นักวิจัยซาอุฯ แจ้งเกิด “Wi-Fi ใต้น้ำ” ครั้งแรก! สานฝันนักดำน้ำแชร์ภาพแบบเรียลไทม์

นักวิจัยซาอุฯ แจ้งเกิดอุปกรณ์กระจายสัญญาณเครือข่ายข้อมูลไร้สายไว-ไฟ (Wi-Fi) ใต้น้ำ สานฝันนักดำน้ำแชร์ภาพเรียลไทม์ผ่านระบบออนไลน์ เบื้องต้นใช้คลื่นวิทยุและลำแสงเลเซอร์จากแอลอีดี (LED) ในการส่งข้อมูลจากน่านน้ำสู่ภาคพื้นดิน ความเร็วถ่ายโอนข้อมูลเบื้องต้นวัดได้ 2.11 เมกะไบต์ต่อวินาที

อุปกรณ์ส่งสัญญาณ Wi-Fi ใต้น้ำมีชื่อเรียกว่า “อะควา-ไฟ” (Aqua-Fi) เป็นผลงานของบาเซ็ม ชิฮาดา (Basem Shihada) นักวิจัยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิงอับดุลาห์ (King Abdullah University of Science and Technology)

นักวิจัยรายนี้อธิบายแนวคิดการพัฒนาว่าเป็นการหาทางตอบโจทย์ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการติดตามและสำรวจสภาพแวดล้อมใต้น้ำ ทำให้เกิดการพัฒนาระบบเชื่อมต่อไร้สายใต้น้ำที่สามารถรับส่งข้อมูลได้ตามต้องการ

รายละเอียดที่ทางมหาวิทยาลัยเผยแพร่บนเว็บไซต์ IEEE Xplore ระบุว่า Aqua-Fi ใช้คลื่นวิทยุในการส่งข้อมูลจากสมาร์ทโฟนของนักดำน้ำไปยังอุปกรณ์รับส่งข้อมูลหรือ “เกตเวย์” ที่ติดอยู่กับอุปกรณ์ใต้น้ำ ทั้งหมดนี้จะมี LED เป็นอุปกรณ์ยิงลำแสงเลเซอร์ในการส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์บนบกหรือภาคพื้นดิน ซึ่งจะมีระบบแปลข้อมูลเป็นรูปภาพหรือวิดีโอที่ปลายทาง

สถิติขณะนี้ถูกบันทึกว่านักวิจัยระบบสามารถอัพโหลดและดาวน์โหลดมัลติมีเดียผ่าน Aqua-Fi ด้วยการถ่ายโอนข้อมูลที่ความเร็ว 2.11 เมกะไบต์ต่อวินาที

รายงานยังย้ำว่า Aqua-Fi ส่งข้อมูลโดยใช้ลำแสงเลเซอร์เชื่อมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งบนผิวน้ำซึ่งเข้ากับอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม จากนั้นคอมพิวเตอร์จึงจะแปลงข้อมูลภาพถ่ายเป็นชุดข้อมูลศูนย์และหนึ่งจำนวนมหาศาล ซึ่งจะถูกแปลเป็นการเปิดปิดลำแสงเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลได้

นอกจากการอัปโหลดและดาวน์โหลดเนื้อหาระหว่างคอมพิวเตอร์ 2 เครื่องที่ถ่ายโอนข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุด 2.11 เมกะไบต์ต่อวินาที การสำรวจยังพบความล่าช้าหรือดีเลย์เฉลี่ย 1.00 มิลลิวินาทีสำหรับการรับส่งข้อมูลไปกลับ

ทีมพัฒนาย้ำว่า ความสำเร็จนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นักดำน้ำสามารถใช้อินเทอร์เน็ตใต้น้ำแบบไร้สายได้อย่างสมบูรณ์ โดยยอมรับว่าความท้าทายที่ทีมกำลังเผชิญ คืออุปสรรคเรื่องลำแสง LED ที่ต้องสอดคล้องกับเครื่องรับในน้ำที่กำลังเคลื่อนหรือกระเพื่อม ทำให้ทีมต้องแน่ใจว่าต้องออกแบบอุปกรณ์ให้เป็นทรงกลม ซึ่งจะช่วยให้การจับแสงทำได้จากทุกมุม

ทีมวิจัยทิ้งท้ายถึงความหวังให้ Aqua-Fi ถูกใช้อย่างกว้างขวางใต้น้ำ เป็นการอุดช่องว่างที่ Wi-Fi สามารถทำงานได้เหนือน้ำเท่านั้น

Source