LINE ปั้น Influencer Commerce ท้าชน IG จับเน็ตไอดอลรีวิวสินค้า พร้อมรวบปิดการขาย

เพราะช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา ทำให้มีการคาดการณ์ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอาจมีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท เติบโตราว 25% และอีกตลาดที่เติบโตล้อตามไปคือ ‘อินฟูลเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง’ (Influencer Marketing) หรือการรีวิวสินค้าจาก Net Idol หรือ KOL ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การรีวิวสินค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในแพลตฟอร์ม Social Media อย่าง Facebook, Instagram, YouTube และก็ Blog ต่าง ๆ ดังนั้นนี่จึงเป็นเหมือนช่องว่างของ ‘LINE’ ที่ไม่สามารถโดดเข้ามาในตลาดนี้ได้สักที

ชนอินสตาแกรมเข้าอย่างจัง

จริง ๆ แล้ว Influencer Marketing ไม่ใช่ศาสตร์ใหม่ หรือกลยุทธ์ใหม่แต่อย่างใด ถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่เฟื้องฟูจัดๆ น่าจะ 5-6 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่า Instagram เป็นผู้บุกเบิกศาสตร์นี้เลยก็ว่าได้ ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งที่ทำให้ Instagram จุดติดกับกลยุทธ์นี้ก็คือเหล่าเซเลบริตี้ ดารา และเน็ตไอดอลคนมีชื่อเสียง ต่างใช้แพลตฟอร์มนี้สื่อสารกับแฟนคลับ ไม่ว่าจะเป็นลงรูป หรือแจ้งข่าวสาร พูดคุยกับแฟนคลับ สามารถรู้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนจากผู้ติดตาม จึงเกิดเป็นช่องทางให้แบรนด์เริ่มนำสินค้าให้คนมีชื่อเสียงรีวิวผ่าน IG มากขึ้น

โอกาสของ Influencer Marketing ยังคงมีต่อเนื่องจนถึงยุคปัจจุบัน เนื่องจาก 60% ของผู้บริโภคเลือกเชื่อรีวิว แม้รู้ว่าถูกจ้าง ดังนั้นจะเห็นว่าหลายแพลตฟอร์มอย่าง ‘ทวิตเตอร์’ ก็มีการจ้างบล็อกเกอร์ หรือเซเลบในทวิตในการรีวิวสินค้า หรือแม้แต่ LINE เองก็มีช่องทางสำหรับเน็ตไอดอล เซลบริตี้ต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับสื่อสารกับแฟน ๆ จนเกิดเป็นใช้ ‘LINE IDOL’ เปิดไปเมื่อปี 2561

โปรเจกต์นี้ LINE ต้องการดึงคนดังมาเปิด LINE Official Account (LINE OA) แต่ไม่ใช่แค่เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างแฟนคลับและผู้ติดตามเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้กับเหล่า Influencer ที่ถูกจ้างทำโฆษณาต่าง ๆ แต่กลับแทบไม่มีความเคลื่อนไหวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้ติดตามของ Influencer ที่ต้องมีอย่างน้อย 1 ล้านคนเลยทีเดียว

Influencer Commerce รีวิวปุ๊บ ปิดการขายได้ปั๊บ

ในปีนี้ LINE จับ LINE IDOL มาปัดฝุ่นอีกครั้ง หลังจากที่อีโคซิสเต็มส์ของ LINE ที่พร้อมมากพอ ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สดผ่าน LINE OA ได้ ทำให้ Influencer สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ ๆ ได้ นอกจากนี้ยังทำลายข้อจำกัดของจำนวนผู้ติดตามของ Influencer ในการสร้าง LINE OA ให้ครอบคลุมอินฟลูเอนเซอร์ตั้งแต่ระดับ Macro Influencer (ผู้ติดตาม 100,000 คนขึ้นไป) จนถึงระดับ Micro Influencer (ผู้ติดตาม 500 คนขึ้นไป)

และที่ขาดไม่ได้ คือ ฟีเจอร์ LINE MyShop ที่ทำให้จากนี้ไม่ใช่แค่การรีวิวเพื่อสร้างการรับรู้ แต่สามารถจบการขายผ่านการแปะลิงก์สินค้าใน LINE Myshop ได้เลย จึงเกิดเป็น Influencer Commerce ฟีเจอร์ใหม่ที่เปิดตัวในไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างให้ LINE Idol ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการรีวิวเพื่อสร้างการรับรู้เหมือนแพลตฟอร์มอื่น ๆ และปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในจุดแข็งของ LINE OA คือ การสื่อสารที่เห็น 100% ขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ กำลังมีประเด็นเรื่อง ‘การมองเห็น’ ที่อาจจะไม่เต็ม 100%

จับมือ Tellscore ป้อนเน็ตไอดอลเข้าแพลตฟอร์ม

จะทำ Influencer Commerce ก็ต้องมีอินฟูลเอนเซอร์ก่อน ดังนั้น LINE จึงจับมือกับ Tellscore แพลตฟอร์มอินฟูลเอนเซอร์เอเจนซี่ที่มีอินฟูลเอนเซอร์ในระบบกว่า 40,000 คน รวมถึงมี ‘อัลกอริทึม’ ที่จะช่วยคัดกรองอินฟูลเอนเซอร์ที่เหมาะจะทำตลาดให้กับแบรนด์ โดยดูจาก 1.เอนเกจเมนต์ของอินฟูลเอนเซอร์ 2.ยอดการติดตาม 3.ภาพลักษณ์ที่เหมาะกับแบรนด์ และ 4.อัตราการปิดการขาย เบื้องต้น LINE ตั้งใจที่จะดึงอินฟูลเอนเซอร์ของ Tellscore เข้ามาในระบบให้ได้ 500 คน

ส่วนนักการตลาดและแบรนด์ที่สนใจ สามารถติดต่อผ่าน LINE หรือ Tellscore ได้ เบื้องต้นแพ็กเกจแบ่งออกเป็น 2 แบบ 1.Micro Influencer (Personal Account) จำนวน 50 คน เน้นการกระจาย 2.Macro Influencer จำนวน 5 คน สำหรับเน้นสร้าง Impact โดยรายได้จะแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน 3 ส่วน ได้แก่ อินฟูลเอนเซอร์, LINE และ Tellscore แน่นอนว่ารายได้ของอินฟลูเอนเซอร์อาจจะได้น้อยลงกว่าการรับงานเอง เเต่การที่มี LINE และ Tellscore ช่วยหาลูกค้าเพิ่มให้ ก็น่าจะเป็น Win-Win ทั้งคู่

จะเวิร์กไหม? เพราะใคร ๆ ก็ใช้ Influencer 

ที่ผ่านมา LINE พยายามเข็นบริการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความถี่ในการใช้งาน เพราะแม้จะมีผู้ใช้ถึง 46 ล้านคน แต่ฐานก็นิ่งมานาน อีกทั้ง LINE เองเป็นแพลตฟอร์มแชทเบส ไม่เหมือน Social Media ดังนั้น แม้จะมีการใช้งานเฉลี่ยที่ 60 นาที/คน/วัน แต่หลัก ๆ อาจจะยังเน้นใช้งานแชทมากกว่าที่จะหาดูรีวิวหรือซื้อสินค้า ดังนั้นการซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซโดยตรง หรือหาดูรีวิวจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ อาจจะเป็นความคุ้นชินของผู้บริโภคไปแล้ว

ดังนั้น ไม่รู้ว่าแผนที่ LINE พยายามเปลี่ยนจาก Conversation มาเป็น Conversion จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ไม่แน่ เพราะการลด ‘การมองเห็น’ ที่คนในโซเชียลกำลังเจอ อาจเป็นตัวช่วยให้ LINE สามารถดึงพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาทำตลาดผ่าน LINE มากขึ้นก็ได้