“ฮิตาชิ-สยามกลการ” นำเข้าโซลูชัน Smart Building ต่อยอดธุรกิจ “ลิฟต์” เจาะตลาดออฟฟิศ

“ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์” บริษัทจำหน่าย “ลิฟต์” ร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่นกับกลุ่ม “สยามกลการ” เปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ โซลูชัน Smart Building ระบบบริหารอาคารด้านความปลอดภัยและดิจิทัล หวังชิงตลาดครบวงจรในโครงการ เริ่มต้นเน้นกลุ่ม “อาคารสำนักงาน” และ “มิกซ์ยูส” ประเดิมโชว์เคสในอาคาร “สยามปทุมวันเฮ้าส์” ที่จะเปิดบริการปี 2566

โซลูชัน Smart Building บริหารจัดการอัจฉริยะ เป็นระบบที่ถูกพูดถึงมาแล้วระยะหนึ่งในไทย และจะเห็นว่าหลายอาคารเริ่มนำมาใช้งานจริง มีผู้เล่นในตลาดหลายราย แต่ละรายก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไป เมื่อตลาดเปิดเต็มที่ ทำให้อีกหนึ่งกลุ่มทุนใหญ่ขยับ

“ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์” (ประเทศไทย) เป็นบริษัทจำหน่าย-ติดตั้ง ลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อน โดยร่วมทุนกันระหว่าง ฮิตาชิ จากญี่ปุ่น และกลุ่ม “สยามกลการ” ล่าสุด  “ประกาสิทธิ์ พรประภา” กรรมการบริหาร บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความเคลื่อนไหวของบริษัท นำเข้าโซลูชัน Smart Building จากญี่ปุ่นเข้ามาให้บริการในไทย เป็นธุรกิจต่อยอดให้ลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น

เทคโนโลยีนี้ในญี่ปุ่นใช้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี รวมถึงในระดับโลกมีการประเมินว่าธุรกิจประเภทนี้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ระหว่างปี 2562-2567 ประกาสิทธิ์กล่าวว่า ในไทยยังไม่มีการประเมินมูลค่าตลาดอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าจะโตได้ไม่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก เพราะจากการพูดคุยกับลูกค้า เริ่มมีความสนใจเทคโนโลยีนี้สูงขึ้น เนื่องจากลูกค้ามองว่าจะช่วยทำให้อาคารของตนแตกต่างจากคู่แข่ง ดึงดูดผู้เช่าได้ดีขึ้น

Smart Building
ภาพจำลอง Hitachi Smart Building

“เซอิจิโร่ อิชิซึ” ผู้จัดการทั่วไป แผนก Social Innovation Business บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายถึงโซลูชันของบริษัทมี 2 ฟังก์ชันหลักที่บริการได้ คือ

  1. Physical Securityติดตั้งระบบสแกนใบหน้า (facial recognition) สำหรับผ่านแท่นกั้นล็อบบี้อาคาร และสแกนเพื่อขึ้นลิฟต์ไปยังชั้นที่ได้รับอนุญาต รวมถึงระบบสแกนใบหน้าแลก Visitor Pass เป็น QR CODE เพื่อใช้ผ่านเข้าออกอาคารชั่วคราว ไปจนถึงการใช้ระบบ Parking Pass สแกนทะเบียนรถให้เข้าออกที่จอดรถได้สะดวก
  2. Digital Solutionแอปพลิเคชันสำหรับอาคาร เพื่อเป็นระบบพูดคุยระหว่างผู้บริหารอาคารกับผู้เช่า และประกาศข่าวสาร-กิจกรรมให้ผู้ใช้อาคารทราบ รวมไปถึงผู้ใช้อาคารสามารถจองห้องประชุมส่วนกลางผ่านแอปฯ ได้ สั่งอาหารจากร้านค้าในอาคารและชำระเงินผ่านแอปฯ โดยตรง

 

เปลี่ยนจากพาร์ตเนอร์ มาครองตลาด Smart Building

อิชิซึกล่าวต่อว่า คู่แข่งในประเทศไทยในตลาดนี้มีอยู่หลายราย แต่ส่วนใหญ่เจ้าอื่นๆ จะบริการฟังก์ชันใดฟังก์ชันหนึ่ง คือเป็นผู้บริการด้านความปลอดภัย หรือบริการด้านแอปพลิเคชัน แต่ฮิตาชิมองว่าตนเองจะเป็นเจ้าแรกในไทยที่สามารถรวมทั้งสองฟังก์ชันเข้าด้วยกัน

“กิติสร ปุณณะหิตานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปกติการติดตั้งลิฟต์ บริษัทจะเป็นพาร์ตเนอร์ที่ต้องเชื่อมโยงเข้ากับบริการจัดการอาคารอัจฉริยะของอีกบริษัทหนึ่งอยู่แล้ว ขณะที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นสามารถให้บริการนี้ได้ จึงมองว่าเป็นโอกาสธุรกิจที่จะนำเข้ามาเสนอให้ลูกค้าติดตั้งลิฟต์ได้ครบวงจร รวมถึงให้บริการแยกกับลิฟต์ของแบรนด์อื่นได้เช่นกัน

 

โชว์เคสที่ “สยามปทุมวันเฮ้าส์”

ปัจจุบัน ตลาดลิฟต์ประเทศไทยมีการติดตั้งประมาณปีละ 5,000-6,000 ตัว โดยกิติสรประเมินว่า ฮิตาชิครองตลาดอยู่ในกลุ่ม Top 3 จึงมีฐานตลาดที่จะต่อยอด โดยขณะนี้มีลูกค้าติดตั้งแล้ว 3-4 ราย ไม่รวมที่กำลังติดตั้งในอาคาร “สยามปทุมวันเฮ้าส์” ของสยามกลการ

ทีมผู้บริหาร บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด: (จากซ้าย) “เซอิจิโร่ อิชิซึ” ผู้จัดการทั่วไป แผนก Social Innovation Business, “ประกาสิทธิ์ พรประภา” กรรมการบริหาร และ “กิติสร ปุณณะหิตานนท์” กรรมการผู้จัดการ

ประกาสิทธิ์กล่าวในส่วนนี้ว่า อาคารสยามปทุมวันเฮ้าส์ ตึกออฟฟิศสูง 32 ชั้นที่จะก่อสร้างเสร็จไตรมาส 1/2566 บริเวณโชว์รูมฮอนด้าเก่า ใกล้กับหอศิลป์ กทม. พื้นที่เช่า 50,000 ตร.ม. จะเป็นโชว์เคสที่ติดตั้งระบบทั้งหมดในเครือสยามกลการ ไม่ว่าจะเป็นแอร์ไดกิ้น ลิฟต์ฮิตาชิ และใช้โซลูชัน Smart Building ของฮิตาชิแบบครบวงจร

“โซลูชันแบบนี้จะสร้างคุณค่าเพิ่ม (value added) ให้กับเจ้าของตึก เพราะผู้เช่ายุคนี้ต้องการความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และต้องการไลฟ์สไตล์การเชื่อมโยงกันในชุมชน” ประกาสิทธิ์กล่าว “ออฟฟิศในอนาคต จากการทำงานแบบไฮบริด ทำให้อาคารสำนักงานยุคใหม่จะมีห้องประชุมส่วนกลางให้บริษัทในอาคารจองใช้ได้ ดังนั้น จึงต้องมีแอปฯ ไว้สำหรับจองใช้พื้นที่ส่วนกลางเหล่านี้”

นอกจากอาคารสำนักงานและมิกซ์ยูสที่เป็นเป้าหมายแรกแล้ว ตลาดอื่นๆ ก็มีความสนใจจะรุกตลาดถัดไป เช่น ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม โรงงาน แต่แต่ละตลาดก็มีความต้องการต่างกันไป ทำให้ต้องใช้เวลาศึกษา

 

ตลาด “ลิฟต์” สะดุดจาก COVID-19

กิติสรกล่าวต่อถึงธุรกิจหลักของฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ คือ “ลิฟต์” ตลาดนี้จะแปรผันตามโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ทำให้ช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบบ้าง เพราะวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กชะลอการพัฒนาโครงการ ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ยังเดินหน้าต่อ

ส่วนของฮิตาชิเอง ตลาดใหญ่จะเป็นกลุ่มอาคารสำนักงาน คอนโดฯ โรงแรม ศูนย์การค้า โรงพยาบาล แต่เมื่อตลาดหลักเริ่มฝืด ทำให้บริษัทมีการหาตลาดใหม่ๆ ที่บูมขึ้นมากในช่วงนี้คือ บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี และอาคารตึกเตี้ย ที่มีการติดตั้งลิฟต์ในตัวสูงขึ้น จากกระแสสังคมสูงวัย ผู้อยู่อาศัยจำเป็นต้องมีลิฟต์เพื่อความสะดวกสบาย

การแข่งขันในตลาดลิฟต์คุณภาพสูง ยังคงแข่งขันกันที่คุณภาพลิฟต์ ปลอดภัย เสียน้อยครั้ง หากเสียหายมีบริการซ่อมแซมที่รวดเร็ว ทำให้ปีนี้ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์จะเพิ่มหน่วยบริการหลังการขายครอบคลุมมากขึ้น มีขยายไปยังหัวเมืองหลักเพิ่ม เพราะในต่างจังหวัดก็มีตึกสูงเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มตึกคอนโดฯ และโรงแรม