TOSSAKAN จาก “สกาย ไอซีที” พลิกโฉมธุรกิจ “รักษาความปลอดภัย” ด้วย AI จดจำใบหน้า

สกาย ไอซีที
มาตรการ “รักษาความปลอดภัย” ในอาคารต่างๆ แม้จะมีกล้องวงจรปิดครบทุกมุมแล้วแต่ก็อาจจะยังมีช่องโหว่ที่ “มนุษย์” เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ทันทุกมุมกล้อง ทำให้แพลตฟอร์ม TOSSAKAN ในเครือ “สกาย ไอซีที” ต้องการเข้ามาอุดช่องโหว่ตรงนี้ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ตรวจจับใบหน้า และแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุได้ทันท่วงที

ภาพจากกล้องวงจรปิดจะไม่ใช่แค่หลักฐานมัดตัวคนร้ายอีกต่อไป แต่กลายเป็นระบบอัจฉริยะแจ้งเตือนได้ทันต่อสถานการณ์ จากการพัฒนาของทีม ‘Tech Transform’ ในเครือ บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) บริษัทที่กำลัง ‘เปลี่ยน’ ตนเองจากคู่ค้าของภาครัฐ มาสู่การทำงานกับภาคเอกชน เพื่อให้บริษัทเติบโตได้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

Positioning มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บมจ.สกาย ไอซีที ถึงการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์บริษัทครั้งนี้ โดยขยลเล่าถึงธุรกิจพื้นฐานของสกาย ไอซีทีก่อนว่า ธุรกิจดั้งเดิมของบริษัททำงานบริการด้านไอทีอยู่แล้ว โดยเป็น System Integration (SI) คือเป็นผู้รวบรวมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใดๆ ก็ได้ที่มีอยู่ในตลาด นำมาทำงานร่วมกันเพื่อให้ออกมาเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีที่สุด

“ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บมจ.สกาย ไอซีที

คู่ค้าสำคัญที่บริษัทให้บริการ เช่น ท่าอากาศยานไทย (AOT), กรมศุลกากร, ตำรวจปราบปรามยาเสพติด, กรุงเทพมหานคร ฯลฯ โดยบริษัทสามารถหาโซลูชันให้ได้หลากหลายตั้งแต่การติดตั้งระบบโทรคมนาคม จนถึงการบริการภาคพื้น (Ground Services) ในสนามบิน แต่หนึ่งในสิ่งที่สกาย ไอซีเชี่ยวชาญคือด้านบริการรักษาความปลอดภัย

ยกตัวอย่างเช่น กล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานครนั้นมีการประมูลฮาร์ดแวร์เข้ามาติดตั้งเป็นเขตๆ ไป ทำให้แต่ละเขตใช้กล้องวงจรปิดคนละยี่ห้อ สกาย ไอซีทีจึงมีหน้าที่จัดตั้ง Command Center เพื่อบูรณาการข้อมูลไว้ด้วยกัน และจุดนี้เองที่ทำให้บริษัทเริ่มมีการนำ AI มาใช้ตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน และมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลภายในบริษัท

เมื่อเร็วๆ นี้ สกาย ไอซีทีมีการปรับกลยุทธ์ภายในบริษัทเพื่อจะเติบโตต่อ แม้ว่ารายได้เมื่อปี 2563 จะทำได้ 3,542 ล้านบาท และมีแบ็กล็อกรายได้จากงานภาครัฐอีก 10 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท แต่บริษัทต้องการจัดสมดุลพอร์ต รับงานภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยขยลกล่าวว่า ปี 2565 นี้บริษัทตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้จากเอกชนราว 10-15%

การขยายไปภาคเอกชนของบริษัทมาพร้อมการตั้งทีม Tech Transform โดยให้ชื่อทีมงานว่า ‘Nebula’ แตกทีมออกไป 40-50 คน มีเป้าหมายพัฒนาบริการใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีภายในของบริษัทเอง ซึ่งล่าสุดมีแพลตฟอร์มหัวหอกจากทีมนี้ที่เริ่มบุกตลาดก่อนแล้วคือ TOSSAKAN ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านรักษาความปลอดภัยมาสู่ตัวอาคารของภาคเอกชน

 

TOSSAKAN ยักษ์ AI จดจำใบหน้า

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีแต่กล้อง ไม่มีระบบตรวจจับ ก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ทำให้สกาย ไอซีทีลงทุน 500 ล้านบาทเพื่อนำเทคโนโลยีตั้งต้นจากบริษัท 2 แห่งมาใช้พัฒนาต่อ โดยแห่งหนึ่งเป็นบริษัทจีนที่ให้บริการด้าน Facial Recognition และอีกบริษัทเป็นบริษัทไทยที่ทำงานด้าน e-KYC ระบบยืนยันตัวตนคู่กับบัตรประชาชน

การนำเทคโนโลยีทั้งสองแบบมารวมกัน ทำให้ระบบของ TOSSAKAN ปัจจุบันให้บริการได้ 3 ด้าน ได้แก่

1.ระบบ AI จดจำใบหน้าในกล้องวงจรปิด พร้อมแจ้งเตือนผู้บุกรุก

แพลตฟอร์มสามารถตรวจจับใบหน้าได้ หากพบใบหน้าที่ไม่ตรงกับฐานข้อมูล ระบบจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เพื่อเข้าตรวจสอบได้ทันท่วงที และสกาย ไอซีทีเองมี ศูนย์สั่งการอัจฉริยะด้านความปลอดภัย (Security Operation Center: SOC) ช่วยเสริมทัพลูกค้าได้ 24 ชั่วโมงในการสอดส่องเหตุการณ์และติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

2.ระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าและแลกบัตร Visitor

หากติดตั้งระบบสแกนใบหน้าเพื่อขึ้นสู่อาคารแล้ว ในกรณีที่มีผู้มาติดต่อ (Visitor) ที่อาคาร สามารถให้ Visitor เสียบบัตรประชาชนที่ Kiosk และสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน จากนั้นไม่ต้องแลกเป็นบัตรใดๆ แต่ใช้ใบหน้าที่ลงทะเบียนแล้วขึ้นสู่อาคารได้เลย โดยเมื่อใช้คู่กับระบบรักษาความปลอดภัย AI จะตรวจจับได้ด้วยว่า Visitor รายนั้นออกนอกพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้หรือไม่

3.ระบบสแกนแผ่นป้ายทะเบียนรถ

คล้ายคลึงกับระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า AI ของแพลตฟอร์มเรียนรู้การอ่านแผ่นป้ายทะเบียนรถได้แล้ว และใช้ในการสแกนยานพาหนะเข้าสู่พื้นที่ กรณีที่เป็นรถยนต์ของ Visitor ก็สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ได้เพื่อให้รถของผู้มาติดต่อผ่านเข้าออกได้ชั่วคราว

TOSSAKAN

จะเห็นได้ว่าบริการของ TOSSAKAN อยู่ในสถานะกึ่ง SecurityTech และ PropTech เพราะมีฟังก์ชันที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายขึ้นสำหรับผู้ใช้พื้นที่อสังหาริมทรัพย์ด้วย

ขยลกล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทที่จะรุกการบริการอสังหาฯ มองพื้นที่บริการทั้งหมด 7 ประเภท คือ อาคารสำนักงาน, โรงงาน, ศูนย์การค้า, โรงแรม, โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย และ คอนโดมิเนียม-หมู่บ้านจัดสรร

ปัจจุบันมี 10 บริษัทที่นำร่องนำแพลตฟอร์มไปใช้งานแล้ว (บางบริษัทใช้งานมากกว่า 1 แห่ง) ส่วนใหญ่เป็นอาคารสำนักงานและโรงงาน รวมถึงมีคอนโดฯ ที่ดีลสัญญาจ้างไว้เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทวางสัญญาเป็นระบบค่าสมาชิก (Subscription Base)

 

เฟสต่อไป…สอน AI ให้อัจฉริยะยิ่งขึ้น

แม้ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีตั้งต้นเข้ามาจากบริษัทอื่น แต่ทีม TOSSAKAN มีงานที่ต้องทำต่อก่อนจะออกเป็นโปรดักส์พร้อมใช้แบบนี้ โดยขยลกล่าวว่า เนื่องจากเป็นดาต้าจากจีน ทำให้ AI ต้องมาเรียนรู้ใหม่กับ ‘ใบหน้าคนไทย’ และกรณีป้ายทะเบียนรถ ก็ต้องเรียนรู้ใหม่เป็นป้ายทะเบียนภาษาไทย

TOSSAKAN
ศูนย์สั่งการอัจฉริยะด้านความปลอดภัย (Security Operation Center: SOC)

“เรามีโปรโตไทป์เพื่อทดลองใช้มาแล้วมากกว่า 20 รอบกว่าจะเปิดตัวใช้ได้จริง” ขยลกล่าว “ปัจจุบันเรามีความแม่นยำมากกว่า 95%”

การเปิดตัวนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะต่อไปทีมงานจะพัฒนาฟังก์ชันให้ดีขึ้นอีก อย่างการพัฒนา e-KYC สแกนบัตรประชาชนได้แม่นยำขึ้น หรือพัฒนาระบบ Gesture Recognition และ Object Recognition ทำให้การค้นหาบุคคลในฐานข้อมูลของกล้องวงจรปิดง่ายขึ้น เช่น ค้นหา ‘ผู้ชายสวมเสื้อสีดำ’ ระบบจะดึงภาพออกมาได้อัตโนมัติ

นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันที่ไปต่อได้กับธุรกิจ PropTech คือการติดตั้งเซ็นเซอร์ IoT ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำ ไฟฟ้า หรือการปล่อยมลพิษของอาคาร/โรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าของอาคารสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ หากตรวจสอบได้อัตโนมัติจะทำให้การบำรุงรักษาดีขึ้นและประหยัดพลังงานที่สูญเปล่าไปได้มาก

สกาย ไอซีที

“เราเชื่อว่าเราเป็นเจ้าแรกในไทยที่บริการได้ครบวงจรแบบนี้ คือมีทั้งการติดตั้ง CCTV มีระบบ AI ในการบริหาร และมีห้อง SOC บริการ 24 ชั่วโมงให้ด้วย” ขยลกล่าว

TOSSAKAN ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่เปิดตัวกับตลาด แต่ทีม Nebula ของสกาย ไอซีทียังมีทีมงานส่วนอื่นอีกที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ เช่น ทีม Voyager ดูแลด้าน TravelTech เริ่มงานแรกกับการพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับ AOT, ทีม Orion พัฒนาเทคโนโลยีสายพานกระเป๋าอัจฉริยะ ลดการใช้คน ทำให้เป็นระบบอัตโนมัติ, ทีม Interstellar พัฒนาเทคโนโลยีบริหารจัดการดาต้า

น่าสนใจว่าก้าวต่อไปของสกาย ไอซีทีในการสร้าง Tech Transform ในองค์กร และการแตกพอร์ตโฟลิโอไปสู่งานภาคเอกชนจะเป็นอย่างไร!