สวยด้วย ได้ช่วยโลกด้วย! Google ดีไซน์ “เคสมือถือ” จากขวดพลาสติกรีไซเคิล

Google ออกผลิตภัณฑ์ล่าสุดในธีมการใช้พลาสติกรีไซเคิลในสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์ “เคสมือถือ” สำหรับโทรศัพท์รุ่น Pixel โดยผลิตจากขวดพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยผ้า ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ (กำลังจะ) ล้นโลกในไม่ช้า

แม้ว่าเราจะพยายามใช้ซ้ำถุงพลาสติกเมื่อไปซูเปอร์มาร์เก็ต บางคนอาจจะพยายามรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์จากการทานอาหารแบบซื้อกลับบ้าน แต่พลาสติกก็ยังซ่อนตัวอย่างโจ่งแจ้งในสายตาเรา ตั้งแต่สายชาร์จคอมพิวเตอร์ไปจนถึงรีโมตของสารพัดอุปกรณ์ ทุกๆ ปี ขยะพลาสติกปริมาณ 10 ล้านตันจะเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ และมีสัดส่วนน้อยมากที่ไปสู่วงจรการรีไซเคิล

เหตุผลนี้ทำให้ดีไซเนอร์ผลิตภัณฑ์ที่ Google พยายามจะสวนกระแสการใช้พลาสติกในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการหลอมรวมพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ Nest ลำโพงขนาดเล็ก จนถึงตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ Pixel ขณะที่สัปดาห์นี้ Google เปิดตัว “เคสมือถือ” สำหรับใช้กับเครื่อง Pixel ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 70%

เคสมือถือผิวสัมผ้าทวีด แต่แท้จริงแล้วทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล (Photo : Google)

มิเกล แฮร์รี่ หัวหน้าทีมดีไซเนอร์เคสมือถือชิ้นนี้กล่าวว่า ขวดพลาสติก 2 ขวดสามารถผลิตเป็นเคสพลาสติกรีไซเคิลได้ถึง 5 ชิ้น โดยทีมของเขาเลือกที่จะแปลงขวดพลาสติกออกมาเป็นเส้นใย ก่อนนำมาทำเป็นเคสผิวสัมผัสผ้าอย่างที่เห็น

ลักษณะของเคสแทบนึกไม่ถึงเลยว่าทำมาจากพลาสติก เพราะเหมือนกับได้จับผ้าทวีดหรือไหมพรมมากกว่า ภาพรวมดูสวยงามสบายตา ลบภาพจำเดิมๆ ว่าของรีไซเคิลจะดูไม่งาม ตัวเคสผลิตออกมา 3 สีคือ ดำ เทา และแดง โดยมีสีอื่นแทรกเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกับผ้าทวีดนั่นเอง

“เราออกแบบให้เคสสร้างอารมณ์สบายๆ” แฮร์รี่กล่าว “เหมือนกับสินค้าทำมือที่จะมีจุดที่ไม่สมบูรณ์แบบ แม้ว่าจริงๆ แล้วมันจะผลิตด้วยเครื่องจักรอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม”

(Photo : Google)

 

หลายแบรนด์เร่งนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ผลิตสินค้า

ขยะที่ถูกทิ้งในบ่อขยะโดยไม่ได้นำไปรีไซเคิลนั้นเติบโตรวดเร็วเท่าๆ กับที่เราเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นใหม่ มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ขยะทั้งหมดบนโลกจะไปแตะ 110 ล้านตัน และ 20% ของจำนวนนี้จะเป็นขยะพลาสติก

ปัจจุบันนี้มีโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลพลาสติกน้อยมาก รวมถึงการผลิตสินค้าพลาสติกพร้อมนำไปรีไซเคิลก็น้อยเช่นกัน โดยมีแบรนด์บางส่วนเท่านั้นที่เพิ่งจะเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลได้ เช่น Samsung, Whirlpool หรือ Philips สำหรับ Google นั้น แฮร์รี่กล่าวว่า ทีมนักออกแบบกำลังเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รีไซเคิลได้อยู่เช่นกัน และหวังว่าจะได้ออกจำหน่ายจริงเร็วๆ นี้

กว่าที่ผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลได้จะเป็นมาตรฐานหลักของสังคม กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่นำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

เมื่อปีที่แล้ว สหประชาชาติ (UN) และ คณะกรรมการยุโรป ได้ออกแคมเปญกระตุ้นความตระหนักรู้ของสังคมระยะ 2 ปี ชื่อว่าแคมเปญ PolyCE ย่อมาจาก Post-Consumer High-tech Recycled Polymers for Circular Economy = โพลีเมอร์รีไซเคิลระดับไฮเทคหลังผ่านการใช้งานของผู้บริโภคเพื่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้แบรนด์ต่างๆ ผลิตสินค้าจากพลาสติกรีไซเคิล และสร้างแรงบันดาลใจฝั่งผู้บริโภคให้อยากจะซื้อสินค้าเหล่านั้น

แฮร์รี่กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้บริโภคต้องตระหนักทราบว่า ผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนนั้นสามารถออกแบบให้ดู “สวยงาม” ได้ด้วย “เราอยากให้ทุกคนรู้ว่า คุณไม่ต้องยอมหยวนๆ ให้กับเรื่องงานดีไซน์เมื่อออกแบบผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล” แฮร์รี่กล่าว

Source