5 เหตุผล ทำไม “แกรมมี่” ต้องบุกธุรกิจขายตรง ปั้น Artist Product ให้ศิลปินเป็นเจ้าของแบรนด์

GMM Grammy บุกหาน่านน้ำใหม่ เฟ้นหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้ธุรกิจเพลง แตกไลน์ธุรกิจใหม่ GMM GOODS พร้อมรุกธุรกิจขายตรง แบบ SLM (Single-Level Marketing) นำร่องแบรนด์ AURA-THAI กับนักร้องสาว “ต่าย-อรทัย” หวังรายได้ 500 ล้านภายใน 3 ปี แต่เบื้องหลังของแนวคิดนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง เราสรุปมาให้ 5 ข้อแล้ว

1. ย้อนรอยไอเดีย GMM GOODS 

GMM GOODS เป็นธุรกิจขาใหม่ในเครือของกลุ่ม GMM Music หรือธุรกิจเพลง โดยที่จะเป็นธุรกิจขายตรงรูปแบบ SLM (Single-Level Marketing) ไม่ต้องมีลูกข่าย หรือแม่ทีมแต่อย่างใด

โดยที่ ภาวิต จิตรกร หรือจะคุ้นเคยกันในนาม “พี่เจ๋อ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มเล่าว่า โปรเจกต์นี้ได้เริ่มคิดมา 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ที่พี่เจ๋อได้เริ่มเข้ามารับตำแหน่ง CEO ใหม่ๆ มีความคิดอยากทำสินค้าให้ศิลปิน แต่ต้องวางแผน วาง Infrastructure ให้พร้อม และศึกษาเรื่องบิ๊กดาต้าก่อน

จนในปีนี้พร้อมที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งโมเดลของ GMM GOODS จะแตกต่างกับธุรกิจขายตรงอื่นๆ จะเป็นการพัฒนาสินค้าร่วมกับศิลปินในสังกัดแกรมมี่ นั่นคือให้ศิลปินร่วมเป็นเจ้าของแบรนด์ไปด้วย และแบ่งสัดส่วนรายได้กัน ช่องทางการขายส่วนใหญ่ก็เป็นการขายตรงจากตัวแทนจำหน่าย

มีสินค้าออกมาแบรนด์แรกคือ “ออร่า-ทัย (AURA-THAI)” ทำร่วมกับ “ต่าย-อรทัย ดาบคำ” เป็นสินค้ากลุ่มสกินแคร์

2. ขายตรงคือ ความหวังใหม่ ปั้น Artist Product

สินค้าฮีโร่ของ GMM GOODS นั่นก็คือ Artist Product หรือเป็นสินค้าของศิลปิน เป็นโมเดลที่ให้ศิลปินเป็นเจ้าของแบรนด์ ร่วมคิด ร่วมออกแบบ กำหนดยุทธศาสตร์ ร่วมใส่ Passion ไปกับสินค้า และสร้างระบบตัวแทนจำหน่ายคือก็คือฐานแฟนคลับ จะไม่ใช่ระบบ “บอส” หรือพรีเซ็นเตอร์อย่างแบรนด์สกินแคร์อื่นๆ

ซึ่งการขายตรงของ GMM GOODS คือเน้นแค่ตัวแทนจำหน่าย ที่ซื้อสินค้าในราคาส่ง แล้วไปขายต่อ ทำให้ได้กำไรในทันที ไม่จำเป็นต้องสต๊อกของ ไม่ต้องมีการซื้อขั้นต่ำ จะช่วยตัดปัญหาการขายตัดราคาได้

โมเดลนี้แกรมมี่จะเป็นคนลงทุนให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะสร้างแบรนด์ หาโรงงาน ผลิต โฆษณา เพียงแต่ใช้ Passion ของศิลปิน และฐานแฟนคลับในการขายนั่นเอง

พี่เจ๋อย้ำว่าโดยจะไม่มีการขายใน “โฮมช้อปปิ้ง” เด็ดขาด ถึงแม้ว่าแกรมมี่จะมีช่องทีวีดิจิทัลถึง 2 ช่องในเครือ แต่เป็นการเลือกช่องทางขายตรงแล้ว จะไม่ลงไปจับตลาดโฮมช้อปปิ้งอย่างแน่นอน

3. เสริมรายได้ให้ศิลปิน และแกรมมี่

ถ้าถามว่าทำไมถึงเริ่มที่แบรนด์ “ออร่า-ทัย” เป็นแบรนด์แรกในการนำร่องของ GMM GOODS ทางพี่เจ๋อบอกว่าทุกอย่างมีกระบวนการคิดจาก Big Data ทั้งหมด! มีการเตรียมการมาปีกว่า

“ในการสร้างแบรนด์ครั้งนี้มีดาต้าในระบบมากมาย มีการมองสภาพตลาด เดินตลาดลูกทุ่งก่อน เพราะกลุ่มนี้มีแฟนคลับที่มีกำลังซื้อ และต้องการมีรายได้เสริม ยิ่งวิกฤต COVID-19 มา ยิ่งเป็นโอกาสของธุรกิจขายตรง เพราะคนอยากมีรายได้เสริม แต่เราทำให้เขาได้ใช้สินค้าของคนที่เขารักด้วย ก็คือศิลปิน” 

เหตุผลที่เลือกต่าย อรทัยเป็นศิลปินเบอร์แรกนั้น เพราะจากดาต้าที่ได้เก็บรวบรวม พบว่าต่ายเป็นศิลปิน Top 5 ของบริษัทที่มีแฟนคลับเยอะ และเป็นแฟนคลับที่พร้อมสนับสนุนการซื้อสินค้า ซื้อบัตรคอนเสิร์ตต่างๆ โดยที่มีคนตามในเฟซบุ๊ก 5.5 ล้านราย อินสตาแกรม 6 แสนราย และยูทิวบ์ 7.2 แสนราย

อีกหนึ่งใจความสำคัญของกลยุทธ์นี้ก็คือ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับศิลปิน อย่างที่ทราบกันว่าศิลปินจะมีรายได้หลักจากงานโชว์ คอนเสิร์ต ลิขสิทธิ์เพลง และพรีเซ็นเตอร์ต่างๆ แต่ศิลปินคนหนึ่งก็ไม่สามารถอยู่ค้ำฟ้าได้ การมีธุรกิจ และแบรนด์สินค้า ทำให้เสริมรายได้อีกขา

ต่ายได้เสริมว่า “ย้อนไป 5-6 ปี การสร้างแบรนด์สินค้าก็เป็นอีกหนึง่ในความฝัน แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่างทำให้ไม่ได้เริ่มทำ แต่วงการศิลปินก็ไม่สามารถลุยงานหนักได้เหมือนเดิมตลอด เลยอยากมีอะไรที่ทำแล้วยั่งยืน ดูแลต่อในช่วงที่มีแรงร้องเพลงด้วย”

สินค้าแบรนด์ออร่า-ทัยที่ได้เปิดตัวนั้น มีด้วยกัน 3 รายการ ได้แก่ Aura-Thai Triple8 Aura White Serumเซรั่มสูตรเข้มข้น ราคา 550 บาท, Aura-Thai Triple8 Aura White Day Cream SPF50 PA+++ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและปกป้องผิวจากแสงแดด ราคา 350 บาท และ Aura-Thai Triple8 Aura White Mask Sheet แผ่นมาสก์หน้าบำรุงผิว ราคา 99 บาท ราคารวมทั้ง 3 ชิ้นอยู่ที่ 999 บาท

หลักการเลือกศิลปินในการสร้าง Artist Product ของพี่เจ๋อ ก็จะคัดเลือกจากดาต้าในระบบว่ามีฐานแฟนคลับมากน้อยแค่ไหน พร้อมที่จะสนับสนุนแค่ไหน และมองภาพในการสร้างแบรนด์ร่วมกัน

ปัจจุบันแกรมมี่มีศิลปินในสังกัด 300 คน มีการมองว่าสัก 10% ที่พอจะสร้าง Artist Product ได้ วางให้เป็นปลายทางความสำเร็จความสูงสุดของการเป็นศิลปิน ได้สะสมแฟนคลับด้วย

ศิลปินยอดนิยมของแกรมมี่ในตอนนี้ ได้แก่ พี่เบิร์ด, พี่ตูน บอดี้สแลม, เป๊ก ผลิตโชค, ไผ่ พงศธร และหนุ่ม กะลา แต่ยังไม่นับรวมกับฐานดาต้า

4. ตกปลาในบ่อตัวเอง เริ่มจากกลุ่มแฟนคลับ

โมเดลขายตรงของแกรมมี่ ขอเริ่มจากการขายสินค้าให้กลุ่มแฟนคลับของศิลปิน เชื่อว่ากลุ่มนี้ยอมที่จะสนับสนุนศิลปิน และยอมใช้สินค้าของคนที่เขารัก

พี่เจ๋อบอกว่า “เพียงแค่ฐานแฟนคลับก็สร้างยอดขายหลักหลายร้อยล้านแล้ว เราจะตกปลาในบ่อตัวเองก่อน จากดาต้าเราพบว่าแฟนคลับต่ายยอมซื้อบัตรคอนเสิร์ตสูงสุดถึง 4,000 บาท และยอดคนกดไลก์เพจของต่าย อรทัย 5.5 ล้านคน ขอแค่คนซื้อเดือนละ 20,000 คน ซื้อคนละ 999 บาท ก็ได้เดือนละ 20 ล้านบาทแล้ว” 

โดยการเจาะกลุ่มแฟนคลับของต่ายในครั้งนี้ ก็คือเจาะกลุ่มเป้าหมายคนต่างจังหวัดอย่างชัดเจน มีการกำหนด Positioning อย่างชัดเจนเลยว่า

“แบรนด์ไอเดียคือ สวยสู้ชีวิต ส่งต่อความั่นใจแบบลูกอีสาน ให้แต่ละคนมีรายได้เสริม เจาะกลุ่มคนต่างจังหวัด สาวอีสาน ผู้ใช้แรงงาน สู้ชีวิต มีพื้นฐานไม่ต่างจากจุดเริ่มต้นของต่าย”

5. ต้องได้ 500 ล้านภายใน 3 ปี

ในปีนี้ได้เปิดตัวแบรนด์ของต่าย อรทัยแล้ว มีการตั้งเป้าว่าปีหน้าจะมีอีก 3 ศิลปิน ใน 3 กลุ่มสินค้าที่ไม่ซ้ำกัน อาจจะเป็นกลุ่ม FMCG และสุขภาพ ยังคงเป็นศิลปินที่มีฐานแฟนคลับสูงเช่นกัน ส่วนออร่า-ทัยจะมีออกสินค้าใหม่อีก 3 รายการในปีหน้า

ช่องทางขายหลักจะเน้นขายตรง ซื้อจากตัวแทนจำหน่าย รวมถึงช่องทางออนไลน์, อีคอมเมิร์ซ และคอลเซ็นเตอร์ ความตั้งใจของ GMM GOODS อยากให้เหมือน “สาวมิสทีน” และได้เสริมศักยภาพช่องทางการขายใหม่ๆ

โดยมีการตั้งเป้ารายได้ของแบรนด์ออร่า-ทัยในปีแรกต้องไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน และ 300 ล้านบาทภายใน 3 ปี แต่ถ้าทั้ง GMM GOODS ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้  500 ล้านภายใน 3 ปี รวมถึงตั้งเป้าที่จะมีตัวแทนขาย 9,000 คนในปีแรก และขยายสู่ 25,000 คนภายใน 3 ปีเช่นกัน

มองว่า GMM GOODS จะต้องเป้นธุรกิจอีกขาที่จะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 10% ให้กลุ่ม GMM Music ภายใน 3 ปี