“สยามกลการ” ในมือครอบครัว “พรประภา” เปิดวิสัยทัศน์สู่ปี 2030 เร่งกระจายพอร์ตสู่ “5 ธุรกิจใหม่” เพื่อลดการพึ่งพิงอุตสาหกรรมยานยนต์ จับเทรนด์มาแรงลงทุนใน “อสังหาริมทรัพย์” “โรงเรียนนานาชาติ” “เทคโนโลยีสะอาด” ฯลฯ วางเป้าลงทุนธุรกิจใหม่รวม 9,500 ล้านบาทภายใน 3 ปี หวังดันรายได้กลุ่มขึ้นอีก 20%
“ประกาสิทธิ์ พรประภา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด เปิดวิสัยทัศน์ “SMG NEXT: Building Tomorrow, Today” กลุ่มสยามกลการในปี 2030 หรืออีก 6 ปีข้างหน้าจะเพิ่มรายได้จาก 5 ธุรกิจใหม่ “New Ventures” เพื่อกระจายพอร์ตรายได้ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบันกลุ่มสยามกลการที่ดำเนินธุรกิจมานาน 72 ปีมีธุรกิจในเครือ 69 บริษัท สร้างรายได้เมื่อปี 2566 รวมกว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท รายได้หลัก 80% มาจากธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนที่เหลือ 20% มาจากธุรกิจก่อสร้าง อุตสาหกรรมและเครื่องจักรกล อสังหาริมทรัพย์ ฮอสพิทาลิตี้ และโรงเรียนดนตรี
เมื่อมองถึงอนาคตแล้วเทรนด์ที่มองว่าจะเป็นพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและในอาเซียน จะประกอบไปด้วย 6 เทรนด์สำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยว, การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI), การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ความยั่งยืน, AI และการทำให้เป็นดิจิทัล และสุดท้ายคือ การเติบโตของภาคธุรกิจการศึกษา
ทำให้กลุ่มสยามกลการวางวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก ไปพร้อมกับการหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่น่าจะเติบโตสูงในอนาคต
5 ธุรกิจใหม่ เป้าเพิ่มรายได้ 20%
สำหรับ 5 ธุรกิจใหม่ที่จะมุ่งเน้นลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคตของสยามกลการ ได้แก่
- Mobility Tech – เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนขนส่ง
- Hospitality & Education – ฮอสพิทาลิตี้และการศึกษา
- Real Estate – อสังหาริมทรัพย์ (*เน้นเฉพาะอสังหาฯ เชิงพาณิชย์)
- Clean Tech – เทคโนโลยีสะอาด
- Digital & Automation – ดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ
โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะใช้งบลงทุนในธุรกิจใหม่รวม 9,500 ล้านบาทภายใน 3 ปี และตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากปกติขึ้นอีก 20%
ทั้งนี้ มีหลายธุรกิจในกลุ่ม ‘New Ventures’ ที่นับว่าสยามกลการได้เริ่มปักหมุดการลงทุนไปเรียบร้อยแล้ว เช่น เมื่อเดือนมีนาคม’67 กลุ่มสยามกลการได้เข้าไปร่วมทุนเชิงกลยุทธ์กับ “KIA” แบรนด์รถยนต์จากเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นการเปิดธุรกิจใหม่ๆ ในกลุ่มยานยนต์ จากเป้าหมายของ KIA ที่จะผลักดันยอดขาย 50% ให้มาจากรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV)
ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทมีการลงทุนอาคารสำนักงาน “สยามปทุมวัน เฮ้าส์” มูลค่ากว่า 3,500 ล้านบาท เปิดบริการเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ปัจจุบันมีอัตราการเช่าแล้ว 54% จากพื้นที่เช่ารวม 51,000 ตร.ม.
ด้านเทคโนโลยีสะอาด บริษัทมีการเซ็น MOU ร่วมกับบริษัท “SK tes” ที่ทำธุรกิจด้านโซลูชัน-เทคโนโลยีกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรีลิเธียม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินจากดาต้าเซ็นเตอร์ ฯลฯ เพื่อจะหาโอกาสร่วมกันในการเปิดธุรกิจที่ประเทศไทย
- “ฮิตาชิ-สยามกลการ” นำเข้าโซลูชัน Smart Building ต่อยอดธุรกิจ “ลิฟต์” เจาะตลาดออฟฟิศ
- “Hilton” คว้าโอกาส “ออฟฟิศ” ในจีนล้นตลาด แปลงโฉมตึกร้างเป็น “โรงแรม” สนองดีมานด์ “จีนเที่ยวจีน”
ลงทุนโรงแรม โรงเรียนนานาชาติ ดาต้าเซ็นเตอร์
ประกาสิทธิ์กล่าวต่อถึงการลงทุนในอนาคตของบริษัท จะมีการลงทุน 1,500 ล้านบาทในการรีโนเวตอาคารสยามกลการแห่งเดิม (ที่ตั้งบน ถ.พระราม 1 ตรงข้ามสนามกีฬาเทพหัสดิน) เพื่อเปลี่ยนเป็น “โรงแรม” ความสูง 19 ชั้น ล่าสุดมีการเซ็น MOU ใช้เชนบริหารจากเครือ Pan Pacific Hotels Group คาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2570
รวมถึงบริษัทจะรุกเข้าธุรกิจการศึกษามากขึ้น ด้วยการเปิด “โรงเรียนนานาชาติ” ที่พัทยา ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ทเนอร์ซึ่งจะเข้ามาบริหารโรงเรียน และจะประกาศรายละเอียดให้ทราบต่อไป
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ กลุ่มกำลังพิจารณาการลงทุน “ดาต้าเซ็นเตอร์” 2 แห่งในที่ดินภายในนิคมอุตสาหกรรมทั้งใน จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่แห่งละประมาณ 40-50 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมลงทุนจากต่างประเทศ