่าต้องเจอผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เเบบ “หนักหนาสาหัส” ทีเดียว เนื่องจากต้องงดจัดงานที่เป็นการชุมนุมของคนหมู่มากเเละยังไม่มีทางออกของสถานการณ์เเน่ชัด ทำได้เเค่ “ยกเลิกหรือเลื่อน”

กฤษณา จรรยาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มบริหารงานขายเเละการตลาด บริษัทสยามอัลไลเเอนซ์ เเมเนจเม้นท์ เปิดเผยว่า “รอยัล พารากอน ฮอลล์” ได้รับผลกระทบโดยตรง ถือว่าหนักที่สุดตั้งเเต่เปิดมา เพราะไม่มีรายได้เลยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่ขอเลื่อนไปจัดช่วงปลายปี คือไตรมาส 3-4 เเละช่วงต้นปีหน้า

“ส่วนใหญ่ขอเลื่อนมากกว่ายกเลิก ซึ่งบอกจำนวนเเน่ชัดไม่ได้ เพราะยังไม่มีความเเน่นอนโดยเฉพาะลูกค้าต่างประเทศที่ต้องคอยดูสถานการณ์ มาตรการภาครัฐเเละการเปิดประเทศที่ยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญว่าจะเลือกจัดหรือไม่จัดอีเวนต์”

สำหรับ “รอยัล พารากอน ฮอลล์” เปิดพื้นที่ให้จัดงานประชุม คอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ ราว 80-90 งานต่อปี โดยงานยอดนิยมที่สุดจะเป็นงานคอนเสิร์ตเเละการจัดนิทรรศการ (Exhibition) อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เพราะคอนเสิร์ตจะจัดวันสุดสัปดาห์ ส่วนนิทรรศการจะจัดช่วงวันธรรมดา

ในระหว่างที่ยังไม่เปิดให้มีการจัดงานอีเวนต์ ทีมงานมีการปรับตัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายเเละเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ดูเเลเเละปรับปรุงพื้นที่ให้เข้ากับมาตรการควบคุมโรค คิดหาเเนวทางเพื่อให้ผู้ใช้บริการอุ่นใจเพื่อรองรับการกลับมาอีกครั้ง

มาตรการรักษาความสะอาดปลอดภัยในสยามพารากอน

“เเผนของเราคือในช่วง 6 เดือนนี้จะโฟกัสกับงานในประเทศ กระตุ้นให้คนไทยช่วยคนไทย ประเดิมด้วยการจัดงานฟรี เปิดให้ SMEs มาขายของโดยไม่คิดค่าพื้นที่ มุ่งจัดอีเวนต์ให้ลูกค้าคนไทยก่อน จากนั้นช่วงต้นปี 2564 หากมีการเปิดบินระหว่างประเทศ ก็จะขยายไปหาลูกค้าในเอเชีย เเละถัดไปอีกปีจะขยายฐานลูกค้าไปทั่วโลก ตามที่เคยวางเป้าหมายไว้ก่อนเกิดวิกฤต”

ด้านสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เผยผลสำรวจทางธุรกิจพบว่า หากรัฐบาลปลดล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการจะสามารถจัดงานได้ไม่ต่ำกว่า 900 งาน ทั้งในส่วนของงานประชุมสัมมนา (Meeting & Incentive) การประชุมอบรม (Convention) งานแสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibition) การจัดงานอีเวนต์ส่งเสริมธุรกิจ และสร้างงานให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศราว 7 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าในการผลักดันเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศไทยเป็นกว่า 35,000 ล้านบาท ระหว่างเดือน มิ.ย. 2563 ถึง เดือน มี.ค. 2564

กระตุ้นใช้จ่าย “ไทยช่วยไทย” เปิดพื้นที่ให้ขายของฟรี 

จากเเผนที่จะฟื้นเศรษฐกิจในประเทศเเบบ “ไทยช่วยไทย” นำมาสู่โครงการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยจะมีการนำพื้นที่จัดงานอีเวนต์ของพารากอน ฮอลล์ (ที่ว่างอยู่) เเละภายให้ห้างฯ ของเครือสยามพิวรรธน์ มาจัดแคมเปญ “I Love Siam-Smile Together” เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและผู้ประกอบกการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของที่คนไทยผลิต เป็นการนำโมเดลธุรกิจรีเทลใหม่ที่เรียกว่า “ระบบนิเวศค้าปลีก” มาสร้างการค้าเชื่อมโยงระหว่างผู้ขายเเละผู้ซื้อ ซึ่งจะมีการนำร่องใน 4 โครงการหลัก ได้เเก่

1.ตลาดนัดยิ้มสยาม : เปิดพื้นที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ และทรูไอคอน ฮอลล์ รวม 10,000 ตารางเมตร จัดกิจกรรม ‘ตลาดนัดยิ้มสยาม’ ร่วมกับพันธมิตร ให้พนักงานและผู้ประกอบการจากทั่วประเทศที่รับกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตครั้งนี้ มาจำหน่ายสินค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ วันที่ 24 – 28 มิ.ย. ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ และวันที่ 1 – 5 ก.ค. 2563 ณ ทรูไอคอน ฮอลล์ อย่างไรก็ตาม วันและเวลาอาจมีเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล

“ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การจัดบูธก็ต้องมีการเว้นพื้นที่จากเดิมพารากอนฮอลล์ รองรับผู้ประกอบการได้ 400 ร้านก็จะเหลือ 120 ร้าน ส่วนทรูไอคอนก็จะเหลือประมาณ 90 ร้าน ขณะที่จำนวนผู้บริโภคที่จะเข้ามาร่วมงาน ตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยรวมทราฟฟิกของห้างลดลง 50% สัดส่วนร่วมงานก็น่าจะลดลงกว่านี้มาก เพราะต้องมีมาตรการการคัดกรองต่างๆ ด้วย”

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาร้านที่จะเข้ามาเปิดขายครั้งนี้ จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ที่ตกงานจาก COVID-19 ไม่จำกัดหมวดสินค้า เเต่ต้องเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line @RoyalParagonHall เเละ @TrueconHall

2. Siam Smile Space : เปิดพื้นที่ทำงานให้ทุกคนมาทำงานแบบ co-working space ในศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ อย่างสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และไอคอนสยาม ได้ฟรี มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย Wifi และอุปกรณ์ไฟฟ้า พร้อมมาตรการดูแลสุขอนามัยขั้นสูงสุด เริ่มเปิดให้ใช้พื้นที่ได้ในเดือน มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป

3.โครงการฟื้นใจไทย : เปิดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เปิดเมืองสุขสยาม ถึงวันที่ 15 มิ.ย. 2563 รองรับ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มบุคคลทั่วไปหรือนักธุรกิจ กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน อัตลักษณ์ไทยจาก 77 จังหวัด และกลุ่มเกษตรกรผลไม้คุณภาพจากสวนดัง และเกษตรกรไทยดีเด่น แบ่งจำหน่ายรอบละ 7-10 วัน หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันใน 3 พื้นที่ คือ บริเวณธนบุรีดีไลท์, ลานเมือง 1 และ ลานเมือง 2 จัดตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. ถึง 30 มิ.ย. 2563 เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ชั้น G

4. ไทยช่วยไทย ยิ้มไปด้วยกัน : เป็นความร่วมมือของสยามพิวรรธน์ร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดมหกรรมผลไม้ 5 ภาค และของใช้อุปโภคบริโภคซึ่งเป็นของดีประจำจังหวัด ส่งตรงจากชาวสวน และผู้ผลิตจากทั่วประเทศไทย มาจำหน่ายบนพื้นที่ของศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จัดขึ้นในเดือน ก.ค. 2563 ณ ลานพาร์คพารากอน สยามพารากอน

“เราต้องช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ก่อน เพราะถ้าพวกเขารอด เราก็รอด เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้อีกครั้ง คนไทยต้องช่วยกันให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้” ผู้บริหารกลุ่มสยามพิวรรธน์กล่าว