ยังรุกตลาดสนามกอล์ฟต่อเนื่อง! กลุ่ม “สยามกลการ” เตรียมเปิด สนามกอล์ฟ สยามคันทรีคลับ แบงคอก เป็นแห่งที่ 5 ในเครือ ออกแบบเหมาะกับกลุ่มตีกอล์ฟเพื่อการพักผ่อน (Leisure) ทำเลบางนา-ตราด กม.22 ใกล้กรุงเทพฯ เล็งเป้าหมายลูกค้าองค์กร ทำการตลาดคนรุ่นใหม่ด้วย KOL กระแสสนใจกีฬากอล์ฟเริ่มติดลมบน
“ประณัย พรประภา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยาม เอสเตท แอนด์ โค จำกัด ในกลุ่ม “สยามกลการ” นำทีมผู้บริหารเปิดตัว “สนามกอล์ฟ” แห่งที่ 5 ในเครือคือ “สยามคันทรีคลับ แบงคอก” เป็นแห่งแรกของเครือที่ตั้งอยู่เขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล หลังจากทั้ง 4 แห่งก่อนหน้านี้ตั้งอยู่ในพัทยา จ.ชลบุรี
สยามคันทรีคลับ แบงคอก ตั้งอยู่ที่ ถ.บางนา-ตราด กม.22 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาทีจากสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสนามกอล์ฟ 18 หลุม บนพื้นที่ทั้งหมด 519 ไร่ ใช้งบลงทุน 3,683 ล้านบาท (รวมมูลค่าที่ดิน) โดยจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการวันที่ 1 มกราคม 2565
ก่อนหน้านี้ สยามคันทรีคลับมีสนามกอล์ฟทั้งหมด 4 แห่งในพัทยา แห่งแรกคือ “สยามคันทรีคลับ โอลด์ คอร์ส” ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ 50 ปีก่อนและมีการรีโนเวตเสร็จเมื่อปี 2550
จากนั้นมีการเปิด “สยามคันทรีคลับ แพลนเทชั่น” ในปี 2551 เป็นสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุมที่เน้นความท้าทายในการตีกอล์ฟ ทั้งนี้ ทั้งสนามโอลด์ คอร์ส และแพลนเทชั่น ได้รับเลือกเป็นสนามจัดแข่งขันกอล์ฟสตรีระดับโลก Honda LPGA Thailand ติดต่อกันระหว่างปี 2550-2564 ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้ “สยามคันทรีคลับ” เป็นสนามกอล์ฟที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ
ต่อมาในปี 2557 สยามกลการเปิดสนามกอล์ฟแห่งที่ 3 คือ “สยามคันทรีคลับ วอเตอร์ไซด์” ออกแบบพื้นที่ริมขอบอ่างเก็บน้ำ ตีง่ายขึ้น และปี 2563 เปิดสนามกอล์ฟแห่งที่ 4 “สยามคันทรีคลับ โรลลิ่ง ฮิลส์” เป็นสนามกอล์ฟภูมิศาสตร์สูงๆ ต่ำๆ เปลี่ยนคาแร็กเตอร์ให้แตกต่าง
ทำเลใหม่ใกล้กรุง เน้นก๊วนกอล์ฟเพื่อพักผ่อนสังสรรค์
สำหรับ “สยามคันทรีคลับ แบงคอก” ประณัยอธิบายจุดขายของสนาม เน้นการออกแบบประสบการณ์ทั้งหมดเหมาะสำหรับกลุ่มเล่นกอล์ฟเพื่อพักผ่อนและสังสรรค์ (Leisure) โดยผู้ออกแบบสนามคือ Toby Cobb – Design Associate หนึ่งในนักออกแบบสนามกอล์ฟ The Coore & Crenshaw
โจทย์ที่สยามกลการให้ไปคือการเพิ่มความท้าทายขึ้นบ้างจากสนามกอล์ฟทาร์เก็ตเดียวกันในย่านบางนา ‘ท้าทายในการตี แต่ลูกไม่หาย ใช้ลูกเดียวตลอดเกม’ คือคำนิยามของที่นี่
เมื่อคาแร็กเตอร์สนามเป็นเช่นนี้ จะทำให้ทั้งนักกอล์ฟมือสมัครเล่นและมือเก๋ามาออกรอบด้วยกันได้ จึงเหมาะกับการรับรองลูกค้าองค์กร กลุ่มนักธุรกิจมาสังสรรค์ รวมถึงกลุ่มนักกอล์ฟคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งหัดเล่นตามกระแสกอล์ฟที่กำลังมาในช่วงนี้
ไม่ใช่เฉพาะตัวสนาม การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกจะสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีห้องฟังก์ชันที่สามารถจัดเป็นห้องประชุม สัมมนา อีเวนต์ จัดการแข่งขัน รองรับได้ตั้งแต่ห้องย่อย 12 คน จนถึงทั้งบริเวณ 160 คน
รวมถึงมีการนำทีมเชฟจากเครือโรงแรมสยาม แอท สยามในกลุ่มสยามกลการ มาพัฒนาร้านอาหารในสยามคันทรีคลับ แบงคอก มีครบทั้งอาหารไทย ญี่ปุ่น และยุโรป เพราะต้องการให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ที่ดีทุกด้านในการมาสังสรรค์ และดึงดูดลูกค้ากลุ่มที่ไม่ได้ออกรอบเข้ามาทานอาหารด้วย
ขณะนี้สยามคันทรีคลับ แบงคอกเปิดให้สมัครสมาชิกรายปีและราย 5 ปีแล้ว (ราคาช่วงโปรโมชัน แพ็กเกจบุคคล 120,000 บาทต่อปี) โดยประณัยเปิดเผยว่า มีสมาชิกสมัครเข้ามาแล้ว 200 ราย เกินกว่า 60% เป็น expat ชาวญี่ปุ่นในไทยที่บอกปากต่อปาก คาดว่าปีหน้าน่าจะมีสมาชิกแตะ 500 รายสำหรับสนามนี้ และตั้งเป้าต้อนรับนักกอล์ฟออกรอบ 30,000 คนในปี 2565
2565 ลุ้นลูกค้าบินมาตีกอล์ฟคึกคักขึ้น
เป็นธรรมดาของธุรกิจสนามกอล์ฟที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กันถ้วนหน้า ประณัยระบุว่า ก่อนเกิดโรคระบาด กลุ่มสยามกลการมีนักกอล์ฟออกรอบปีละ 190,000 คน (รวมทุกสนาม) มีกลุ่มบินจากต่างประเทศเข้ามา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สัดส่วนประมาณ 20-30% ส่วนที่เหลือเป็นคนไทยและ expat ในไทย 70-80%
เมื่อเกิดโรคระบาด กลุ่มต่างประเทศที่เคยบินเข้ามา ไม่สามารถมาได้ กลุ่มนี้จึงหายไปทั้งหมด และทำให้รายได้ 300 กว่าล้านบาทต่อสนาม ลดเหลือปีละ 200 กว่าล้านบาทต่อสนามในช่วงปี 2563-64
สำหรับปี 2565 ยังคาดหวังว่ากลุ่มตลาดต่างประเทศจะกลับมาได้ราวไตรมาส 3 ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดข่าวไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนระบาด สยามคันทรีคลับมีลูกค้านักกอล์ฟทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จองเข้ามาออกรอบช่วงต้นปีหน้าแล้ว แต่เพราะข่าวในทางลบทำให้ลูกค้าขอเลื่อนออกไปก่อน
- อาณาจักร “ธนาซิตี้” 2,000 ไร่ของ BTS อ่วมพิษ COVID-19 เร่งแก้โจทย์รายได้หด 50%
- 5 บทเรียนจากโลกแห่งการ “กีฬา” สำหรับ “ผู้นำธุรกิจ”
“จริงๆ คนญี่ปุ่นไม่ค่อยกลัว COVID-19 เท่าไหร่ ถ้ามาได้เขาจะเข้ามาเลย แต่ประเทศเขายังปิดอยู่ตอนนี้” ประณัยกล่าว
กระแสคนหนุ่มสาวออกรอบ คนดังนำเทรนด์
ประณัยกล่าวด้วยว่า สยามคันทรีคลับ แบงคอกจะตอบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น สอดคล้องกับกระแสขณะนี้คนวัย 15-40 ปีหันกลับมาสนใจกอล์ฟ จากช่วงหลายปีที่ผ่านมา กีฬากอล์ฟถูกมองว่าเป็นกีฬา ‘มรดก’ อายุเฉลี่ยคนตีกอล์ฟมักจะเป็นวัย 45 ปีขึ้นไป
สาเหตุเพราะการปิดประเทศ คนหนุ่มสาวไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ และกิจกรรมอื่นที่เคยนิยมก็ถูกระงับ ทำให้ต้องหากิจกรรมใหม่ๆ ที่จะไปสังสรรค์กันได้
View this post on Instagram
ประกอบกับไทยเรามีนักกีฬาระดับโลก “โปรโม-โปรเม” โมรียา และ เอรียา จุฑานุกาล เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงมีดารา-เซเลบเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในการเล่นกอล์ฟมากขึ้น เช่น แมทธิว ดีน, ปั้นจั่น-ปรมะ อิ่มอโนทัย กอล์ฟจึงเริ่มกลับมาฮิตอีกครั้ง
“เราจะทำการตลาดแบบใหม่กับสนามกอล์ฟ จะมีการใช้ KOL ลงคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย เช่น กลุ่มดาราคนดัง กลุ่มโปรกอล์ฟวัยไม่เกิน 30 ปี ทำให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่” ประณัยกล่าว “คิดว่าการตลาดแบบนี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในธุรกิจกอล์ฟ”