เปิดมหากาพย์บุญมีแต่กรรมบังของ ‘TikTok’ จากแอปฯ ดาวรุ่งพุ่งแรง สู่การถูกแบนในอินเดียและสหรัฐฯ

เปิดปี 2020 มาอย่างสวยงาม สำหรับ ‘TikTok’ แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยมของคนทั่วโลกที่มียอดดาวน์โหลดกว่า 2,000 ล้านครั้งใน 150 ประเทศทั่วโลก! แต่แล้วฝันก็สลายไปในพริบตา เมื่อประเทศอินเดียประกาศแบน และตอนนี้กำลังจะถูกแบนในสหรัฐฯ ด้วยข้อหา ‘ภัยคุกคามต่อความมั่นคง’ เลยกลายเป็นว่าแอปฯ ที่กำลังมาแรงกลับต้องถูกเบรกซะงั้น ดังนั้น Positioning จะพาไปย้อนไทม์ไลน์ของ TikTok ในปี 2020 ว่าเกิดอะไรขึ้นกันบ้าง

รู้จัก ‘TikTok’

TikTok เป็นแอปพลิเคชันสัญชาติจีน ก่อตั้งในปี 2012 โดย ByteDance โดยหลักการใช้ก็ง่าย ๆ คือ เป็นแอปฯ สร้างวิดีโอสั้นความยาว 15-60 วินาที โดยผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์วิดีโอได้โดยการใส่เพลงและเล่นกับเอฟเฟกต์ต่าง ๆ บางคอนเทนต์ที่ทำออกมาโดนใจก็จะถูกแชร์จนเกิดเป็น ‘Viral’ ได้ง่าย ๆ อย่างเช่น เพลง ‘เจน นุ่น โบว์’ ของวง Super วาเลนไทน์ก็น่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างชั้นดี

เมื่อส่วนผสมทั้งหมดถูกปั่นรวมกันอย่างลงตัว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม TikTok ถึงได้เติบโตอย่างรวดเร็วขนาดนั้น โดยภายในเดือนมกราคมปี 2020 TikTok ก็สามารถทะยานเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดอันดับ 1 ของโลกด้วยยอด 104.7 ล้านครั้ง รวมยอดดาวน์โหลดกว่า 1,500 ล้านครั้ง ผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก และสามารถทะยานเป็น 2,000 ล้านครั้งในปัจจุบัน เติบโตถึง 2 เท่าจากปีที่แล้ว ซึ่ง ‘Covid-19’ ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องกักตัวอยู่แต่บ้าน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ TikTok สามารถเติบโตได้เร็วขนาดนี้

ปัญหา ‘ความมั่นคง’ ข้อกล่าวหายอดนิยม

หากย้อนไปเมื่อช่วงกลางปี 2019 ‘หัวเว่ย’ (Huawei) ได้ถูกกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มชื่อใน ‘Entity List’ หรือบัญชีดำการซื้อขาย ก็เพราะประเด็นด้านความมั่นคง เนื่องจากมีความกังวลว่ารัฐบาลจีนจะบังคับให้หัวเว่ยเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งาน แม้หัวเว่ยจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ก็ตาม

จากนั้นปัญหาดังกล่าวก็ลามมาถึง TikTok โดยเริ่มจากช่วงต้นปีที่กองทัพสหรัฐฯ ได้ประกาศสั่งห้ามไม่ให้ทหารใช้เเอปฯ นี้ เพราะข้อหา ‘ภัยต่อความมั่นคง’ โดยระบุว่า TikTok ถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมมีคำสั่งห้ามทหารเรือทุกนายติดตั้งเเอปฯ TikTok ลงบนโทรศัพท์ที่ใช้งานราชการ อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะในกองทัพ เรื่องจึงเงียบไป

แต่แล้วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารของอินเดียและจีนในบริเวณชายแดนจีน-อินเดีย ส่งผลให้มีทหารอินเดียเสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย จนเกิดกระแสการแบนสินค้า และบริการจีนในอินเดีย โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี จนในที่สุด รัฐบาลอินเดียได้แบนแอปพลิเคชันต่างชาติรวม 59 แอป โดยรัฐบาลอินเดียอ้างว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพของชาติ ซึ่งหวยก็มาออกที่ TikTok ได้กลายเป็นหนึ่งในนั้น ถือเป็นการชัตดาวน์โอกาสทางธุรกิจในอินเดียไปโดยปริยาย

ยอม ‘ขาย’ หรือถูก ‘แบน’

หลังจากที่กองทัพได้แบน TikTok แล้ว ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯ ก็สานต่อ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ประกาศว่าจะแบน TikTok ออกจากสหรัฐฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่และสมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ แสดงความกังวลว่าแพลตฟอร์ม TikTok อาจถูกปักกิ่งนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยข่าวกรองของจีน พร้อมกับระบุว่า เขาจะสั่งดำเนินการทันที โดยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉิน หรือคำสั่งบริหาร อย่างไรก็ตาม ารแบนจะไม่เกิดขึ้นหาก TikTok ไม่ใช่บริษัทจีน หรือแปลว่า ByteDance ต้องขาย TikTok ให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกา

ขณะที่ด้านของ TikTok ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ โดย Hilary McQuaide โฆษกของ TikTok ยืนยันว่าข้อมูลผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ทั้งหมดถูกจัดเก็บในสหรัฐฯ และสำรองข้อมูลไว้ที่ศูนย์ข้อมูลใหญ่ที่สิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายและการควบคุมของรัฐบาลจีน เเละเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจีนจะเข้ามาเเทรกเเซงตามข้อกล่าวหา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ระบุว่า ข้อกล่าวหาส่วนใหญ่เป็นเพียงทฤษฎีและไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลผู้ใช้ของ TikTok นั้นถูกบุกรุกโดยหน่วยข่าวกรองของจีน

จับตา ‘เจ้าของใหม่’

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่รุมเร้า ByteDance เองกำลังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร และมีรายงานว่าได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขายหุ้นใหญ่ใน TikTok โดยเปิดโอกาสที่จะเจราจากับหลายบริษัท แต่ Microsoft ยักษ์ใหญ่ไอทีสัญชาติอเมริกาก็ถือเป็นเต็ง 1 ในการครอบครอง TikTok โดยล่าสุด Microsoft ได้ออกแถลงการณ์ว่า การเจรจาเข้าซื้อจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ และหากดีลสำเร็จ Microsoft จะเป็นเจ้าของและดำเนินการ TikTok ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ทั้งนี้ TikTok ถูกประเมินมูลค่าอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีผู้ใช้สหรัฐฯ มีผู้ใช้งานมากกว่า 80 ล้านคนต่อวัน และมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 300 ล้านครั้งในสหรัฐฯ

แพลตฟอร์มใหม่รอเสียบเพียบ

แม้ว่าอนาคตในสหรัฐฯ จะยังไม่แน่นอน และสำหรับอินเดียนั้นถูกปิดไปเรียบร้อย แต่มรสุมของ TikTok ยังไม่หมด เพราะความ Hot ของแพลตฟอร์มได้ให้กำเนิดคู่แข่งรายใหม่จำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งระดับโลกและคู่แข่งในภูมิภาค อาทิ Sloy สัญชาติรัสเซีย, HiPi สัญชาติอินเดีย, Short จาก YouTube, Reels จาก Instagram และ Lasso จาก Facebook เรียกได้ว่ารอบด้านเลยทีเดียว

และต้องยอมรับว่าหาก TikTok ต้องเสียตลาดอินเดียและอเมริกาไปอย่างถาวร ต้องไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ เพราะแค่ตลาดอินเดียเอง TikTok มียอดดาวน์โหลดถึง 600 ล้านครั้ง ขณะที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอินเดียยังมีเพียงครึ่งเดียวของจำนวนประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน ซึ่งแปลว่าโอกาสยังมีอีกมาก และในสถานการณ์ที่มีคู่แข่งจำนวนมากรอเสียบอยู่แบบนี้ ดังนั้นการขาย TikTok ในเวลานี้อาจจะเป็นเรื่องดีก็เป็นได้