มองโอกาสตลาด ‘โซลาร์เซลล์ไทย’ ที่อาจมีมูลค่ามากกว่า 6 หมื่นล้าน!

ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการใช้ พลังงานสะอาด เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่หลายคนเจอกับ ค่าไฟ แสนแพง ทำให้เริ่มตื่นตัวกับพลังงานจาก แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ หลายคนคงสงสัยแล้วตลาดโซลาร์เซลล์ของไทยนั้น ใหญ่ ขนาดไหน และมีโอกาสให้สอดแทรกอย่างไรได้บ้าง

มองสถานการณ์พลังงานสะอาดโลก

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) มองว่า ปีนี้กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 3 เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางพลังงาน และภาครัฐที่บังคับใช้นโยบาย โดย พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม จะเป็น ตัวขับเคลื่อนหลัก ที่ทำให้พลังงานสะอาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ กำลังผลิตพลังงานทดแทนทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 107 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยคาดว่าในปีหน้ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะแตะ 4,500 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งเทียบเท่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าของจีนและสหรัฐอเมริการวมกัน

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุว่า โซลาร์เซลล์ จะเพิ่มขึ้นราว 2 ใน 3 และคาดว่าจะยังมีการเติบโตต่อเนื่องในปี 2024 เนื่องจากราคาค่าไฟของโลกเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้คนเริ่มหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขณะที่ พลังงานลม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

โซลาร์เซลล์ไทยมีเพียง 3,000 เมกะวัตต์

สำหรับสถานการณ์ด้านพลังงานสะอาดของไทยนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ ประธานที่ปรึกษา สมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าใหม่กรอบปี 2018-2025 อยู่ที่ 20,343 เมกะวัตต์ เป็นส่วนแบ่งของ โซลาร์เซลล์ 3,000 เมกะวัตต์ มากสุดในกลุ่ม ตามด้วย กังหันลม 1,500 เมกะวัตต์

ส่วนกรอบปี 2018-2037 จะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ เป็นส่วนแบ่งของพลังงานสะอาดรวมโซลาร์เซลล์และกังหันลม 18,833 เมกะวัตต์

“เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เฉลี่ยวัตต์ละ 80 บาท แต่ปัจจุบันเหลือ 10 บาทเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลที่แนวโน้มมีแต่จะสูงขึ้น ดังนั้น ต่อไปไม่มีทางจะหนีพ้นการใช้พลังงานสะอาด และไม่มีอะไรจะชนะพลังงานแสงอาทิตย์และลมได้”

โอกาสมากกว่า 60,000 ล้านบาท

ไววิทย์ อุทัยเฉลิม กรรมการบริหาร บริษัท ซันเดย์ โซลาร์ ซัพพลาย จำกัด ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ครบวงจร กล่าวว่า หากนับเฉพาะแผนการผลิตพลังงานของไทย (Power Development Plan : PDP) ที่ต้องการผลิตพลังงานสะอาดให้ได้แตะ 20,000 เมกะวัตต์ คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท ดังนั้น ตลาดโซลาร์เซลล์ของไทยจะมีมูลค่ามากกว่า 6 หมื่นล้านแน่นอน

อย่างในส่วนภาค ครัวเรือน มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ติดโซลาร์เซลล์ อย่างเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีครัวเรือนกว่า 3 ล้านหลัง แต่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์อยู่ ไม่ถึง 10% แต่ภายใน 3 ปีจากนี้ คาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 20% เพราะผู้บริโภคมีความตื่นตัวมาก หลังจากที่ค่าไฟสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงนโยบายจากทางภาครัฐก็มีการสนับสนุน และธนาคารก็มีการให้กู้เพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ด้วย

“ตอนนี้เดเวลอปเปอร์ก็หันมาติดโซลาร์เซลล์ในโครงการกันหมด มีโปรโมชันใช้ไฟฟรีเพื่อดึงดูดลูกค้า และต่อไปการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็จะเหมือนมือถือ ที่มีราคาถูงลงเรื่อย ๆ ดังนั้นตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก”

ผนึกทงเวย โซลาร์ เบอร์ 1 ของโลก

สำหรับ ซันเดย์ โซลาร์ ล่าสุดได้เป็นตัวแทนจำหน่ายในไทยแต่เพียงรายเดียวของ ทงเวย โซลาร์ แบรนด์ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ (Photovoltaic: PV) ชนิดผลึกซิลิคอนรายใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติจีน ปัจจุบัน ทงเวย เป็นหนึ่งในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศจีน โดยในปี 2022 มีผลประกอบการรวมประมาณ 783,241 ล้านบาท

ทงเวย มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ 6 แห่งในประเทศจีน ได้แก่ เหอเฟย, ซวงหลิว, เหม่ยซาน, จินถัง, เหยียนเฉิง, หนานทง และที่โครงการทงเหอ มีการส่งออกผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ (modules) ไปยัง 48 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีเหมืองซิลิคอนที่สามารถซัพพลายผนึกซิลิคอนให้กับบริษัทผู้ผลิต PV ชั้นนำ อาทิ Jinko, JA, Cannadian, LONGI, Trina, เป็นต้น

ปัจจุบัน ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ครบวงจรในไทยมีประมาณ 15-20 บริษัท เฉพาะบริษัทที่มีพาร์ตเนอร์เป็นบริษัทใหญ่แบบทงเวยมีไม่ถึง 5 บริษัท ดังนั้น การแข่งขันจึงไม่ได้สูง โดย ซันเดย์ โซลาร์ จะจับลูกค้าองค์กรเป็นหลัก เช่น กลุ่มผู้รับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ลูกค้าธุรกิจ ผู้ประกอบกิจการ โรงงาน สถานประกอบการ และโครงการอสังหาริมทรัพย์

โดยในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้ 2,000 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ตั้งเป้า 3 ปี มีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท และภายใน 5 ปีตั้งเป้าโกยรายได้ 10,000 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนจะรุกตลาดอีวีด้วย อาทิ หัวชาร์จอีวีชาร์จเจอร์ แบตเตอรี่สำหรับรถและโรงงานไฟฟ้า

“เราจะทำหมดเดี่ยวกับพลังงานสะอาด อย่างตลาดอีวีเราก็จะไปแน่แต่ไม่ได้ไปทำสถานีชาร์จ แต่จะนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์แทน”