‘แอดไวซ์’ สิงห์ภูธรตลาดไอที รอดตายจาก COVID-19 เพราะหน้าร้านเจาะ ‘ชุมชน’

แม้ว่า COVID-19 จะทำให้การใช้งานดิจิทัลเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์หรือการทำงานที่บ้าน (Work from Home) แต่ ‘GKF’ ยังคาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดไอทีปีนี้จะติดลบ ดังนั้น Positioning ได้มีโอกาสคุยกับ ‘จักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์’ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ผู้ค้าปลีกและค้าส่งอุปกรณ์ไอทีเบอร์ต้นของไทยถึงสถานการณ์ตลาดไอทีปีนี้

ติบลบเพราะรายย่อยไม่รอด

คุณจักรกฤช ระบุว่า ช่วง COVID-19 ระบาดดันให้สินค้าไอทีเติบโตจริง ทั้งตลาดผู้ใช้ทั่วไปและลูกค้าองค์กร โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต โดยแอดไวซ์สามารถเติบโตได้ถึง 2 หลักทั้งมูลค่าและยอดขาย เนื่องจากสาขาส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัดนอกห้างสรรพสรรพสินค้า จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ส่วนออนไลน์ก็มีการเติบโตอย่างมากเช่นกัน

แต่เนื่องจากซับพลายที่ขาดตลาด ส่งผลให้การเติบโตของผู้เล่นแต่ละราย รวมถึงแอดไวซ์ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าในเดือนกันยายนจะเริ่มกลับมาเป็นปกติ และอีกสาเหตุที่ทำให้ GFK ประเมินว่าตลาดอาจติดลบ เป็นเพราะร้านเล็ก ๆ ไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และไม่สามารถขายบนออนไลน์ได้เหมือนรายใหญ่ เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือ

“เราสามารถเติบโตได้ เพราะสาขากว่า 300 สาขาอยู่นอกห้างสรรพสินค้า มีเพียงประมาณ 20 สาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ และห้างฯ ดังนั้นเราจึงไม่อยากเทียบกับผู้เล่นคนอื่น ๆ แต่เชื่อว่ารายใหญ่ยังเติบโตได้ และไตรมาส 3 จะเป็นภาพจริงของตลาด ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กจะอยู่ยาก เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไปออนไลน์ด้วยและกำลังซื้อที่ลดลง”

ออนไลน์ที่ลงถึงท้องถิ่น

เพราะ COVID-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคปรับตัวสู่ออนไลน์เร็วขึ้น โดยสัดส่วนยอดขายของแอดไวซ์จาก 12% ในปีที่ผ่านมา สามารถเติบโตเป็น 18% เร็วกว่าที่เคยคาดว่าจะทำได้ในปี 2565 ซึ่งสินค้าขายดีบนออนไลน์ส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าชิ้นเล็ก อาทิ หูฟัง, เมาส์, คีย์บอร์ด ส่วนสินค้าราคาสูงยังเน้นซื้อหน้าร้าน ดังนั้น ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายออนไลน์เริ่มลดลง เพราะลูกค้ากลับไปซื้อสินค้าที่หน้าร้าน โดยเฉพาะสินค้าราคาสูง

อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายสินค้าไอทีผ่านช่องทางออนไลน์จะสามารถเติบโตเป็นสัดส่วน 35-40% ดังนั้น แอดไวซ์จึงดำเนินกลยุทธ์ทางออนไลน์ต่อเนื่อง ทั้งการจัดส่งสินค้าภายใน 3 ชั่วโมง รวมถึงผลักดันให้ร้านทั้ง 350 สาขาทำ โซเชียลคอมเมิร์ซ เจาะลูกค้าท้องถิ่น เพื่อไม่ต้องพึ่งพาแค่เว็บไซต์ตรง หรือในส่วนของมาร์เก็ตเพลส

“เรามีสินค้ากว่า 10,000 sku แน่นอนว่าแต่ละสาขาไม่มีทางมีสินค้าครบ ดังนั้นการทำโซเชียลคอมเมิร์ซของแต่ละสาขา เราจะส่งสินค้าตรงจากสต็อกกลาง ในกรณีที่หน้าร้านไม่มีของ”

เปลี่ยนหน้าร้านให้เป็นไลฟ์สไตล์และบริการ ไม่ใช่แค่ขายของ

ปัจจุบัน แอดไวซ์มีสาขาครอบคลุมกว่า 350 สาขาทั่วประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยปีนี้ได้เปิดสาขาเปิดใหม่ที่ชลบุรีและและระยองจังหวัดละ 1 สาขา และภายในปีนี้ได้เตรียมปรับขนาดร้าน 6 สาขา ให้ใหญ่กว่าเดิม เพื่อเปลี่ยนให้หน้าร้านขายของเป็น เอ็กซ์พีเรียนซ์ช็อป ที่มีทั้งบริการซ่อม, เทรนด์นิ่ง และไลฟ์สไตล์ โดยปัจจุบันได้เริ่มในส่วนของ เซอร์วิส โดยช่างที่ซ่อมอยู่ระดับ 2 สามารถซ่อมเบื้องต้นและเปลี่ยนอะไหล่ นอกจากนี้ แอดไวซ์จะเน้นเจาะลูกค้าองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มการศึกษา และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ โดยเริ่มสร้างทีมเฉพาะมาได้ 1 ปีครึ่ง และเริ่มมีทำตลาดออนไลน์

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาแอดไวซ์มีรายได้ 12,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจค้าปลีก 65% ค้าส่ง 35% โดยแอดไวซ์มั่นใจว่าปีนี้สามารถเติบโตได้ 2 หลัก และตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในกลางปี 2564 โดยตั้งเป้าทำรายได้ 2 หมื่นล้านบาท หลังเข้าตลาดได้ 1 ปี

“เราต้องเข้าตลาดเพื่อทำธุรกิจในแนวกว้าง เช่น เป็นมาร์เก็ตเพลสสำหรับ SME เพราะเราต้องแข็งแรงพอที่จะแข่งกับแพลตฟอร์มระดับโลก ซึ่งตอนนี้ไอทีไม่ใช่ส่วนเสริม แต่เป็นความต้องการหลัก”