กระทรวงคมนาคมชงครม.ปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT ตามสัญญา โดย BEM ช่วยตรึงราคาเดิมถึงสิ้นปี 63 เพื่อลดค่าครองชีพ “ศักดิ์สยาม” สั่ง รฟม.เจรจาปี 64 คาด CPI ติดลบ ให้ลดราคาต่อ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เสนอการปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) หรือ MRT
ตามสัญญาสัมปทานทุก 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ค. 63 โดยพิจารณาตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ทุก 2 ปี ซึ่งพบว่าจะมีจำนวน 4 สถานีที่ต้องปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่ อัตรา 1 บาท ตามเงื่อนไขสัญญา
รฟม.ได้หารือกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน ซึ่งเอกชนได้มีหนังสือเสนอที่จะยังไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ทำให้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.นี้จะยังคงจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราเดิมเริ่มต้นที่ 16 และสูงสุด 42 บาท
ทั้งนี้ ได้ให้ รฟม.หารือกับเอกชนเพิ่มเติมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT ในปี 2564 ว่า หากคำนวณ CPI แล้วติดลบ ควรจะต้องพิจารณาอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องด้วย
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (30 มิ.ย.) เห็นชอบตามที่ รฟม.เสนอการจัดเก็บค่าโดยสารตามร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร ตามสัญญาโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง–บางซื่อ โดยจะมีผลในวันที่ 3 ก.ค. 2563 เป็นต้นไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ทุก 2 ปี ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 จะมีการปรับค่าโดยสารใหม่ จำนวน 4 สถานี คือ สถานีที่ 1, 4, 7, 10 โดย BEM ได้มีหนังสือให้ความร่วมมือในการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราเดิมที่ 16 บาท และสูงสุด 42 บาท ต่อไปจนถึงสิ้นปี 63 โดยไม่มีการสงวนสิทธิ์ใดๆ