UOB สำรวจพบ 3 ใน 4 ของ “ผู้บริหารไทย” เชื่อมั่นรายได้บริษัทฟื้นตัวปีนี้ แต่ยังต้องแบกต้นทุนเงินเฟ้อ

ผลสำรวจ “ผู้บริหารไทย” โดยธนาคารยูโอบี (UOB) พบว่า 3 ใน 4 เชื่อมั่นว่ารายได้ขององค์กรจะฟื้นตัวได้ในปีนี้ แม้ว่าปัจจัยลบเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อจะยังคงมีอยู่ โดยบริษัทที่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจปีนี้มากที่สุด ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคอสังหาฯ-โรงแรม และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค

ธนาคารยูโอบี จัดทำรายงาน UOB Business Outlook Study 2023 (SME& Large Enterprises) สำรวจความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารไทยเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 มา โดยสำรวจทั้งในองค์กรขนาดใหญ่และกลุ่ม SMEs รวมทั้งหมด 530 คน ครอบคลุมอุตสาหกรรม 10 กลุ่มในประเทศไทย

ผลสำรวจพบว่า 76% หรือ 3 ใน 4 ของผู้บริหารเชื่อมั่นว่าผลประกอบการขององค์กรในปี 2566 มีแนวโน้มสูงขึ้น

โดยธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจด้านการผลิตและวิศวกรรม (85%) ตามด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการโรงแรม (80%) และ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (79%)

74% ของบริษัทที่สำรวจยังเชื่อมั่นด้วยว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะ “ดีขึ้น” และกว่า 90% มั่นใจว่าจะเห็นกำไรฟื้นตัวกลับมาได้ภายในปี 2568

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของปีนี้ของบริษัทต่างๆ 5 อันดับแรก ได้แก่ การมองหาฐานลูกค้าใหม่  (37%) สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง (35%) ลดรายจ่าย (32%) หาแหล่งรายได้ใหม่ (30%) และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (29%)

 

“ต้นทุนพุ่ง” จากเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยลบ

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า 90% ของธุรกิจที่สำรวจได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อมาตั้งแต่ปี 2565

61% ของธุรกิจบอกว่าบริษัทของตนมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น และ 44% กล่าวว่ากำไรลดลงจากปัญหานี้

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมีผลจากความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัจจัยนี้ทำให้บริษัท 2 ใน 5 ที่สำรวจระบุว่าซัพพลายเชนของธุรกิจได้รับผลกระทบ และทำให้ต้นทุนสูง

ถึงแม้ว่าปัจจัยลบเหล่านี้ยังคงอยู่ แต่ 63% ของธุรกิจที่สำรวจยังมองบวกว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว และน่าจะปรับลดลงได้ภายใน 6 เดือนถึง 2 ปี

กลยุทธ์ธุรกิจ: มองหาการขยายไปต่างประเทศ

ผลสำรวจนี้ยังพบด้วยว่า 90% ของธุรกิจต้องการจะขยายไปยังต่างประเทศภายใน 3 ปี เพื่อทางเพิ่มรายได้ เพิ่มกำไร และสร้างภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติ

โดยธุรกิจที่ต้องการขยายไปต่างประเทศมากที่สุดคือ กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจค้าส่งและส่งออก (96%) เป้าหมายหลักที่บริษัทเหล่านี้ต้องการขยายไปคือ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และจีน อย่างไรก็ตาม มีส่วนหนึ่งเหมือนกันที่สนใจจะขยายไปนอกภูมิภาคเอเชีย (คิดเป็น 1 ใน 3)

ทั้งนี้ ความท้าทายหลักที่ภาคธุรกิจเผชิญเวลาขยายธุรกิจไปต่างประเทศคือ ขาดความรู้ทางกฎหมาย กฎระเบียบ และภาษี รวมถึงขาดพันธมิตรที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ปรับตัวสู่ดิจิทัล ส่วนความยั่งยืน…ยังต้องรอก่อน

เทรนด์การดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในโลกและในไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า บริษัทพร้อมแล้วที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ดำเนินธุรกิจ โดย 92% ของบริษัทไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจอย่างน้อย 1 หน่วยงาน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย

ธุรกิจมักจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น บริการลูกค้าได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วน SMEs ไทยส่วนใหญ่จะใช้เพื่อปรับกระบวนการธุรกิจ

ส่วนความสนใจด้านความยั่งยืน 96% ของบริษัทที่สำรวจสนใจแนวทางทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน มองว่ากลยุทธ์ด้านความยั่งยืนจะช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของบริษัทให้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถดึงดูดพนักงานใหม่และนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจนี้พบว่าแม้ 9 ใน 10 ของธุรกิจไทยจะประกาศเป้าหมายแล้วว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero emission) แต่มีเพียง 51% ที่นำแนวคิดด้านความยั่งยืนมาปฏิบัติอย่างจริงจัง

เหตุที่บริษัทเกือบครึ่งหนึ่งที่สำรวจยังไม่ได้ปฏิบัติจริง 1 ใน 3 ของเหตุผลคือความกังวลว่าแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนจะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น กระทบต่อกำไรบริษัท

สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งให้บริษัทในประเทศไทยเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล และผนึกกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเพื่อรับมือต่อวิกฤตที่เข้ามา โดยยังสามารถปรับตัวให้ธุรกิจมีผลกำไรและเติบโตไปข้างหน้าท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน บริษัทที่ยังไม่พร้อมนำแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาลมาใช้อาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้ตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย