นับตั้งแต่ปี 2554 ที่ ญี่ปุ่น เจอกับภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เกิดจากแผ่นดินไหว และสึนามิ ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าพลังงาน 90% ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มมุ่งเน้นไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยนวัตกรรมใหม่ เพอร์รอฟสไกต์
ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่น วางแผนที่จะ ผลิตไฟฟ้าประมาณ 20 กิกะวัตต์ ภายในปี 2583 ซึ่งเทียบเท่ากับผลผลิตของ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 20 เครื่อง ผ่านเซลล์แสงอาทิตย์ชนิด เพอร์รอฟสไกต์ (perovskite solar cell) ซึ่งมีจุดเด่นที่ความเบาบาง ยืดหยุ่นมากกว่าเมื่อเทียบกับเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วไป
เนื่องจากญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากชิลีในการผลิต ไอโอดีน ซึ่งเป็นวัสดุหลักสําหรับการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เพอร์อฟสไกต์ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า เซลล์แสงอาทิตย์ชนิด เพอร์รอฟสไกต์รุ่นต่อไปจะเป็นกุญแจสําคัญในการขยายการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอร์รอฟสไกต์ ถือเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ง่าย ไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต และมีประสิทธิภาพการแปลงพลังงานไฟฟ้าที่สูงเทียบเท่าเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดซิลิคอน
อีกข้อดีของเซลล์แสงอาทิตย์ประเภทเพอรอฟสไกต์คือ ด้วยความบางเบาและยืดหยุ่น ทำให้มีศักยภาพในการติดตั้งที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นผนังและหน้าต่างของอาคาร รถยนต์ เครื่องบินและโดรน เซ็นเซอร์ IoT รวมถึงสมาร์ทโฟน ฯลฯ
ทั้งนี้ บริษัทอย่าง Sekisui Chemical Co กําลังทํางานเกี่ยวกับการนําเซลล์แสงอาทิตย์ perovskite ไปขายในเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะเปิดตัวเทคโนโลยีตัวเต็มภายในปี 2573 เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวยังมีความท้าทายหลายอย่างที่ยังคงต้องเอาชนะ เช่น อายุการใช้งานที่สั้น เนื่องจากความทนทานของเซลล์ที่ไม่ดีและการลดต้นทุน
ปัจจุบัน การผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของญี่ปุ่นมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของภาพรวมทั่วโลก ซึ่งลดลงจากประมาณ 50% ในปี 2547 เนื่องจาก จีน ได้ขึ้นแท่นเป็น ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์ perovskite ในอนาคต หลังจากส่งเสริมเทคโนโลยีในฐานะพลังงานหมุนเวียนที่สําคัญในประเทศ