วิศวกร “Boeing” แฉต่อหน้าสภาคองเกรส บริษัท “ข่มขู่” ให้ปิดเงียบเรื่องเครื่องบิน “ไม่ปลอดภัย”

Photo : Shutterstock
วิศวกรบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน “Boeing” ขึ้นให้การต่อหน้าสภาครองเกรส ยืนยันตนเองถูกเจ้านาย “ข่มขู่” หลังจากที่เขาแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของเครื่องบินของบริษัท

“Sam Selehpour” วิศวกรและเป็นผู้แจ้งเบาะแสคนสำคัญเกี่ยวกับการทำงานที่หละหลวมและไม่ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของ Boeing ขึ้นให้การต่อหน้าสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2024 ว่า เขาถูกเจ้านายโทรศัพท์มาต่อว่ายาว 40 นาที และรถยนต์ของเขาถูกเจาะยางด้วยตะปู หลังจากเขาแสดงความกังวลในบริษัทว่าขั้นตอนการดำเนินการผลิตเครื่องบิน “ไม่ปลอดภัย”

หลังจากการไต่สวนโดยสภาคองเกรสครั้งนี้ Boeing มีการออกแถลงการณ์ว่า “พวกเราทราบดีว่าเรายังมีงานต้องทำอีกมาก และเรากำลังลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขทั้งบริษัท”

Boeing เริ่มเผชิญวิกฤตหลังจากเครื่องบินรุ่นใหม่ของบริษัท “737 Max 8” เกิดเหตุ “เครื่องบินตก” ถึง 2 ครั้งในปี 2018 และปี 2019 รวมมีผู้เสียชีวิตถึง 346 คน

หลังจากนั้นเมื่อเดือนมกราคม 2024 เครื่องบินรุ่น “737 Max 9” ของสายการบิน Alaska Airlines มาเกิดเหตุไม่คาดฝันอีก เมื่อชิ้นส่วนของเครื่องบินหลุดออกระหว่างทำการบิน เป็นโชคดีที่ไม่มีผู้โดยสารคนใดได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต แต่เมื่อเหตุมาเกิดซ้ำทำให้บริษัทถูกจับจ้องและตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

การตรวจสอบครั้งนี้มีการนำตัวพยานผู้แจ้งเบาะแสทั้งหมด 3 คนมาให้การต่อสภาคองเกรส หนึ่งในนั้นคือ Sam Salehpour ซึ่งเป็นวิศวกรที่ทำงานกับ Boeing มานาน 17 ปี เขากล่าวว่าเขาได้แจ้งความกังวลต่อหัวหน้าเรื่องการใช้ “ทางลัด” ในการผลิตเครื่องบิน และเขาได้แจ้งเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอด 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2020 แต่เขาถูกโต้กลับจากหัวหน้าว่าให้ “หุบปาก”

“ผมถูกละเลย ผมได้รับคำตอบแค่ว่าอย่าทำให้การส่งมอบล่าช้า” Salehpour กล่าว พร้อมเสริมว่าเวลาต่อมาเขาถูกย้ายงานไปทำตำแหน่งอื่น “นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมการทำงานที่ปลอดภัยเลย เพราะคุณจะถูกข่มขู่เมื่อพูดเรื่องที่ขัดแย้งขึ้นมา”

 

จับตา Boeing 787 อีกหนึ่งรุ่นที่อาจไม่ปลอดภัย

ความกังวลของ Salehpour ในเวลานี้คือ เครื่องบินรุ่น Boeing 787 ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบลำตัวกว้าง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุวิกฤต Alaska Airlines หรือวิกฤตปี 2018-19 แต่มีปัญหาเรื่องการผลิตเช่นเดียวกัน

เขากล่าวว่า ชิ้นส่วนที่ใช้ผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะผิดพลาดได้ในอนาคต

เขาได้แจ้งเรื่องนี้กับทางองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเผยตัวพร้อมๆ กับ FAA เมื่อหน่วยงานแจ้งเรื่องนี้ต่อสาธารณะเมื่อต้นเดือนเมษายน

FAA ระบุว่าพวกเขากำลังสืบสวนเรื่องนี้อยู่ ส่วนบริษัท Boeing ปฏิเสธข้อกล่าวหา

Salehpour ยังเล่ารายละเอียดระหว่างการไต่สวนว่า เขารู้สึกมีแรงบังคับภายในให้ต้องออกมาพูด เพราะเขาเคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานโครงการกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ เพื่อนคนนั้นไม่ได้รับการตอบสนองเมื่อแจ้งข้อกังวลในการทำงานเช่นกัน และสุดท้ายกระสวยชาเลนเจอร์ก็ระเบิดออกระหว่างขึ้นบินเมื่อปี 1986

เขากล่าวว่า หลังเขาแจ้งเรื่องข้อกังวลต่างๆ ไปแล้ว บริษัทตอบกลับเขาด้วยแรงกดดันต่างๆ เช่น ทำให้เขาลางานไปพบแพทย์ยากขึ้น ระหว่างการให้การ Salehpour ถึงกับหลั่งน้ำตา และยอมรับว่าเขา “ไม่มีหลักฐาน” ว่าตะปูในยางล้อรถของเขานั้นเกี่ยวกับกรณีนี้หรือไม่ แต่เชื่อว่าเขาถูกเจาะยางระหว่างอยู่ที่ทำงาน พร้อมบอกว่าเขารู้สึก “เหมือนอยู่ในนรก”

“Richard Blumenthal” วุฒิสมาชิกผู้นำการไต่สวนในครั้งนี้ กล่าวว่าเขาและคณะกรรมการจะสืบสวนประเด็นนี้ต่อไป และแค่เพียงการประกาศว่าจะมีการไต่สวนก็ได้กระตุ้นให้ผู้แจ้งเบาะแสอีกหลายคนกล้าที่จะออกมาให้ข้อมูล

“เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจัง ถึงระดับที่น่าตกใจ” Blumenthal กล่าว “มีรายงานข้อกล่าวหาหนักเข้ามาเป็นกองพะเนินว่า Boeing มีการละเมิดวัฒนธรรมความปลอดภัย และมีระเบียบการทำงานที่ยอมรับไม่ได้” พร้อมกับบอกว่าการไต่สวนครั้งต่อไปจะเรียกตัวผู้บริหารจากบริษัทมาให้การด้วย

ทาง Boeing เองแจ้งว่า การกลั่นแกล้งจากการแจ้งเบาะแสเป็นเรื่องที่ “ต้องห้ามโดยเด็ดขาด” และบอกว่าบริษัทได้รับรายงานจากพนักงาน “เพิ่มขึ้นมากกว่า 500%” นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา “ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเกิดความคืบหน้าในการสร้างวัฒนธรรมการรายงานเรื่องราวในบริษัทโดยไม่ต้องหวั่นเกรงหรือเกิดการกลั่นแกล้งเอาคืน”

 

พยานแฉอีก บริษัทช่วยกัน “กลบเกลื่อน”

ส่วนการสืบสวนเบื้องต้นโดยรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่า เที่ยวบินของ Alaska Airlines ที่มีชิ้นส่วนหลุดออก เกิดจากสลักบางส่วนหายไป ขณะนี้บริษัท Boeing กำลังถูกสืบสวนสอบสวนและมีคดีความตามมาอีกมาก

นอกจากวิศวกร Salehpour แล้ว พยานอีกคนที่เข้ามาแจ้งเบาะแสคือ “Ed Pierson” ซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการในบริษัท Boeing แต่ขณะนี้เป็นผู้อำนวยการบริหารให้กับมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยการเดินอากาศ Pierson กล่าวหาบริษัทว่ามีการ “กลบเกลื่อนการสร้างอาชญากรรม” และบอกด้วยว่าตัวเขาเองให้เอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสลักที่หายไปของ 737 Max 9 กับหน่วยงานสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) เรียบร้อยแล้ว

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2024 วันเดียวกันกับการไต่สวนที่คองเกรส สายการบิน United Airlines ดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อ Boeing ขอให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยแก่สายการบิน หลังจากเหตุ Alaska Airlines มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ United Airlines

United Airlines ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Boeing พวกเขามีฝูงบินที่ใช้เครื่องบินรุ่น 737 Max 9 เช่นกัน ทำให้เมื่อเกิดเหตุกับ Alaska Airlines ฝูงบินนี้ของ United Airlines ถูกระงับสั่งห้ามขึ้นบินไปด้วยและกระทบยาว 3 สัปดาห์ ทางสายการบิน United Airlines ออกมาตำหนิผ่านสื่อเมื่อไม่นานมานี้ว่า ผลกระทบต่อเนื่องนี้ทำให้บริษัทสูญรายได้ไปกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,300 ล้านบาท) เมื่อไตรมาสแรกของปี 2024

Source