5 บทเรียนจากโลกแห่งการ “กีฬา” สำหรับ “ผู้นำธุรกิจ”

โตเกียว โอลิมปิกเพิ่งจบลงไป พาราลิมปิก เกมส์กำลังจะเริ่มขึ้น มหกรรมกีฬาระดับโลกนี้ทำให้เราได้เห็นการแข่งขันของบรรดานักกีฬาที่เคี่ยวกรำตนเองมาอย่างหนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสนามไม่ได้ให้บทเรียนเฉพาะกับนักกีฬาด้วยกันเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อมูลสนับสนุนในการทำธุรกิจด้วย

การไปสู่จุดสูงสุดของกีฬา ต้องการทั้งทาเลนต์ วินัย ความมั่นใจ การฝึกซ้อมที่ยอดเยี่ยม และโชคอีกนิดหน่อย หรือมองอีกมุมหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็คือปัจจัยเดียวกันที่ทำให้คนประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องธุรกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่สาขาวิชาด้านธุรกิจของมหาวิทยาลัยมักจะเก็บดาต้าและแรงบันดาลใจจากในสนามกีฬา เพื่อนำมาปรับใช้กับการบริหารองค์กร

บทความจาก Kellogg Insight ได้รวบรวม 5 บทเรียนของการกีฬาที่ “ผู้นำธุรกิจ” ควรนำมาใช้ ดังนี้

 

1.ยิ่งเป็น “ดาวเด่น” ยิ่งได้โอกาส

ในวงการกีฬา ซูเปอร์สตาร์มักจะได้เป็นตัวเก็งของรายการ แต่ชื่อเสียงของซูเปอร์สตาร์กลายเป็นความสำเร็จจริงๆ มากน้อยแค่ไหน?

Breyden King ศาสตราจารย์ด้านการบริหารองค์กรที่ Kellogg ศึกษาดาต้าจากกีฬาเบสบอล และพบว่า พิชเชอร์ที่เป็นดาวเด่นมักจะได้เปรียบ โดยพิชเชอร์ที่เคยติดทีมออลสตาร์มาแล้ว 5 ครั้ง มีโอกาสสูงกว่าถึง 25% ที่อัมไพร์ (กรรมการ) จะขานลูกสไตรค์ เมื่อเทียบกับพิชเชอร์ที่ไม่เคยติดออลสตาร์เลย และจะได้เปรียบมากที่สุดเมื่อลูกนั้นหมิ่นเหม่ในเส้นขอบของสไตรค์โซน ซึ่งเป็นจุดที่การตัดสินใจของกรรมการมีความไม่แน่นอนสูงยิ่งขึ้น

อคติเอนเอียงไปทางบุคคลที่มีชื่อเสียงมากกว่านั้นเกิดขึ้นในจุดอื่นนอกสนามเบสบอลด้วย

“เมื่อคุณเป็นดาวเด่น ความสำเร็จของคุณจะถูกรับรู้ได้มากกว่า” King อธิบาย “นั่นหมายความว่า คนที่อยู่ในตำแหน่งเหนือกว่า มักจะต่อยอดความสำเร็จขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ง่ายกว่า” อคติเพราะการรับรู้ชื่อเสียงเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับองค์กรธุรกิจด้วย เช่น เมื่อเกิดคดีความแบ่งแยกกีดกันในการเลือกจ้างงาน บริษัทที่มีชื่อเสียงดีมักจะได้รับการยกประโยชน์ให้จำเลยไปก่อนมากกว่า

บทเรียนสำหรับผู้นำธุรกิจในเรื่องนี้คือ ประโยชน์ที่จับต้องได้ชัดเจนในการหมั่นสร้างชื่อเสียงที่ยอดเยี่ยมของบริษัท

ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับการบริหารคนในองค์กรด้วยว่า ผู้นำได้ให้ความยุติธรรมกับพนักงานอย่างเท่าเทียมหรือไม่ เพราะคนในองค์กรที่มีชื่อเสียงน้อยกว่าหรือไม่ใช่ดาวเด่น มักจะต้องใช้ความพยายามสูงกว่ามากในการทำงาน

 

2. “ความประทับใจแรก” สำคัญกับทั้งกลุ่ม

เมื่อพูดถึงเรื่องชื่อเสียง ความประทับใจแรกมีบทบาทสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่เฉพาะบุคคลคนเดียวที่ได้ประโยชน์ งานวิจัยพบว่าทั้งกลุ่มจะได้ประโยชน์ร่วมไปด้วย

Rime Toure-Tillery ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาด และทีมวิจัยของเธอ ให้ผู้เข้าร่วมงานวิจัยอ่านบทความเกี่ยวกับนักยิมนาสติก 7 คนในทีมเดียวกันที่จะแข่งขันบนฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ โดยผู้เข้าร่วมจะได้อ่านข้อมูลว่า Emma นักยิมนาสติกคนหนึ่งในทีมนี้มีความสามารถยอดเยี่ยมเป็นพิเศษ และทั้ง 7 คนจะออกทำการแข่งขันเรียงลำดับแบบสุ่ม

นักวิจัยพบความแตกต่างของการเรียงลำดับสองแบบ แบบที่ 1 เมื่อเรียงลำดับให้ Emma ออกแข่งขันเป็นคนแรก ผู้เข้าร่วมมักจะคาดการณ์ว่านักยิมนาสติกที่เหลือจะทำคะแนนได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับแบบที่ 2 เมื่อให้ Emma ออกแข่งขันเป็นคนที่ 4 หรือว่าคนสุดท้ายของกลุ่ม นักยิมนาสติกคนอื่นๆ จะถูกคาดการณ์ว่าได้คะแนนต่ำกว่าแบบแรก

“การให้เครื่องหมายว่าบางสิ่งหรือบางคนเป็น ‘อันดับ 1’ จะมีผลกระทบไม่เพียงแต่กับคนคนนั้น แต่จะมีผลกับการตัดสินของคุณต่อคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนนั้นด้วย” Toure-Tillery กล่าว “แค่บอกว่าบางสิ่งเป็น ‘ที่หนึ่ง’ จะทำให้เกิดความแตกต่างใหญ่หลวง”

สำหรับธุรกิจ การสำนึกรู้ถึงเรื่อง “ลำดับที่หนึ่ง” จะช่วยการดำเนินธุรกิจได้ชัดเจน โดยคุณควรทำให้แน่ใจว่าอะไรก็ตามที่คุณเรียกว่าเป็น “ลำดับที่หนึ่ง” คือจุดที่ดีที่สุดด้วย เช่น แคชเชียร์หมายเลข 1 ควรจะใช้พนักงานที่ดีที่สุดประจำแท่น หรือเมนูที่อยู่ในรายการแรก ก็ควรจะเป็นเมนูที่อร่อยที่สุดของร้าน เพราะเมื่อลูกค้าสัมผัสความประทับใจแรก รู้สึกดีกับสิ่งที่มาเป็นลำดับแรกแล้ว มักจะสร้างความคาดหวังในทางบวกกับสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่จะติดตามมา

 

3.อย่าประเมินคุณค่า “ผู้ชำนาญเฉพาะทาง” ต่ำเกินไป

Steve Kerr ไอคอนแห่งวงการบาสเกตบอล มีเส้นทางอาชีพอันโชติช่วงจากความแพรวพราวของฝีมือ ‘ยิง 3 แต้ม’ แต่ก่อนหน้านั้นหลายปี Kerr เคยถูกมองข้ามมาก่อน เพราะความเร็วและความสูงในการกระโดดของเขาสู้คนอื่นไม่ได้

เป็นไปได้อย่างไร? ผู้ชำนาญเรื่องเฉพาะทางแบบ Kerr นั้นแม้ว่าจะเก่งกาจเป็นพิเศษในบางเรื่อง แต่มักจะถูกตัดสินด้วยมาตรฐานเดียวกันกับคนทั่วไป ซึ่งทำให้เขาเสียเปรียบ

Keith Murninghan ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการองค์กรที่ Kellogg ร่วมกับทีมวิจัย ศึกษาดาต้าความสามารถในการแข่งขันและเงินเดือนของนักกีฬาบาสเกตบอล NBA มากกว่า 300 คน และพบว่า กลุ่มนักกีฬาที่เก่งเรื่องยิง 3 แต้ม ไม่ได้รับเงินเดือนจากการประเมินฝีมือยิง 3 แต้มของพวกเขา แต่ถูกประเมินจากความสามารถชู้ต 2 แต้มเหมือนกับคนอื่นๆ ทั้งที่การชู้ต 3 แต้มได้แม่นยำคือความสามารถหลักที่ช่วยทีมได้

ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ Murninghan กล่าวว่า เพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบคนคนหนึ่งกับคนอื่นเสมอ “คุณอยากจะมีทีมนักกีฬาที่เก่งกาจ 5 คน หรือทีมที่มีมือชู้ต 3 แต้มแต่กระโดดไม่ค่อยเก่งและเชื่องช้า 1 คน กับนักกีฬาที่ยอดเยี่ยม 4 คนล่ะ ถ้าเปรียบเทียบกันตัวต่อตัวระหว่างนักกีฬาเก่งกาจ 5 คนนั้นกับมือชู้ต 3 แต้มคนนี้ คนอื่นๆ ก็คงเก่งกว่า แต่เมื่อเล่นเป็นทีม ทีมจะทำได้ดีกว่าเมื่อมีนักกีฬาคนหนึ่งที่สามารถทำสิ่งพิเศษได้”

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับที่ทำงานเช่นกัน มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาโฆษณารับสมัครงานในเว็บ Monster และ Careerbuilder และพบว่า แม้แต่ตำแหน่งงานที่ระบุว่าต้องการ “ผู้ชำนาญการ” ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ก็ยังระบุว่าต้องการผู้สมัครที่มีทักษะรอบด้านอีกหลายอย่าง แถมยิ่งบริษัทใหญ่เท่าใดก็ยิ่งมีอาการแบบนี้มากเท่านั้น ทั้งที่ควรจะเป็นองค์กรที่สามารถใช้ประโยชน์จากผู้ชำนาญเฉพาะทางเหล่านี้ได้ดีกว่า

 

4.“ทาเลนต์” จำเป็นกับทีม แต่ต้องมี “ทีมเวิร์ก” ด้วย

บางครั้ง แม้แต่ทีมที่เต็มไปด้วยดาวดังก็ยังแพ้ให้กับไก่รองบ่อนได้ ที่จริงแล้วเรื่องนี้เป็นภูมิปัญญายอดนิยมที่รู้กัน คือ ทั้งการมีทาเลนต์และการทำงานเป็นทีมได้คือเส้นทางสู่ความสำเร็จ แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครไขออกว่าปัจจัยไหนสำคัญในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน

Brian Uzzi และ Noshir Contractor ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการองค์กรที่ Kellogg ศึกษาดาต้าทั้งความสามารถส่วนบุคคลและความสำเร็จของทีมที่พวกเขาอยู่ โดยเก็บข้อมูลทั้งจากกีฬาบาสเกตบอล NBA เบสบอล MLB ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และคริกเก็ตอินเดียนพรีเมียร์ลีก จนถึงนักกีฬาอีสปอร์ตเกม Defense of the Ancients 2 โดยใช้โมเดลบนคอมพิวเตอร์ประมวลผลเพื่อทำนายว่าใครจะชนะ

และผลจากการประเมินพบว่า การมี “ทาเลนต์” เก่งๆ ในทีมมักจะทำให้ทีมมีแนวโน้มได้ชัยชนะมากกว่า แต่ว่าทีมนั้นจะต้องมี “ทีมเวิร์ก” ด้วย

Uzzi สรุปผลว่า การมีทาเลนต์ระดับท็อปอย่างเดียวไม่ช่วยให้ทีมมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ จะเห็นได้ว่าบางครั้งบริษัทมีปัญหาเมื่อ “เฟ้นหาแต่ทาเลนต์มาร่วมงาน แต่สุดยอดทาเลนต์นั้นทำงานร่วมกับทีมไม่ได้”

 

5.จะใช้ “ดาต้า” เพื่อตัดสินใจอย่างไร?

ทุกวันนี้ ผู้นำที่เก่งที่สุดต่างใช้ดาต้าทำงาน ส่วนใหญ่ก็เพื่อจะตัดสินใจครั้งสำคัญ

Daryl Morey ผู้จัดการทีมบาสเกตบอล Houston Rockets ซึ่งใช้ดาต้าบริหารทีม กล่าวว่า “คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เผชิญอยู่เป็นเทรนด์ของจริงหรือแค่ฉาบฉวย? คู่ต่อสู้คนหนึ่งฟอร์มดีมากช่วงครึ่งแรก เขาฟอร์มดีเพราะยิงได้ดีจริงๆ และเราต้องเปลี่ยนมาไล่บล็อกเขาหรือยัง หรือเราก็ทำเกมได้ดีอยู่แล้วตามแผน แค่เราไม่มีโชคในช่วงครึ่งแรกก็เท่านั้น และเราควรจะทำตามแผนเดิมต่อไปไหม?” Morey มองว่าคำตอบอยู่ในดาต้า

การเช็กข้อมูลเหล่านี้จะง่ายขึ้นเมื่อผลออกมาเป็นไปตามที่คุณคาดการณ์ไว้หรือเชื่อมั่นว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าดาต้าไม่ตรงกับความเชื่อเดิมจะทำอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาเรื่อง “2 for 1” ซึ่งหมายถึงการค้นพบกลยุทธ์ในช่วงท้ายควอเตอร์เมื่อเวลาเหลือน้อย หากเร่งทำแต้มให้เร็ว 2 ครั้ง มีโอกาสได้แต้มมากกว่าหาทางชู้ตครั้งเดียวแบบเน้นๆ

“ในอดีต โค้ชมักจะต้องการชู้ตครั้งเดียวเน้นๆ มากกว่า” Morey กล่าว แต่เขาเคยนำดาต้ากลยุทธ์ที่ว่านี้ไปคุยกับ Jeff Van Gundy หัวหน้าโค้ชของ Houston Rockets ตอนแรก Van Gundy รู้สึกคลางแคลงใจ แต่สุดท้ายก็เห็นด้วยกับ Morey

แล้วเขากระตุ้นให้ผู้เล่นทำแบบนี้ทุกครั้งหรือไม่? Morey บอกว่าไม่ใช่ เพราะว่าความแตกต่างของโอกาสแพ้หรือชนะไม่ได้แตกต่างกันอย่างมากขนาดนั้น

แปลว่าอะไร? เรื่องราวของ 2 for 1 จาก Morey บอกให้เรารู้ว่า คุณไม่ต้องใช้ดาต้าชี้ทิศการตัดสินใจตลอดเวลา แต่คุณควรจะคอยมองหาช่องตลอดเวลาว่าจะใช้ดาต้าตัดสินใจได้ไหม

Source