กระทรวงสาธาณสุขเผย 2 ผลสำรวจ คนแห่ออกนอกบ้านมากขึ้น ส่วนใหญ่ไปทำงาน ตลาด ซูเปอร์มาร์เกต ร้านอาหาร มาตรการป้องกันแต่ละสถานที่ยังหลวม “ขนส่งสาธารณะ” มาตรการยังไม่เข้มพอ เห็นด้วยงดบินข้ามประเทศยาวถึง ก.ย. แต่ครึ่งหนึ่งขอให้เปิดช่วง ต.ค.นี้ เกือบทั้งหมดเห็นด้วยกักตัว 14 วันคนเข้าประเทศ
กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวผลสำรวจพฤติกรรมประชาชนในช่วงโรค COVID-19 จำนวน 2 ผลการสำรวจ แบ่งเป็น
1. การสำรวจเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน สำรวจระหว่างวันที่ 8 พ.ค. – 4 มิ.ย. โดย สธ.ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ
2. ผลการสำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชน โดยดีดีซีโพล กรมควบคุมโรค
ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สธ. กล่าวว่า
การสำรวจการป้องกันโรค COVID-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามใน Google Form โดยให้ อสม.จังหวัดต่างๆ เคาะประตูบ้านให้ช่วยตอบแบบสอบถาม ตั้งเป้าหมาย 550 รายต่อจังหวัดต่อสัปดาห์ ได้ผู้ตอบแบบสอบถาม 143,827 ราย สำรวจออนไลน์ 69,489 ราย และนักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี โทรศัพท์สัมภาษณ์ 1,882 ราย พบว่า
- พฤติกรรมป้องกันตนเองอยู่ในระดับที่ดี ประกอบด้วย การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ไม่จับหน้าตาตัวเอง
- แต่เมื่อรัฐบาลผ่อนปรน พฤติกรรมที่ดีก็ตกลงมา เมื่อผ่อนปรนระยะที่ 2 ก็ได้กระตุ้นเตือน ทำให้พฤติกรรมดีขึ้น โดยพฤติกรรมใส่หน้ากากดีที่สุด ราว 90%
- ส่วนการเดินทางออกนอกจังหวัด พบว่า 20% เดินทางออกนอกจังหวัด และมีแนวโน้มสูงขึ้น สาเหตุคือไปทำงานหรือมีธุระจำเป็น
- ส่วนรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานที่ที่ออกไป คือ ออกไปทำงาน ตลาดสด ซูเปอร์มาร์เกต ร้านอาหาร และศาสนสถาน
- แต่ละสถานที่มีการจัดมาตรการป้องกันแต่ทำได้ไม่เต็มที่ เช่น เรื่องการสวมหน้ากากของพนักงาน-ผู้ไปรับบริการ การจัดเจลล้างมือยังไม่เต็มที่ 100% การจัดระยะห่างยังทำได้น้อย
- ส่วนการเดินทางไปด้วยขนส่งสาธารณะไม่มาก มาตรการป้องกันของขนส่งสาธารณะ ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าไม่มากเท่าไหร่ ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
อยากให้ปิดการเดินทางข้ามประเทศยาวถึงก.ย.
เมื่อถามว่าต้องการให้เปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศหรือไม่ พบว่า ในเดือน มิ.ย.-ก.ย.ยังไม่ให้เปิด แต่ช่วง ต.ค.มีครึ่งหนึ่งเห็นด้วยให้เปิดเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนการเข้าประเทศทั้งด่านบก น้ำ อากาศ พบว่า น้อยกว่า 1% ที่คิดว่าควรให้คนไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องคัดกรองกักตัว 14 วัน หมายความว่า คนไทยยังคิดว่าใครเข้ามาควรคัดกรองเข้มข้นและกักตัว 14 วัน และมากกว่า 60% เห็นว่าไม่ควรอนุญาตต่างชาติเข้าประเทศใน พ.ค.-มิ.ย.
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เราทำการสำรวจในพื้นที่ 25 จังหวัด 4 ครั้ง ครั้งละ 3,500 คน ช่วง 7 ก.พ. – 19 เม.ย. และปรับมาเป็นสำรวจทางออนไลน์ 8 ครั้ง ตั้งแต่ 12 เม.ย. – 6 มิ.ย. ซึ่งครอบคลุมในช่วงที่มีการผ่อนปรนระยะที่ 1, 2 และ 3 โดยพบว่าเมื่อถามถึงการสวมหน้ากากเวลามีไข้ ไอ เจ็บคอหรือไม่ พบว่า สวมหน้ากากอยู่ที่ 90% ขึ้นไป
แต่มีช่วงหนึ่งคือ การสำรวจออนไลน์ครั้งที่ 2-4 ตกลง เหลือ 82.9% 76.1% 74.6% ซึ่งเป็นช่วงผ่อนคลายครั้งที่ 1 แต่กลับมามากกว่า 90% ในช่วงผ่อนคลายระยะที่ 2 และ 3 ส่วนเวลาไม่มีไข้ ไอ เจ็บคอ สวมหน้ากากหรือไม่ พบว่า สัดส่วนร้อยละน้อยกว่าการสวมเมื่อมีอาการ ส่วนการจะเลิกสวมหน้ากากเมื่อไร พบว่า ประชาชนจะสวมหน้ากากต่อเนื่อง 53.5% หมายความว่าแม้โรคน้อยลงก็จะสวมหน้ากากต่อไป รองลงมาคือ เมื่อไม่มีรายงานผู้ป่วยโควิดในประเทศ 44.4% ขณะที่การล้างมือด้วยสบู่และน้ำเวลาใด พบว่าให้ความร่วมมือล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหารมากที่สุด ระดับ 80-90%
นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า หากพิจารณาเฉพาะการสำรวจออนไลน์ครั้งที่ 8 วันที่ 1-6 มิ.ย.ซึ่งเป็นช่วงการผ่อนปรนระยะที่ 3 จำนวน 1,287 ตัวอย่าง พบว่าการสวมหน้ากากอนามัย สวมเกิน 90% ในทุกกลุ่มอายุ ยกเว้นช่วงอายุ 15-24 ปี ที่สวมเพียง 79% ทั้งนี้ ต้องคงมาตรการรณรงค์สวมหน้ากาก 100% แม้ไม่เจ็บป่วย ซึ่งการสวมหน้ากากเมื่อไม่ป่วยยังน้อยกว่าการสวมเมื่อป่วยอยู่