สัญญาเข้าซื้อกิจการระหว่างสองบริษัทเคยบรรลุข้อตกลงไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 โดยทาง LVMH จะเข้าซื้อ Tiffany & Co. ในราคา 135 เหรียญต่อหุ้น รวมเป็นมูลค่าสัญญา 16,200 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งฝรั่งเศสจึงขอกลับลำเจรจาต่อรองราคาใหม่อีกครั้ง
แหล่งข่าวใกล้ชิดการเจรจาต่อรองเปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่า เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ซีอีโอเครือ LVMH กำลังต่อรองกับบริษัท Tiffany & Co. ให้ยอมลดราคาต่อหุ้นลงมาจากเดิม
สาเหตุมาจากบอร์ดบริหารประเมินความเสี่ยงการเทกโอเวอร์ครั้งนี้จะเพิ่มขึ้นหลังเกิดวิกฤตโรคระบาด COVID-19 และการชุมนุมประท้วงในสหรัฐฯ น่าจะทำให้สภาพเศรษฐกิจยิ่งย่ำแย่และส่งผลต่อดีมานด์กลุ่มสินค้าลักชัวรี โดยที่ Tiffany ยังมีหนี้สินที่ต้องชำระ ปัจจัยเหล่านี้จึงอาจมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้
สำหรับแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากซีอีโออาร์โนลต์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2020 ว่า “สืบเนื่องจากข่าวลือในตลาดเมื่อเร็วๆ นี้ LVMH ยืนยันว่าบริษัทไม่มีการพิจารณาซื้อหุ้นของ Tiffany ณ ขณะนี้”
ก่อนหน้านี้ข่าวลือเกี่ยวกับดีลระหว่างสองบริษัทเกิดขึ้นตั้งแต่หลังประกาศซื้อหุ้นราคา 135 เหรียญสหรัฐ เมื่อปลายปีก่อน โดยมีการรายงานว่าทาง LVMH ใช้เวลาหลายสัปดาห์พยายามต่อรองราคาใหม่เป็น 120 เหรียญสหรัฐฯ จนกระทั่ง WWD รายงานว่า LVMH จะ กลับลำไม่เข้าเทกโอเวอร์กิจการในวันที่ 2 มิ.ย. 2020 และทำให้ราคาหุ้นของ Tiffany ร่วงลง 9% ในวันดังกล่าว
เดิมที ความต้องการซื้อ Tiffany & Co. เกิดจากวิสัยทัศน์การขยายกิจการของ LVMH ที่ต้องการบุกตลาดสหรัฐฯ อย่างเต็มที่และเพิ่มแบรนด์เครื่องประดับเข้าพอร์ต มีการคาดการณ์ว่าจะปิดดีลได้เรียบร้อยภายในกลางปี 2020 แต่กลับมาเกิดวิกฤต COVID-19 เสียก่อน ทำให้บริษัทต้องหันมาบริหารความเสี่ยงและทำให้บริษัทอยู่รอดให้ได้
สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับดีลของ LVMH-Tiffany แต่ดีลซื้อกิจการอีกหลายบริษัทต่างชะลอตัวหรือม้วนเสื่อไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Xerox ที่กำลังพยายามเข้าซื้อ HP ด้วยวิธีครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตร ก็เป็นอันต้องล้มเลิก ทั้งนี้ เฉพาะไตรมาสแรกของปีนี้ Dealogic วิเคราะห์ว่ามีดีลที่สำเร็จลุล่วงลดลง 35% ทั่วโลกเทียบกับปีก่อน