Starbucks คว้าโอกาสเจาะตลาดจีน ช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ขยาย “เดลิเวอรี่” ผ่าน 4 แอปฯ Alibaba

Photo : Shutterstock

แบรนด์กาแฟยอดนิยม Starbucks รุกจับตลาดออนไลน์หลังเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ร่วมกับ Alibaba อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ขยายให้บริการเดลิเวอรี่ไปอีก 4 เเพลตฟอร์มผ่าน Taobao , แอปพลิเคชันแผนที่ Amap , เเอปฯ บริการในท้องถิ่น Koubei รวมถึงแอปฯ ชำระเงินออนไลน์อย่าง Alipay เพิ่มความสะดวกสบายให้กับคอกาแฟชาวจีน

บริการเสริมเหล่านี้ จะช่วยให้ Starbucks เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้น ผ่านหลายช่องทางของอาลีบาบาที่มีฐานผู้ใช้เกือบ 1 พันล้านราย” Alibaba ระบุในแถลงการณ์ ทั้งนี้ ลูกค้าที่ซื้อเครื่องดื่มผ่าน Alipay และ Koubei สามารถเลือกวิธีการจัดส่งได้อีกด้วย

Starbucks เริ่มปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ จัดบริการส่งกาแฟและขนมถึงมือลูกค้าแบบรวดเร็วทันใจ พลิกวิกฤตยอดขายหน้าร้านที่เริ่มลดลง โดยเปิดให้บริการสั่งเครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี่ในจีนครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2018 ผ่านแอปพลิเคชัน Ele.me บริษัทลูกของ Alibaba ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรับส่งอาหารในประเทศ เพื่อเเข่งขันกับคาเฟ่เจ้าอื่นที่หันมาเน้นการจัดส่งเดลิเวอรี่กันมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวของ Starbucks ในการขยายบริการเดลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของ Alibaba ในครั้งนี้ มีเป้าหมายจะเจาะตลาดผู้บริโภคจีนที่กำลังเติบโตกว่าประเทศอื่น โดยคาดว่ากำลังซื้อของชาวจีนจะฟื้นตัวอีกครั้ง ในช่วงเดือนก..นี้ หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

ขณะเดียวกันก็เป็นการคว้าโอกาสครั้งสำคัญ ในยามที่คู่เเข่งท้องถิ่นอย่าง Luckin Coffee ที่มีร้านสาขาในจีนมากกว่า แต่ตอนนี้กำลังเจอมรสุม เพราะธุรกิจกำลังสั่นคลอน จากกรณีอื้อฉาวที่มีการฉ้อโกงภายในองค์กร เเละมีคดีทุจริตเรื่องการตกเเต่งบัญชีหลายคดี

ในช่วงเดือนพ..ที่ผ่านมา Starbucks เปิดตัวมินิโปรแกรมกับ Tencent อีกหนึ่งยักษ์ธูรกิจในจีน คู่เเข่งสำคัญของ Alibaba เพื่อขยายหาลูกค้าใน WeChat ซึ่งอนุญาตการเข้าถึงสิทธิ์การเป็นสมาชิกและบริการเดลิเวอรี่ของ Starbucks

เห็นได้ชัดว่าช่วงนี้ เเบรนด์ชั้นนต่างๆ พยายามกระตุ้นยอดขายในช่วงที่เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรการล็อกดาวน์ โดยบริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ มองว่าจีนเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเติบโตหลังวิกฤต เเม้จะต้องมองข้ามความตึงเครียดทางการเมืองเเละสงครามการค้าระหว่างรัฐบาลจีนกับสหรัฐฯ ก็ตาม

ที่มา : Reuters