บทความจาก Nikkei Asia ได้รายงานถึงซัพพลายเออร์ผู้ผลิตเสื้อผ้าของ Uniqlo รวมถึงแบรนด์อื่นๆ นั้นเตรียมย้ายกำลังการผลิตส่วนใหญ่ออกนอกจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศปลายทางที่ซัพพลายเออร์เหล่านี้ต้องการคือประเทศที่อยู่ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา หรือแม้แต่เวียดนาม
บริษัทที่ย้ายกำลังการผลิตที่ Nikkei Asia รายงานนั้นไม่ว่าจะเป็น Matsuoka หรือ Adastria รวมถึง Aoyama ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นซัพพลายเออร์ให้กับแบรนด์เสื้อผ้าในประเทศญี่ปุ่นหลายแบรนด์ และรวมถึงแบรนด์เสื้อผ้าที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง Uniqlo ด้วย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องย้ายกำลังการผลิตออกจากจีน นั่นก็คือเรื่องของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่สร้างผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศจีน รวมถึงสร้างปัญหา Supply Chain หยุดชะงัก ไม่เพียงเท่านี้ค่าแรงในประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมานั้นเพิ่มสูงมากขึ้น จนทำให้บริษัทเหล่านี้ตัดสินใจย้ายกำลังการผลิต
ประเทศปลายทางที่บริษัทเหล่านี้เตรียมไปตั้งโรงงานผลิตนั้นเป็นประเทศที่อยู่ในกรอบความร่วมมือ RCEP เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีจีนเข้าร่วม ทำให้สามารถได้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ถูกลง ซึ่งประเทศที่อยู่ในความร่วมมือดังกล่าวประกอบไปด้วย เวียดนาม กัมพูชา หรือแม้แต่อินโดนีเซีย
ไม่เพียงที่มีประเทศในความร่วมมือ RCEP เท่านั้น แต่ยังมีประเทศในเอเชียใต้อย่างบังกลาเทศ ซึ่งถือเป็นฮับสำคัญในการผลิตเสื้อผ้าที่บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ก็เตรียมโยกกำลังการผลิตออกจากจีนไปยังที่นี่ด้วย บทความใน Nikkei Asia ยังคาดว่ากำลังการผลิตที่บริษัทเหล่านี้เตรียมโยกย้ายออกจากประเทศจีนมายังอาเซียนบางบริษัทนั้นจะมีสัดส่วนมากถึง 50% ภายในปี 2026
การโยกย้ายของบริษัทญี่ปุ่นออกนอกจีนอาจไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ในช่วงยุค 1980 บริษัทผลิตเสื้อผ้าของญี่ปุ่นได้ย้ายกำลังการผลิตออกนอกประเทศครั้งแรก โดยประเทศปลายทางก็คือจีนนั่นเองก่อนที่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้เตรียมหาฐานการผลิตแห่งใหม่อีกครั้ง
ไม่ใช่แค่บริษัทผลิตเสื้อผ้าเท่านั้น ผู้ผลิตสินค้าหลายรายเองก็เริ่มมองหาลู่ทางใหม่ๆ ในการย้ายกำลังการผลิตออกจากประเทศจีน แม้ว่าจีนจะมีนโยบายผ่อนคลายเกี่ยวกับโควิดแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น Apple ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีก็เตรียมเร่งย้ายกำลังการผลิตออกนอกประเทศจีนด้วย
ขณะที่อาเซียนเองก็เป็นเป้าหมายฐานการผลิตแห่งใหม่ของบริษัทหลายแห่งจากทั่วโลก รวมถึงบริษัทจากไต้หวัน โดยผลสำรวจในปี 2020 ที่ผ่านมา 50% ของบริษัทญี่ปุ่นนั้นสนใจที่จะไปลงทุนในประเทศเวียดนาม
การย้ายกำลังการผลิตออกนอกประเทศจีนหลังจากนี้ถือเป็นความท้าทายของประเทศจีนไม่น้อย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาจีนนั้นเป็นประเทศที่ถือว่าเป็นโรงงานของโลก เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนใหญ่ในโลกอยู่ในประเทศจีน แต่หลังจากนี้รัฐบาลจีนเองเตรียมที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เพิ่ม (Value Added) มากกว่าจะเป็นการรับจ้างผลิต
นอกจากนี้ความท้าทายในการย้ายกำลังการผลิตออกนอกจีนของบริษัทต่างๆ คือสามารถหาแรงงานที่มีประสบการณ์ รวมถึงเรื่องของ Supply Chain ในประเทศปลายทางที่บริษัทเหล่านี้ย้ายกำลังการผลิตออกมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าต้องใช้เวลาหลายปีเช่นกัน