ดัชนีราคาอาหารจานเดียวพุ่งเฉลี่ย 6.7% แพงขึ้น 3.66 บาท “ข้าวกะเพรา” ราคาเฉลี่ย 59 บาท

Photo : Shutterstock
LINE MAN Wongnai เปิดรายงานดัชนีราคาอาหารจานเดียวทั่วประเทศไทย ระหว่างปี 2563-2565 เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับสถานการณ์เงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลราคาที่ขายจริงจากร้านอาหารกว่า 7 แสนร้านที่ขายเดลิเวอรีบนแพลตฟอร์ม LINE MAN ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย

พบประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทยในรอบปี แพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% (เทียบระหว่างพฤษภาคม 2564 และพฤษภาคม 2565) ใกล้เคียงกับตัวเลขเงินเฟ้อ 7.1% ของกระทรวงพาณิชย์
  • ราคาอาหารในต่างจังหวัดยังต่ำกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่เฉลี่ยจานละ 7 บาท แต่ต่างจังหวัดมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารเร็วกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • อาหารเมนูหมูยังราคาใกล้เคียงเดิม แต่เมนูไก่ราคาแพงขึ้นชัดเจน ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา
  • ข้าวผัดกะเพราราคาพุ่ง แพงขึ้นเฉลี่ย 3 บาท ภายใน 4 เดือนแรกของปี 2565 (ข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565) จากเฉลี่ยจานละ 56 บาท เพิ่มเป็นเฉลี่ยจานละ 59 บาท

ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทย ระหว่างปี 2563-2565

เงินเฟ้อและต้นทุนวัตถุดิบ ทำให้ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทยปี 2565 แพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% (เทียบระหว่าง พ.ค. 64 และ พ.ค. 65)

LINE MAN Wongnai รายงานความเปลี่ยนแปลงราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียว เช่น ก๋วยเตี๋ยว สุกี้ ข้าวผัดกะเพรา อาหารตามสั่ง ข้าวผัด ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู ราดหน้า ฯลฯ ที่ขายในแต่ละเดือนระหว่างปี 2563-2565

พบว่า ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวในปี 2563 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2564 โดยตัวเลขของปี 2564 น้อยกว่าของปี 2563 อยู่เล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19

ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวของปี 2565 กลับเพิ่มขึ้นจากปี 2564 อย่างชัดเจน ราคาเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 55.33 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ที่ 53.33 บาท (แพงขึ้น 2 บาท) และถ้าดูตัวเลขในเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 57.87 บาท เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ 54.21 บาท เพิ่มขึ้น 3.66 บาท หรือประมาณ 6.7% ใกล้เคียงกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ที่ประเมินไว้ราว 7.1% เดือนพฤษภาคม 2565 (อ้างอิง)

ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยของอาหารจานเดียวแพงที่สุดอยู่ที่ 59.96 บาท ส่วนภาคตะวันตก มีราคาเฉลี่ยถูกที่สุดอยู่ที่ 49.92 บาท (มิถุนายน 2565) โดยภาคกลางเป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 3.97 บาท (เทียบระหว่างมกราคมและมิถุนายน 2565)

ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวแยกตามภูมิภาค ในเดือนมิถุนายน 2565 (ราคาที่เพิ่มขึ้นจากมกราคม 2565)

  • ภาคกลาง 59.63 บาท (+3.97 บาท)
  • ภาคตะวันออก 59.96 บาท (+3.16 บาท)
  • ภาคเหนือ 50.26 บาท (+2.94 บาท)
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 56.04 บาท (+3.51 บาท)
  • ภาคใต้ 57.46 บาท (+2.58 บาท)
  • ภาคตะวันตก 49.92 บาท (+2.43 บาท)

เปรียบเทียบราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียว ระหว่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและจังหวัดอื่นๆ

ราคาอาหารในต่างจังหวัดยังต่ำกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่เฉลี่ย 7 บาท แต่มีอัตราราคาอาหารเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

LINE MAN Wongnai รายงานราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียว เปรียบเทียบ ระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) กับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยที่ขายบนแพลตฟอร์ม LINE MAN เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าครองชีพของกรุงเทพฯ และปริมณฑลกับต่างจังหวัด

  • ราคาอาหารจานเดียวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แพงกว่าต่างจังหวัดเฉลี่ยประมาณ 8 บาท (1 มกราคม 2564) แต่ส่วนต่างนี้ลดลงเหลือประมาณ 7 บาทแล้ว (1 พฤษภาคม 2565)
  • ตลอดทั้งปี 2564 ราคาอาหารจานเดียวในต่างจังหวัด เพิ่มขึ้นในอัตรา 5.9% ซึ่งขึ้นเร็วกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน
  • ในปี 2565 ราคาอาหารเริ่มปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ราคาอาหารจานเดียวเฉลี่ยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นมาแล้ว 6.68% และต่างจังหวัดเพิ่ม 7.98% (เทียบ 1 มกราคม 2565 กับ 1 พฤษภาคม 2565)

ราคาเฉลี่ยเมนูอาหารแต่ละวัตถุดิบทั่วไทย ช่วงครึ่งปีแรก 2565

อาหารเมนูหมูยังราคาใกล้เคียงเดิม แต่เมนูไก่ราคาแพงขึ้นมากตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา

LINE MAN Wongnai รายงานการเปรียบเทียบราคาอาหารเฉลี่ย (นับรวมอาหารทุกประเภท ทุกระดับราคา) โดยแยกตามประเภทของเนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบของอาหาร พบว่าเมนูอาหารที่มีไก่เป็นส่วนประกอบมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุด สอดคล้องกับข่าวเนื้อไก่แพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี (อ้างอิง)

ราคาเฉลี่ยของอาหารที่ใช้ไก่เป็นส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 และพุ่งขึ้นสูงสุดในเดือนเมษายน 2565 ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับลดลงมาในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ยังถือว่าสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้า

ราคาเฉลี่ยอาหารเมนูไก่ ในช่วงครึ่งปีแรก 2565

  • 1 มีนาคม 80.37 บาท
  • 1 เมษายน 109 บาท
  • 13 เมษายน 134 บาท (ปรับขึ้นมากเป็นพิเศษในช่วงหยุดสงกรานต์)
  • 1 พฤษภาคม 113 บาท
  • 1 มิถุนายน 93.9 บาท

ส่วนเมนูอาหารที่ใช้หมูเป็นส่วนประกอบ คงอยู่ที่ราว 64-69 บาทตลอดทั้งช่วงครึ่งปีแรก 2565 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาอาหารเฉลี่ย (รวมเนื้อสัตว์ทุกประเภท) ที่อยู่ราว 64-80 บาท

ราคาเฉลี่ยข้าวผัดกะเพราแพงขึ้น 3 บาท

ข้าวผัดกะเพราราคาพุ่ง จากราคาเฉลี่ยจานละ 56 บาทช่วงต้นปี 2565 เป็นราคาเฉลี่ยจานละ 59 บาท เฉลี่ยแพงขึ้น 3 บาท

LINE MAN Wongnai ตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงราคาเฉลี่ยของ “ข้าวผัดกะเพรา” อาหารยอดนิยมของคนไทย (นับทั้งข้าวผัดกะเพรา ข้าวราดกะเพรา ใส่เนื้อสัตว์ทุกประเภท แต่ไม่รวมตัวเลือกเสริม เช่น ไข่ดาว ไข่เจียว ที่เลือกสั่งเพิ่มเป็น top-up แยกต่างหาก) ระหว่างปี 2563-2565

พบว่า ราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาช่วงต้นปี 2564 อยู่ที่จานละ 52.78 บาท และค่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ จนอยู่ที่ 54.73 บาทในช่วงปลายปี (เพิ่มขึ้นประมาณ 2 บาท)

แต่ในปี 2565 สถานการณ์ราคาปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยช่วงต้นปี ราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราหนึ่งจานคือ 55.9 บาท และเพิ่มมาเป็น 59 บาทในเดือนพฤษภาคม (แพงขึ้น 3 บาทภายใน 4 เดือน)

ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราแพงที่สุดอยู่ที่ 62.24 บาท ส่วนภาคตะวันตก มีราคาเฉลี่ยถูกที่สุดอยู่ที่ 50.08 บาท

ราคาเฉลี่ยข้าวผัดกะเพราแยกตามภูมิภาค 

  • ภาคกลาง 60.63 บาท
  • ภาคตะวันออก 62.24 บาท
  •  ภาคเหนือ 50.57 บาท
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 57.30 บาท
  • ภาคใต้ 56.79 บาท
  • ภาคตะวันตก 50.08 บาท