ในปัจจุบัน การบริโภค ‘กาแฟ’ ดูเหมือนจะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโดยเฉลี่ยทั่วโลกมีการบริโภคกาแฟถึง 2 พันล้านถ้วยต่อวัน ขณะที่มีการผลิตกาแฟเฉลี่ยปีละประมาณ 6 ล้านตัน และในแต่ละปีก็จะมีขยะกากเมล็ดกาแฟหลังจากชงกาแฟเกิดขึ้นถึงปีละ 200,000 ตัน ขณะที่ขยะเหล่านั้น เมื่อสลายตัวก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ดังนั้น จะเห็นว่าบริษัทกาแฟหลายรายพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อาทิ Starbucks (SBUX) ได้เริ่มทดลองที่จะนำถ้วยกาแฟที่ใช้แล้วทิ้งมารีไซเคิลใหม่ หรืออย่างกาแฟ ‘Amazon’ ของไทยเอง ก็มี การใช้แก้วไบโอ คัพ (Bio Cup) ซึ่งเป็นแก้วกระดาษรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม ‘กากกาแฟ’ มักจะถูกมองข้าม แต่สตาร์ทอัพสัญชาติอังกฤษนาม Bio-bean เริ่มคิดว่าได้พบวิธีที่จะเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรที่มีค่า
ที่ผ่านมา Bio-bean ระดมทุนได้มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 โดยทำหน้าที่รีไซเคิลขยะจากบริษัทต่าง ๆ อาทิ Costa Coffee, สนามบิน London Stansted และเครือข่าย Rail Rail ของสหราชอาณาจักร พร้อมได้รับการสนับสนุนจาก Shell ส่งผลให้ Bio-bean สามารถเปลี่ยนขยะกากเมล็ดกาแฟหลังจากชงกาแฟกว่า 7,000 ตัน/ปี เป็น ‘น้ำมันไบโอดีเซล B20’ นำกลับมาเติมให้รถเมล์ในลอนดอน แต่ก็ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์
ดังนั้น บริษัทจึงเปลี่ยนโฟกัสไปที่ ‘เชื้อเพลิงแข็ง’ สำหรับใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม อาทิ ฟืน, ถ่านหิน เนื่องจากเชื้อเพลิงเหล่านี้จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อถูกเผา แต่ถ้าใช้กากกาแฟมาแทนที่เชื้อเพลิงที่ใช้คาร์บอนอื่น ๆ ก็จะช่วยลดการปล่อยมลพิษลง 80% เมื่อเทียบกับการส่งพื้นที่ไปฝังกลบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤต Covid-19 นี้ Bio-bean ได้รับผลกระทบ เพราะร้านกาแฟในอังกฤษต้องปิดทำการชั่วคราว แต่การดำเนินงานยังดำเนินต่อไป แม้ว่าจะมีปริมาณน้อยกว่าปกติ
“เราพยายามที่จะประสบความสำเร็จกับนวัตกรรมของเรา เพราะเราสามารถขยายขนาดได้ คนอื่นอาจรีไซเคิลกาแฟหนึ่งหรือ 10 ตันเรารีไซเคิลได้มากกว่า 20,000 ตัน ตั้งเเต่เริ่มก่อตั้ง” George May ผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Bio-bean กล่าว
ล่าสุด Bio-bean ก็สามารถแปรรูปกากกาแฟเป็นเชื้อเพลิงแข็งได้สำเร็จ ผ่านเครื่องอบแห้งและกระบวนการกลั่นกรองเพิ่มเติมจนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตเม็ดพลาสติกชีวมวล และ ฟืนที่ใช้ในเตาผิง นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตสารสกัดรสธรรมชาติจากกากกาแฟผ่านกระบวนการแยกต่างหาก เพื่อให้สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานในหม้อไอน้ำของอุตสาหกรรมโรงเรือนในเชิงพาณิชย์ หรือสำหรับปลูกธัญพืช
“กาแฟมีความร้อนสูงและใช้ตัวเองเป็นเชื้อเพลิงที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ โดยมันให้ความร้อนสูงกว่าฟืนทั่วไป 20% และมีระยะเวลามอดที่นานกว่า 20% เช่นกัน”
Jenny Jones อาจารย์ด้านพลังงานยั่งยืนที่ University of Leeds กล่าวว่า กากกาแฟรีไซเคิลมีศักยภาพเป็นเชื้อเพลิง แต่การประเมินการประหยัดคาร์บอนโดยรวมจะต้องได้รับการประเมินและเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นในการจัดการกับกากกาแฟ เช่น การเผาหรือเปลี่ยนเป็นวัสดุคลุมดินสำหรับพืช เพราะกากกาแฟส่วนใหญ่นั้นมีกำมะถันและไนโตรเจนสูงกว่าไม้ป่า ซึ่งปล่อยก๊าซอันตราย เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์เมื่อถูกเผา
อย่างไรก็ตาม Bio-bean กล่าวว่า เม็ดพลาสติกชีวมวลเชิงพาณิชย์ได้รับการรับรองจากสำนักงานทะเบียนเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนของอังกฤษ โดยระบุว่า กาแฟมี “การปล่อยอนุภาคที่ต่ำกว่าไม้ส่วนใหญ่”
แม้จะถูกเลื่อนออกไปจากการระบาดของ Covid-19 แต่ Bio-bean กล่าวว่า บริษัท วางแผนที่จะขยายการดำเนินงานไปยังยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือในอีกห้าปีข้างหน้า