MAN รุกตลาด “รถบรรทุก” เมืองไทยเต็มสูบ ส่งเครื่องยนต์เยอรมันชิงส่วนแบ่งการตลาด 20%

  • MAN (เอ็ม เอ เอ็น) รถบรรทุกสัญชาติเยอรมัน เปลี่ยนจากระบบตัวแทนนำเข้าสินค้ามาตั้งบริษัทนำเข้าด้วยตนเอง โดยไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศเอเชียแปซิฟิกที่บริษัทแม่ลุยตลาดเอง นอกจากส่งรถบรรทุกนำเข้ามาลุยตลาดแล้ว ยังมีรถบัสเป็นอีกไลน์สินค้าหนึ่ง
  • กลุ่มรถบรรทุกจากยุโรปเป็นตลาดขนาดเล็กในไทย โดยมียอดขายปีละประมาณ 600 คัน MAN ต้องการชิงส่วนแบ่งตลาดส่วนนี้ให้ได้ 20% ภายในปี 2564
  • อย่างไรก็ตาม สภาวะตลาดรถบรรทุกยุโรป 7 เดือนแรกปีนี้ลดลงถึง 35% จากโรคระบาด COVID-19 ทำให้คาดว่าปี 2563-64 จะมียอดขายทั้งตลาดเพียง 450-500 คัน

“จักรพงษ์ ศานติรัตน์” ผู้อำนวยการ เอ็ม เอ เอ็น ทรัค แอนด์ บัส ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัท เอ็ม เอ เอ็น เจ้าของแบรนด์รถบรรทุกและรถบัส MAN จากเยอรมนี ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดเมืองไทยด้วยตนเองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ตามนโยบายบุกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทแม่ โดยก่อนหน้านั้น MAN มียอดขายในเมืองไทยเป็นอันดับ 3 เนื่องจากมีผู้นำเข้าทำตลาดอยู่ก่อนแล้วมาตั้งแต่ปี 2538

เมืองไทยเป็น 1 ใน 5 ตลาดเอเชียแปซิฟิกที่ MAN เลือกเปิดบริษัทด้วยตนเอง ร่วมกับจีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฮ่องกง ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้อีก 10 ประเทศ บริษัทยังทำตลาดผ่านผู้นำเข้าอยู่

จักรพงษ์กล่าวว่า รถบรรทุกและรถบัส MAN มีจุดแข็งที่ประวัติการดำเนินงานยาวนานกว่า 260 ปี เป็นบริษัทที่ให้ความร่วมมือกับ “รูดอล์ฟ ดีเซล” ผู้ประดิษฐ์เครื่องยนต์ดีเซลเครื่องแรกของโลกขึ้นในปี 2440 ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานหลักและสำนักงานใหญ่ที่เมืองมิวนิก และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ Volkswagen เมื่อปี 2554 ทำให้สามารถแข่งขันได้ในแง่คุณภาพ ความทนทานนวัตกรรม และการผลิตมาตรฐานเยอรมัน

“จักรพงษ์ ศานติรัตน์” ผู้อำนวยการ เอ็ม เอ เอ็น ทรัค แอนด์ บัส ประเทศไทย

ตีชิงส่วนแบ่งตลาดรถบรรทุกยุโรป

สำหรับสินค้าที่ MAN จะนำเข้ามาเปิดตลาดไทยในเดือนกันยายนนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มรถบรรทุก รุ่น TGS 6X4 แบบ 10 ล้อทั้งแบบหัวลากและแบบมีกระบะ (Rigid) ตั้งแต่ 360-440 แรงม้า 2.กลุ่มรถบัส มีทั้งแบบรถเมล์ชานต่ำ รถเมล์วิ่งระหว่างเมือง และรถโค้ชทางไกล โดยรถบัสจะนำเข้าเฉพาะแชสซีส์รถ ส่วนตัวถังจะผลิตในประเทศไทยโดย บริษัท ท็อปเบสท์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เป็นผู้ผลิตและดีลเลอร์การขายกลุ่มรถบัสแต่เพียงรายเดียวในไทย

จักรพงษ์กล่าวว่า ตลาดรถบรรทุกในประเทศไทยปกติจะมียอดขายเฉลี่ยปีละ 17,000-18,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกจากญี่ปุ่น รถบรรทุกจากยุโรปจะมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเพียง 3-5% เท่านั้น อย่างในปี 2562 ที่ผ่านมา รถบรรทุกยุโรปมียอดขายรวมกัน 632 คัน และเฉพาะ 2 เจ้าใหญ่ในตลาดรถบรรทุกยุโรปก็มียอดขายรวมกันถึง 90% ของตลาดนี้แล้ว (แบรนด์ดังกล่าวได้แก่ Scania และ Volvo)

รถบรรทุกและรถบัสของ MAN

“ตลาดรถบรรทุกยุโรปนั้นปัจจุบันเราอยู่อันดับ 3 แต่ก็เป็นอันดับ 3 ที่ห่างมาก เราอยากจะโดดขึ้นไปให้ช่องว่างลดลง” จักรพงษ์กล่าว

โดยปี 2564 เอ็ม เอ เอ็นตั้งเป้ายอดขายรถบรรทุกจะขึ้นไปถึง 100-120 คัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% ของตลาดรวมรถบรรทุกยุโรปปีหน้า

 

ทำราคาแข่งขันได้ เร่งขยายดีลเลอร์เป็น 10 เจ้า

แบรนด์รถบรรทุกเจ้าใหญ่ดังกล่าว มีโรงงานผลิตและประกอบภายในประเทศไทยทำให้ทำราคาได้ดี แต่ทาง MAN ยังยืนยันนำเข้ามาจากเยอรมนี โดยเฉพาะตัวเครื่องยนต์ยังไม่มีแผนมาผลิตในไทยเพราะต้องการควบคุมคุณภาพ ส่วนตัวถังนั้นอาจเป็นไปได้ที่จะผลิตในไทยในอนาคต

การนำเข้าทั้งคันทำให้ราคาเริ่มต้นของรถบรรทุก MAN จะอยู่ที่ 4.2 ล้านบาท โดยยังไม่รวมภาษี กรณีที่เป็นรถหัวลากจะบวกภาษีอีก 20% และรถบรรทุกกระบะ Rigid จะบวกภาษีอีก 40% แต่จักรพงษ์ยืนยันว่า ราคาปลายทางรวมภาษีแล้วจะสามารถแข่งขันได้ในตลาด

นอกจากเรื่องราคาและคุณภาพพร้อมรับประกันทั้งคัน 12 เดือนไม่จำกัดระยะทาง การขยายไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ทางเอ็ม เอ เอ็นจะเร่งขยายฐานดีลเลอร์ตั้งเป้า 10 แห่งภายใน 5 ปี โดยเป็น Private Dealer 100% ขณะนี้มีสาขาแล้ว 1 แห่งในกทม. ร่วมกับพันธมิตร บริษัท เค-แมน ออโต้เซอร์วิส จำกัด เฉพาะปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 แห่ง มุ่งหมายปักหลักสาขาใหม่ในภาคเหนือ อีสาน และใต้ เพื่อวางโครงข่ายกระจายไปทุกภาคก่อน

“พอเราเข้ามาทำเอง ราคาก็จะถูกลงแบบ ‘พร้อมชน’ กับแบรนด์อื่น” จักรพงษ์กล่าว “ส่วนดีลเลอร์ทั้งหมด 10 จุดก็มองว่าไม่น้อยนะครับ เพราะแบรนด์ยุโรปเจ้าอื่นก็มีมากที่สุดไม่เกิน 15 จุดทั่วประเทศ”

 

ตลาดซบถึงปี 2564 แต่ระยะยาวมีโอกาส

ด้านสถานการณ์ตลาดรถบรรทุกยุโรปในไทย จักรพงษ์เปิดเผยว่า 7 เดือนแรกปีนี้ค่อนข้างหนัก ยอดขายลดลงไปแล้ว 35% เทียบกับปี’62 เนื่องจากโรคระบาด COVID-19 คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้น่าจะมียอดขายทั้งตลาดเพียง 400-450 คัน ต่อเนื่องถึงปี 2564 มองว่ายอดขายอาจจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ ทั้งตลาดน่าจะทำได้ประมาณ 500 คัน

แม้ตลาดช่วงเปิดตัวไม่ค่อยเป็นใจนัก แต่บริษัทก็ไม่ได้ชะลอแผน เพราะมองว่าระยะยาวตลาดรถยุโรปน่าจะมีโอกาสกินส่วนแบ่งรถญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากระบบโลจิสติกส์ในประเทศจะต้องการ “ความแม่นยำ” สูงขึ้น ต้อง “เร็ว” และ “ตรงเวลา” ขณะที่รถบรรทุกญี่ปุ่นจะทนทานน้อยกว่าเสียบ่อยกว่า และถ้าใช้ระบบแก๊สจะต้องต่อแถวรอเติมแก๊สนาน ทำให้ควบคุมความแม่นยำได้ยาก

อีกส่วนหนึ่งคือ มาตรฐานไอเสียรถยนต์ ปัจจุบันประเทศไทยยังกำหนดมาตรฐานที่ EURO 3 แต่ต่อไปน่าจะต้องขยับขึ้นไปจนถึง EURO 4,5 และ 6 เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างในประเทศเวียดนามมีการขยับมาตรฐานไปที่ EURO 4 แล้ว รถที่มีคุณภาพมาตรฐานไอเสียสูงขึ้น ราคาของรถยุโรปกับญี่ปุ่นก็จะใกล้เคียงกันมากขึ้น ทำให้รถญี่ปุ่นได้เปรียบเรื่องราคาน้อยลง

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่จะเลือกรถบรรทุกยุโรป มักจะเป็นกลุ่มบริษัทที่ได้สัญญาวิ่งงานทางไกลระยะยาว 3-5 ปี ทำให้การลงทุนรถยุโรปคุ้มกว่า รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่ต้องขนส่งสินค้ามีราคา ต้องตรงเวลา และละเอียดอ่อน เช่น ผักผลไม้เกรดดีที่ขนส่งเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต และสุดท้ายคือกลุ่มงานพิเศษ ขนสินค้าราคาสูง เช่น เครื่องจักรหนัก หม้อแปลงไฟฟ้า เสาเข็ม ตอม่อ เป็นต้น” จักรพงษ์กล่าว