“กัมพูชา” จ่อออกกฎหมายปรับเงินหญิงนุ่งสั้น-ใส่ชุดซีทรู หวังอนุรักษ์วัฒนธรรม

Photo : Shutterstock
กัมพูชากำลังเสนอร่างกฎหมายที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถปรับเงินกับผู้ที่ถูกมองว่าแต่งกายไม่เหมาะสมได้ กฎหมายที่นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนมองว่าอาจถูกใช้ลดทอนเสรีภาพของผู้หญิง และส่งเสริมวัฒนธรรมการยกเว้นโทษในเรื่องความรุนแรงทางเพศ

ร่างกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้าหากได้รับการอนุมัติจากกระทรวงต่างๆ และรัฐสภา จะกำหนดห้ามผู้ชายเปลือยท่อนบนเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ และห้ามผู้หญิงสวมใส่สิ่งที่สั้นเกินไปหรือชุดซีทรู

ขณะที่ร่างกฎหมายของรัฐบาลฉบับนี้ถูกระบุว่า เป็นหนทางที่จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของชาติ แต่นักวิจารณ์วิตกว่ากฎหมายนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและกดขี่ผู้หญิงในประเทศ

ในช่วงหลายเดือนมานี้ เราได้เห็นการกำกับควบคุมร่างกายและเครื่องแต่งกายของผู้หญิงจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ที่ลดทอนสิทธิของผู้หญิงในการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตนและการแสดงออก และกล่าวโทษผู้หญิงสำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขา เรากังวลว่าสิ่งนี้จะถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมกับผู้หญิงที่ใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานของพวกเขาเองจัก สุเพียบ ผู้อำนวยการศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา กล่าว

แต่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้นำกระบวนการร่างกฎหมาย กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม

มันเป็นเรื่องดีที่จะสวมใส่สิ่งที่ไม่สั้นมากไปกว่าครึ่งต้นขา มันไม่ใช่เรื่องของความสงบเรียบร้อย แต่เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี เจ้าหน้าที่รัฐ กล่าว

เมื่อต้นปี มีผู้หญิงคนหนึ่งถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในข้อหาการแสดงลามกอนาจารหลังปฏิเสธคำเตือนของเจ้าหน้าที่ที่ให้สวมชุดที่ไม่เปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไปขณะขายเสื้อผ้าและเครื่องสำอางผ่านไลฟ์เฟซบุ๊ก

การจับกุมหญิงคนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตามจับผู้หญิงที่ใช้รูปแบบการขายในลักษณะยั่วยวน ที่ผู้นำเขมรกล่าวว่า สร้างความเสื่อมเสียต่อวัฒนธรรมกัมพูชาและส่งเสริมให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวตำหนิการปราบปรามดังกล่าว และเตือนว่ากฎหมายใหม่สามารถทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในความเสี่ยงของการถูกคุกคามและความรุนแรงทางเพศได้มากยิ่งขึ้นจากการส่งเสริมวัฒนธรรมการกล่าวโทษเหยื่อ

การตำหนิติเตียนผู้หญิงจากการเลือกเสื้อผ้าของพวกเธอนั้นเป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่าผู้หญิงต้องถูกกล่าวโทษสำหรับความรุนแรงทางเพศที่พวกเธอต้องทนทุกข์ และยังปกป้องวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษที่มีอยู่รองผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว

ชาวกัมพูชาจำนวนมากยังคงคาดหวังว่าผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายยอมจำนนและเงียบสงบ ตามบทกวี Chbap Srey ที่เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับสตรีที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียน ซึ่งสหประชาชาติกล่าวเมื่อปีก่อนว่าควรถูกกำจัดออกให้หมดไปจากโรงเรียน และยังระบุว่าเป็นสาเหตุของความเสียเปรียบของผู้หญิง

Source