ภาคต่อของเทียนจิ๊มิ Gwyneth Paltrow ไม่สนเสียงด่า ออกขาย “เทียนหอมกลิ่นจุดสุดยอด”

เมื่อเดือนมกราคม Gwyneth Paltrow เพิ่งออกขายเทียนหอมกลิ่น “อวัยวะเพศหญิง” ลอตแรกขายหมดอย่างรวดเร็ว พร้อมเรียกทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิจารณ์จนเป็นกระแส แต่ดูเหมือนว่าดาราหญิงคนดังจะไม่สนเสียงตำหนิเท่าใดนัก เพราะแบรนด์ Goop ของเธอเพิ่งเปิดพรีออเดอร์ “เทียนหอมกลิ่นจุดสุดยอด” เป็นภาคต่อของสินค้าที่เล่นกับความทะลึ่งและวิถีเฟมินิสต์ไปพร้อมๆ กัน

แบรนด์ Goop ภายใต้การนำของ Gwyneth Paltrow ดาราหญิงคนดัง เปิดตัวสินค้าใหม่เป็นเทียนหอมที่ใช้ชื่อกลิ่นว่า “This Smells Like My Orgasm” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า กลิ่นเหมือนกับจุดสุดยอดของฉัน

ไม่แน่ใจว่าเป็นกลิ่นจุดสุดยอดของใคร แต่แบรนด์อธิบายไว้ว่าเทียนกลิ่นจุดสุดยอดนี้คือสินค้าต่อเนื่องของ “‘เทียนนั่น’- คุณก็รู้ว่าอันนั้นแหละ” โดยกลิ่นจะมีส่วนผสมของเกรปฟรุต น้ำมันดอกเนโรลี เบอร์รี่ ชาเขียวกันพาวเดอร์ และดอกกุหลาบตุรกี รวมกันแล้วจะได้กลิ่นที่เซ็กซี่ น่าประหลาดใจ และติดจมูกอย่างแรง สนนราคากลิ่นจุดสุดยอดที่ 75 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,430 บาท) สำหรับเทียนหอมขนาด 10.5 ออนซ์

เทียนหอม That Smells Like My Orgasm จาก Goop

 

ยืนหยัดท้าเสียงวิจารณ์

เทียนหอมกลิ่นจุดสุดยอดเป็นสินค้าภาคต่อจาก “เทียนหอมกลิ่นน้องสาวของฉัน” หรือ This Smells Like My Vagina ที่เธอเคยเปิดขายเมื่อเดือนมกราคม และลอตแรกขายหมดอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหินพุ่งเข้าใส่เธอกับแบรนด์ Goop ที่เธอก่อตั้ง

ในมุมของ Paltrow เธออธิบายว่าเทียนกลิ่นจิ๊มิคือ “การแสดงจุดยืนของเฟมินิสต์” เพราะถ้าเทียนที่ติดป้ายชื่อกลิ่นนี้ตั้งอยู่บนโต๊ะอาหาร แขกไปใครมาที่บ้านคงเข้าใจชัดเจนถึงทัศนคติของเจ้าของบ้าน “ฉันคิดว่า ‘มันไม่เจ๋งหรอกเหรอ ถ้าใครสักคนกล้าที่จะทำแบบนั้น?'” Paltrow ให้สัมภาษณ์ในรายการ Jimmy Kimmel

Gwyneth Paltrow ดาราดังเจ้าของแบรนด์ Goop

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึก “เจ๋ง” หรือตลกขบขันไปกับสินค้าของเธอ ยกตัวอย่างเช่น Martha Stewart เซเลบด้านการทำอาหารของสหรัฐฯ วัย 78 ปี โจมตีเทียนกลิ่นจิ๊มิของ Paltrow กลางรายการ Watch What Happens Live ว่าการออกสินค้าแบบนี้มัน “น่าหงุดหงิดมาก”

เธอมองว่า Paltrow แค่ต้องการเรียกกระแสเท่านั้น “ให้เธอทำสิ่งที่อยากจะทำเถอะ แต่ฉันจะไม่ซื้อ ‘เทียนนั่น’ แน่ถ้าไม่จำเป็น” Stewart พร้อมวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่าคนที่ซื้อน่าจะเป็นผู้ชายหื่นๆ เท่านั้น ไม่ใช่คนอเมริกันทั่วๆ ไป

นอกจาก Stewart แล้ว เสียงวิจารณ์ในอินเทอร์เน็ตก็ไปในทางเดียวกัน คือมองว่าเธอแค่อยากเรียกกระแสเท่านั้น แต่ดูเหมือน Paltrow จะไม่สนใจ แถมยังนำคำว่า ‘that candle – เทียนนั่น’ มาใส่ในคำอธิบายสินค้าใหม่เทียนกลิ่นจุดสุดยอด เป็นการท้าทายแบบแสบๆ คันๆ ด้วย

 

ไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่ยิ่งด่าก็ยิ่งดัง

ย้อนดูที่มาที่ไปของแบรนด์ Goop สักเล็กน้อย เพราะการออกสินค้าที่ท้าทายสังคมและเสียงวิจารณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ Goop เคยออกสินค้าที่คนทั่วไปจะมองว่า “เพี้ยน” มาแล้วหลายครั้ง และบางอย่างก็ล้ำเส้นจนถูกฟ้องนั่นคือ Vaginal Egg หรือไข่หินหยกที่อ้างว่าเมื่อใส่เข้าไปในช่องคลอดจะช่วยปรับฮอร์โมนและทำให้ประจำเดือนมาปกติ สินค้านี้ถูกหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคสหรัฐฯ สั่งปรับเป็นเงิน 145,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2018 โดยระบุว่า Goop โฆษณาเกินจริง

สินค้าที่ถูกฟ้องและปรับอย่าง Vaginal Egg ยังจำหน่ายอยู่ แต่ตัดคำโฆษณาที่เป็นปัญหาออกไป

สินค้าที่ออกจะเพี้ยนอย่างอื่นของ Goop เช่น สเปรย์น้ำหอมช่วยไล่แวมไพร์ – สิ่งที่แบรนด์จะสื่อคือกลิ่นหอมๆ นี้จะช่วยไล่สิ่งที่เป็นผลเสียทางอารมณ์ออกไปได้ หรือ ขวดน้ำอินฟิวส์แร่อะเมธิสต์ – แบรนด์อ้างว่าจะช่วยสร้างพลังบวกและเสริม ‘พลังจิต’ ให้ผู้ดื่ม

แบรนด์ Goop นั้นจริงๆ ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี 2008 เริ่มต้นจากการที่ Paltrow ต้องการออก newsletter หรือจดหมายข่าวทางอีเมลเพื่อ “แนะนำสิ่งดีๆ” ให้เพื่อน เช่น สูตรทำอาหาร เสื้อผ้า เครื่องสำอาง บริการความงาม ทำให้ Paltrow เริ่มกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์การใช้ชีวิต โดยมีคนสมัครสมาชิกรับอีเมลจดหมายข่าว 10,377 คนภายในปีแรก โดยเธอให้ความสนใจด้านเวลเนส สุขภาพ และวิถีแพทย์ทางเลือก นอกจากอาหารสุขภาพ เธอยังแนะนำการทำสมาธิไปจนถึงนักจิตบำบัด

จดหมายข่าวยุคแรกของ Goop

พอถึงปี 2011 มีคนสมัครรับข่าวสารจากเธอถึง 400,000 คน เข้าสู่ปี 2012 เธอเริ่มนำ Goop มาสร้างเป็นสินค้าที่มากกว่าหนังสือทำอาหาร เช่น เสื้อผ้า สกินแคร์ น้ำหอม เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึง…ดิลโด้ 

ส่วนที่เรียกเสียงวิจารณ์มากที่สุดของ Goop คือสินค้าที่เกี่ยวกับเวลเนสและเรื่องเพศนี่เอง โดยตัวอย่างสินค้าที่กล่าวไปข้างต้นและสินค้าใดๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศจะก่อกระแสสังคมขึ้นมาเสมอ จนแบรนด์ Goop กลายเป็นสิ่งที่คนจะ “รัก” หรือ “เกลียด” ไปเลย

Goop นั้นเป็นการเลือกเส้นทางแบบทุ่มเสี่ยงสุดตัวก็ว่าได้ เพราะทั้งสินค้าและการตลาดคือการเดินไปบนเส้นด้าย อาศัยความศรัทธาใน “ผู้นำทางความคิด” มาใช้ดึงลูกค้าแบบแฟนพันธุ์แท้ และผลักคนที่ไม่เชื่อออกไปจากแบรนด์

แต่ในอีกมุมหนึ่ง เสียงด่าของคนที่ไม่ชอบแบรนด์ก็มีส่วนส่งให้แบรนด์ยิ่งดังมากขึ้น จนแบรนด์นี้ถูกตีมูลค่าไว้ถึง 250 ล้านเหรียญสหรัฐ (เมื่อปี 2018) หรือกว่า 7,800 ล้านบาท!

Source: Independent, SCMP, FoxBusiness, The New York Times