Estee Lauder เครื่องสำอางแบรนด์ไฮเอนด์ เป็นแบรนด์ลักชัวรีรายล่าสุดที่ประกาศ “ปลดพนักงาน” ทั่วโลก 2,000 ตำแหน่ง หลังจากโรคระบาด COVID-19 ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคจำนวนมากหันไปหาสินค้าที่เป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์มากขึ้น และลดการเดินห้างฯ ซึ่งเป็นช่องทางขายหลักของบรรดาเคาน์เตอร์แบรนด์
บริษัท Estee Lauder รายงานผลประกอบการรอบปี 2562-63 ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน พบว่ายอดขายของบริษัทลดลง 4% เหลือ 14,290 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบปีบัญชีดังกล่าว ด้านกำไรสุทธิลดลงแรงถึง 62% เหลือเพียง 684 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับผลกำไรสุทธิ 1,790 ล้านเหรียญที่เคยได้เมื่อรอบปีบัญชี 2561-62
จากผลประกอบการดังกล่าว ทำให้บริษัทมีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เตรียมปิดหน้าร้านในศูนย์การค้า 15% ของหน้าร้านที่มีทั้งหมดทั่วโลก ทั้งหน้าร้านแบบสแตนด์อะโลนและแบบเคาน์เตอร์ โดยจะปิดสาขาที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าสาขาอื่นๆ
การปิดหน้าร้านนี้ส่งผลสะเทือนถึงตำแหน่งงาน โดย Estee Lauder เตรียมปลดพนักงาน 2,000 คนทั่วโลก และแน่นอนว่าตำแหน่งงานส่วนใหญ่ที่จะถูกเลย์ออฟคือพนักงานขายหน้าร้านนั่นเอง ทั้งนี้ การเลย์ออฟครั้งนี้คิดเป็นประมาณ 3% ของพนักงานทั้งหมดในบริษัท และหมายรวมถึงกลุ่มพนักงานชั่วคราวและพนักงานพาร์ตไทม์ด้วย
ลักชัวรีแบรนด์กระทบหนัก
Estee Lauder ไม่ใช่แบรนด์ลักชัวรีรายเดียวที่มีการปลดพนักงานหลังเกิดโรคระบาด COVID-19 ก่อนหน้านี้แบรนด์หรูอย่าง Burberry ประกาศเลย์ออฟพนักงานทั่วโลก 500 คน ในจำนวนนี้เป็นพนักงานสำนักงานใหญ่ที่อังกฤษถึง 150 คน เนื่องจากโรคระบาดทำให้การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวถูกจำกัด และปกติแล้วนักท่องเที่ยวคือลูกค้าหลักที่มาใช้จ่ายแบบไม่อั้นกับแบรนด์หรูเหล่านี้
นอกจากกลุ่มแฟชันและความงามแล้ว กลุ่มรถยนต์หรูก็กระทบไม่แพ้กัน เมื่อเดือนมิถุนายน Bentley บริษัทรถยนต์สัญชาติอังกฤษประกาศเลย์ออฟพนักงาน 1,000 ตำแหน่ง หลังยอดขายตกฮวบฮาบ ก่อนหน้านั้นในเดือนพฤษภาคม บริษัท McLaren Group ผู้ผลิตรถซูเปอร์คาร์ กล่าวว่าบริษัทมีแผนจะปลดพนักงาน 1,200 ตำแหน่ง
ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าพรีเมียมอย่าง Dyson ก็กระทบเช่นกัน และเริ่มปลดพนักงาน 900 คนทั่วโลกไปเมื่อเดือนกรกฎาคม และมีสถานการณ์ใกล้เคียงกับ Estee Lauder เพราะพนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกปลดคือเซลส์หน้าร้าน
“แบรนด์ลักชัวรีต่างๆ โดยเฉพาะแบรนด์ที่พึ่งพาการกระจายสินค้าผ่านหน้าร้านออฟไลน์ในห้างฯ คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด” เดวิด พิลนิก ประธานบริษัท Pilnick Associates ที่ปรึกษาด้านแบรนด์ค้าปลีก แฟชั่น และความงามระดับโลกกล่าว “แบรนด์เหล่านี้หันมาลงทุนอย่างหนักในช่องทางดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซแล้ว อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหลักของยอดขายของพวกเขาก็ยังมาจากศูนย์การค้า ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคระมัดระวังการไปใช้เวลาเดินห้างฯ และหันมาซื้อของออนไลน์มากกว่า แบรนด์ลักชัวรีจึงกระทบหนักกว่า”
กลับกลายเป็นว่าค้าปลีกตลาดแมสได้อานิสงส์จากโรคระบาด เพราะจำหน่ายสินค้าราคามิตรภาพที่คนต้องการในยามนี้ ยกตัวอย่างห้างฯ ในสหรัฐฯ อย่าง Target รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2/63 ทำรายได้ไป 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 24.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือห้างฯ Walmart ก็สามารถทำรายได้เติบโต 9.5% ในไตรมาส 2/63 เฉพาะช่องทางดิจิทัลของ Walmart ทำยอดขายเติบโตถึง 97% สะท้อนดีมานด์ผู้บริโภคที่มาจากช่องทางออนไลน์
ขณะที่แบรนด์หรูปลดพนักงาน ห้างฯ Walmart เพิ่งจะประกาศจ้างงานเพิ่มอีกอย่างน้อย 200,000 ตำแหน่ง ส่วน Target ประกาศเปิดชั่วโมงทำงานเพิ่มสำหรับพนักงานในเครือที่สนใจสามารถทำโอทีเพิ่มได้…นาทีนี้ผู้ชนะกลายเป็นบริษัทที่ขายของกินของใช้จำเป็น ในราคาเข้าถึงง่าย