หากนับเฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก จะเห็นการปลดพนักงานครั้งใหญ่ โดยเฉพาะ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ที่ปลดพนักงานราว 11,000 คน หรืออย่าง Microsoft ก็มีรายงานว่าปลดพนักงานน้อยกว่า 1,000 คน เนื่องจากการชะลอตัวของการเติบโต ดังนั้น มาดูในฝั่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรากัน ว่าเหล่าสตาร์ทอัพปลดพนักงานกันไปมากน้อยแค่ไหนในปีนี้
ในปีนี้ มีเหล่าสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนหลายรายที่ เลิกจ้างพนักงาน เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจ อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คารูเซลล์ (Carousell) แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสองออนไลน์สัญชาติ สิงคโปร์ ประกาศว่าจะปลดพนักงานประมาณ 10% ของจำนวนพนักงาน หรือประมาณ 110 ตำแหน่ง
หรือในเดือนพฤศจิกายน โกทู กรุ๊ป (GoTo Group) แพลตฟอร์มธุรกิจส่งอาหารและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่เกิดจากการควบรวมของ โกเจ็ก (Gojek) และ Tokopedia สองยูนิคอร์นของอินโดนีเซีย ก็ได้ลดพนักงานลง 1,300 ตำแหน่ง หรือประมาณ 12% ของจำนวนพนักงาน เนื่องจากนับตั้งแต่เดือยมกราคม-กันยายน บริษัทยังคงขาดทุนเพิ่มขึ้น
ส่วนบริษัทที่มีการลดพนักงานมากที่สุดก็คือ ซี กรุ๊ป (Sea Group) เจ้าของธุรกิจเกม Garena อีคอมเมิร์ซ Shopee และอีเพย์เมนต์ โดยได้ลดขนาดพนักงานกว่า 7,000 คน ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา เพื่อลดภาวะขาดทุนเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น
สำหรับ Carousell ตัวซีอีโออย่าง Quek Siu Rui ได้ออกมายอมรับกับพนักงานว่า เขา “มองโลกในแง่ดีเกินไป” เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักโควิด และประเมินผลกระทบของการเติบโตของทีมอย่างรวดเร็วนั้นผิดไป ทั้งนี้ รายได้ของ Carousell ในปี 2021 แม้จะยังเติบโต แต่ก็ช้าลงถึง 21% เมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นสามเท่าในปี 2020
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทสตาร์ทอัพอื่น ๆ ที่ลดจำนวนพนักงาน อาทิ
- Foodpanda แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ลด 60 ตำแหน่ง
- Zenius แพลตฟอร์มด้านการศึกษาเบอร์ 2 ของอินโดนีเซีย ลดกว่า 200 ตำแหน่ง
- Carsome แพลตฟอร์มซื้อ-ขายรถยนต์มือสองออนไลน์ ลด 10%
- Glints แพลตฟอร์มค้นหางานของสิงคโปร์ ลด 18%
รัดเข็มขัด โฟกัสความยั่งยืน
Jia Jih Chai ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Rainforest ผู้รวบรวมแบรนด์อีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุที่เหล่าสตาร์ทอัพต้องลดจำนวนพนักงานเป็นเพราะ ต้องระมัดระวังในการจัดการต้นทุนในสภาพแวดล้อมนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถวิ่งได้ไกลถึงปี 2567
“มีสัญญาณว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้น ความต้องการของลูกค้าจึงมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2566 และความจริงก็คือ เราเพิ่มค่าใช้จ่ายและจ้างงานได้อย่างรวดเร็ว แต่เราใช้เวลาในการหารายได้นานกว่าที่คิดไว้”
เควกยังกล่าวอีกว่า เป็นเรื่องรอบคอบเท่านั้นที่บริษัทจะสามารถทำกำไรเป็นกลุ่มได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าสภาวะตลาดจะดีขึ้นหรือไม่
ด้าน เจฟรีย์ โจ ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของ Alpha JWC Ventures ในอินโดนีเซีย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เหล่าสตาร์ทอัพถูกออกแบบมาให้ เร่งการเติบโต อาทิ Sea Group และ Grab ที่ขาดทุนสะสมมาหลายปี แต่ปัจจุบันบริษัทจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อเปลี่ยนจากการเติบโตอย่างรวดเร็วไปสู่ การเติบโตอย่างยั่งยืนแทน ขณะที่เหล่านักลงทุนในปัจจุบันก็กำลังเน้นให้เหล่าสตาร์ทอัพโฟกัสการทำตลาดในระยะยาวมากกว่า