ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังของปี 2023 โดยมองการส่งออกของไทยเสี่ยงถดถอย หนี้ครัวเรือนที่สูง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่ไม่ได้กระทบเพียงแค่ภาคการเกษตรเท่านั้น อย่างไรก็ดียังมองว่า GDP ไทยในปีนี้ยังโตได้ 3.7%
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง จะเห็นภาพการขยายตัวที่ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 28.5 ล้านคน โดยยังคาดว่า GDP ไทยจะเติบโตได้ 3.7%
ในขณะเดียวกันก็ยังได้ปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยหลายตัวเลข เช่น อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.25%
อย่างไรก็ดีศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีความท้าทายหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังจากนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนั้นจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังรวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนด้วย แต่ถ้าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ก็อาจเป็นแรงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ได้
ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนชะลอตัว
ผู้บริหารของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจีนเริ่มฟื้นตัวได้อ่อนแรงลง เห็นสัญญาณหดตัวของภาคการผลิต นอกจากนี้ประชาชนไม่ได้จับจ่ายใช้สอยมากกว่าเดิม จีนถือเป็นตลาดส่งออกหลัก หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาในอาเซียนซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ดีศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าภาคการส่งออกของไทยจะส่งออกไปยังจีนเติบโตได้ 3.4% ในปีนี้ แต่ถ้าหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการอุปโภค และมองว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะฉุดภาคการส่งออกอาจแย่กว่าคาดนั้นเป็นไปได้
ขณะเดียวกันณัฐพรมองว่า ถ้าหาก GDP จีนไม่ได้โตถึง 5% อาจกระทบกับ GDP ไทยได้ 0.3% ซึ่งกระทบกับปัจจัยคือในเรื่องของการส่งออก ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมนั้นจะส่งผลกระทบกับหลายประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้ากับจีน และส่งผลกลับมายังไทยเนื่องจากมีคู่ค้ากับหลายประเทศในอาเซียน นอกจากนี้ยังรวมถึงภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย
ภัยแล้งและเอลนีโญที่อาจกระทบไทยหลังจากนี้
เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นอกจากภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรแล้วนั้น ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบนี้ อาจกดดันภาคการผลิตและบริการที่ใช้น้ำในสัดส่วนสูง เช่น การผลิตอาหาร การผลิตอโลหะ หรือแม้แต่โรงพยาบาล รวมถึงโรงแรม
ความเสี่ยงของภาคต่างๆ ที่อาจได้รับผลดังกล่าวคือภาคกลาง และภาคตะวันออก ที่มีมีปริมาณเก็บกักน้ำน้อย ขณะเดียวกันตามภาคต่างๆ ของไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ฝนตกน้อยกว่าคาดได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทยที่ใช้ปริมาณน้ำจำนวนมาก
มองว่าภาคการเกษตรอาจมีความสูญเสียมากถึง 48,000 ล้านบาท คาดว่าผลที่จะได้เห็นจากปรากฏการณ์เอลนีโญคือไตรมาส 4 ของปีนี้
หนี้ครัวเรือนยังกดดัน
ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้กล่าวถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มมากขึ้น โดยในไตรมาส 1 ของปี 2023 ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึง 90.6% ของ GDP ไทย ซึ่งปัญหาดังกล่าวกดดันเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกาารณ์ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในช่วงสิ้นปี 2023 จะอยู่ในกรอบประมาณ 88.5 ถึง 91.0% อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าระดับที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้โดยไม่สะดุดภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้
ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำให้หนี้ใหม่โตช้าลง และหนี้เก่าลดลงเร็วขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้คลินิกแก้หน้ี ไปจนถึงการปรับโครงสร้างหนี้
ในส่วนของหนี้ครู หรือ หนี้ของข้าราชการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าคิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของยอดหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย ไปจนถึงกระทรวงต่างๆ ก็ควรจะมีการยกประเด็นดังกล่าวมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ธัญญลักษณ์ยังมองหลายปัจจัยที่จะทำให้หนี้ต่อครัวเรือนลดลงคือเรื่องของรายได้ของครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะต้องดีกว่า 5.5% ภายใน 5 ปี ถึงจะทำให้อัตราส่วนหนี้ของครัวเรือนลงมาแตะที่ 80% ได้ ซึ่งเป็นโจทย์ของรัฐบาลใหม่หลังจากนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังประเมินว่าในกรณีที่แย่ที่สุดเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้เพียง 2.5% เท่านั้นในปีนี้