คู่ปรับ “Boeing – Airbus” ร่วมชะตากรรม ขาดทุนยับกว่าที่คาด ลดผลิตเครื่องบิน ปลดพนักงานเพิ่ม

สองยักษ์ใหญ่เเห่งวงการผลิตเครื่องบิน ที่ฟาดฟัดกันมาหลายยุคหลายสมัยอย่าง Boeing เเละ Airbus กำลังตกที่นั่งลำบากร่วมกันหลังต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 โดยทั้งสองบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนมากกว่าที่คาดไว้ จำเป็นต้องปรับลดพนักงานเพิ่ม เเละลดการผลิตเครื่องบินรุ่นหลักลงอีก

ธุรกิจการบินฟื้นตัวช้าเเละต้องรออีกหลายปี ล่าสุด Boeing ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติสหรัฐฯ รายงานผลประกอบการในไตรมาสขาดทุนถึง 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.4 หมื่นล้านบาท) และรายได้ในช่วงเวลาเดียวกันลดลง 25% เหลือ 11,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.6 เเสนล้านบาท)

Dave Calhoun ซีอีโอของ Boeing บอกว่า ตัวเลขในไตรมาส 2 “ย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้มาก สะท้อนให้เห็นว่าการเเพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นส่งผลกระทบอย่างรุนเเรงต่ออุตสาหกรรมการบิน เเละสถานการณ์นี้ยังจะต้องคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

คงต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี กว่าที่อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อน COVID-19”

ด้วยปัจจัยความต้องการเดินทางที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงข้อจำกัดพรมเเดนเเละมาตรการควบคุมโรคในเเต่ละประเทศ ทำให้สายการบินชะลอการซื้อเครื่องบินใหม่ ทำให้ผู้ผลิตต้องเลื่อนการส่งสินค้าและบริการซ่อมบำรุงหลายด้าน

ก่อนหน้านี้ ทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกมาปรับคาดการณ์ใหม่ว่า ธุรกิจการบินจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เเละต้องรอไปจนถึงปี 2024 กว่าที่จำนวนผู้โดยสารทั่วโลกจะกลับมาเท่าช่วงก่อนโรคระบาด เเละเเม้อัตราการเดินทางทางอากาศได้ผ่านจุดต่ำสุดไปเเล้ว เเต่อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ เเละยังถือว่าอ่อนแออยู่มาก

Boeing ประกาศว่า จะลดการผลิตเครื่องบินตระกูล 777 และ 787 และเลื่อนการเปิดตัวเครื่องบินรุ่นใหม่อย่าง 777X ได้อย่างเร็วที่สุด คือภายในปี 2022

นอกจากนี้ Boeing ยืนยันอย่างเป็นทางการเเล้วว่าจะเลิกผลิตเครื่องบินเครื่องบินโดยสาร Boeing 747 จัมโบ้เจ็ต เจ้าของฉายาราชินีเเห่งท้องฟ้าสัญลักษณ์ของการเดินทางระยะไกล ภายในปี 2022 นี้ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การเดินทางทั่วโลกต้องหยุดชะงัก เเละปัจจุบันสายการบินต่างๆ ก็หันมาใช้เครื่องบินรุ่นประหยัดเชื้อเพลิงกันมากขึ้น ตามเทรนด์ของยุคสมัย

ขณะเดียวกัน Boeing ก็ต้องรีบปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด เนื่องจากคำสั่งซื้อเครื่องบินที่ลดฮวบ ด้วยการปลดพนักงานภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งพนักงานของบริษัทราว 19,000 คน จากพนักงานทั่วโลกราว 1.6 เเสนคน จะต้องถูกเลิกจ้างก่อนกำหนด เเละล่าสุดก็เพิ่งมีการส่งข้อความถึงพนักงานว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดการจ้างงานเพิ่มเติมอีก

Photo : Shutterstock

ด้านคู่ปรับตลอดกาลอย่าง Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ สัญชาติฝรั่งเศส เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ว่า ขาดทุน 1,900 ล้านยูโร (ราว 7 หมื่นล้านบาท) รายได้ในช่วงเวลาเดียวกันลดลง 39% เหลือ 18,900 ล้านยูโร (ราว 6.9 เเสนล้านบาท) โดยอัตราการส่งมอบเครื่องบินในช่วงเวลานี้ลดลง 50% เหลือเพียง 196 ลำ ต่ำสุดในรอบ 16 ปี

Guillaume Faury ซีอีโอของ Airbus มองว่าวิกฤต COVID-19 คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบรุนเเรงมากที่สุดตอนนี้ ซึ่งบริษัทได้ปรับลดการผลิตลงเเล้ว 40% รวมถึงการลดการผลิตเครื่องบินรุ่น A 350 ลงอีก เหลือเพียง 5 ลำต่อเดือน

สำหรับเเผนปรับโครงสร้างองค์กรของ Airbus จะมีการปลดพนักงานราว 15,000 คนภายในกลางปีหน้า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศสและเยอรมนี จากพนักงานกว่า 1.35 เเสนคนทั่วโลก

ด้านสหภาพแรงงานฝรั่งเศส เรียกร้องให้ Airbus ชะลอการปรับโครงสร้างบริษัทออกไปก่อน โดยมองว่าการปลดพนักงานในครั้งนี้รุนแรงเกินไปและอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงกับอุตสาหกรรมการบินของยุโรปในอนาคต รวมถึงอาจทำให้ธุรกิจซัพพลายเออร์ขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบอย่างรุนเเรง หาก Airbus ลดการผลิตลงในช่วง 2 ปีต่อจากนี้

ทั้งนี้ Boeing เเละ Airbus ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องบินพาณิชย์ทั่วโลกไปแล้ว 91% โดย Boeing ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ 45.69% และ Airbus ครองส่วนแบ่งอยู่ 45.35%

 

ที่มา : Reuters , Airbus.com