ผลสำรวจจากอิปซอสส์ (Ipsos) ได้สำรวจผู้บริโภคของไทยพบว่ามุมมองต่อเศรษฐกิจนั้น 79% มองว่าเศรษฐกิจนั้นกำลังอยู่ในสภาวะถดถอย ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ขณะเดียวกันก็กังวลในปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ปัญหาเงินเฟ้อ หรือแม้แต่ดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงมากขึ้น
อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Ipsos) ได้เปิดเผยถึงผลรายงานการวิจัย “What wories the world and Wories Thailand” ซึ่งสำรวจมุมมองผู้บริโภคโดยตรง 23,039 คนจาก 29 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยที่ได้สำรวจผู้บริโภคจำนวน 1,000 คนที่มีอายุ 18 ปีถึง 65 ปี
กรรมการผู้จัดการของ Ipsos ประเทศไทยได้กล่าวถึงผลสำรวจล่าสุดว่าผู้บริโภคยังกังวลเรื่องของเงินเฟ้อ จากผลของรัสเซียบุกยูเครน ซึ่งมีความขัดแย้งกันจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ประเด็นรองลงมาคือเรื่องความยากจน-ความไม่เท่าเทียม ขณะที่เรื่องของโควิดลดลงไปแล้ว
สำหรับผลสำรวจในประเทศไทย ผู้บริโภคยังคงกังวลเรื่องสังคมการเมืองเป็นอันดับ 1 ขณะที่อันดับ 2 คือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม อันดับ 3 การจับจ่ายใช้สอยจากปัญหาเงินเฟ้อ อันดับ 4 คือเรื่องของการว่างงานซึ่งกลับมาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อุษณาได้ให้เหตุผลว่าข่าวการเข้ามาของเทคโนโลยี AI นั้นส่งผลในผลสำรวจนี้อย่างมาก
ขณะที่เรื่องของอาชญากรรมปัญหาความรุนแรงถือว่าต่ำสุดในผลสำรวจล่าสุดนี้ โดยผู้บริหารของ Ipsos มองจากผลสำรวจว่าถ้าหากรัฐใช้กลไกกฎหมายที่ดี และเรื่องของปัจจัยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ก็อาจทำให้ปัจจัยดังกล่าวนี้ดีขึ้นกว่านี้ได้
นอกจากนี้ในผลสำรวจได้กล่าวถึงความไม่เท่าเทียมด้านโอกาสถือเป็นเรื่องที่คนไทยเริ่มพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยหลักๆ มาจากเรื่องของความพิการ หรือแม้แต่เรื่องอื่นๆ อย่างเช่น ความผิดปกติทางสมอง คนที่มีปัญหาเรื่องสภาวะจิตใจ หรือแม้แต่เรื่องของชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับโอกาส
ในผลการวิจัยของ Ipsos ชี้ว่าปัญหาสังคมที่ควรแก้นั้นผู้ที่ควรรับผิดชอบคือรัฐบาล รองลงมาคือสื่อสารมวลชน หรือแม้แต่การเริ่มแก้ปัญหาในองค์กรก็สามารถทำได้เช่นกัน ไม่เพียงเท่านี้ผลสำรวจคนไทย 61% ชี้ว่าต้องสร้างงานหรือแม้แต่เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการเข้ามาดูแลในเรื่องสุขภาพจิตสุขภาพกาย เป็นต้น
เรื่องเศรษฐกิจไทย
ผลการวิจัยล่าสุดของ Ipsos ยังชี้ว่า 72% ของผลสำรวจมองว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงสุดในอาเซียน ในขณะที่ประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์อยู่ที่ 37% อินโดนีเซียอยู่ที่ 47% เท่านั้น ขณะค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่บริษัทได้ทำการสำรวจผู้บริโภคใน 29 ประเทศนั้นอยู่ที่ 49% เท่านั้น
ขณะเดียวกัน 25% ของผู้สำรวจยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเงินในกระเป๋า ซึ่งเรื่องใหญ่นั้นมาจากเรื่องของค่าใช้จ่าย เช่นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน รวมถึงค่าอาหาร ซึ่งผลสำรวจนั้นใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกราวๆ 60-70% และมุมมองของคนไทยมองว่า 6 เดือนหลังจากนี้มากกว่า 64% มองว่าค่าใช้จ่ายข้างต้นจะเพิ่มขึ้น
สำหรับมุมมองปัญหาด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นผลสำรวจชาวไทยนั้นให้มุมมองว่าเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถึง 81% รองลงมาคือนโยบายของรัฐบาล และผลของอัตราดอกเบี้ย ตามลำดับ
ไม่เพียงเท่านี้ผลสำรวจของคนไทยยังมองว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้มากถึง 56% แม้ว่าสัญญาณเงินเฟ้อจะลดลงในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยนั้นผลสำรวจชี้ว่า 54% มีโอกาสน่าจะขึ้น แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
อย่างไรก็ดีมุมมองของคนไทย 61% ที่ทำแบบสำรวจมองว่า 6 เดือนหลังจากนี้ทุกอย่างจะดีขึ้นกว่านี้ เพิ่มขึ้นจาก 56% จากผลวิจัยล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ 67% ยังมองว่าประเทศไทยนั้นเดินมาถูกทางแล้ว ตัวเลขดังกล่าวนี้มากที่สุดในรอบ 6 เดือนของผลสำรวจ
ขณะที่ภาพรวมอื่นๆ ผลสำรวจมองว่าเรื่องของอัตราว่างงานของไทย การใช้เงินภาษีของรัฐบาลน่าจะดีขึ้นหลังจากนี้ แต่เรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้นยังถือเป็นเรื่องท้ายๆ โดย 19% มองว่าดีขึ้น แต่ยังมากกว่าผลวิจัยในเดือนพฤศจิกายนของปี 2022 ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 12% เท่านั้น
กรรมการผู้จัดการของ Ipsos ประเทศไทย ยังได้ทิ้งท้ายว่า ในช่วงเวลาเช่นนี้แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคต่างๆ ควรจะดูแลลูกค้าที่มีความ Loyalty เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เนื่องจากลูกค้าจะไม่ค่อยเปลี่ยนการใช้สินค้าในช่วงเวลานี้มากเท่าไหร่นัก