ผู้ประกอบการรายย่อยในฮ่องกง กำลังเจอมรสุมหนัก ทั้งผลกระทบจาก COVID-19 เเละสถานการณ์ความขัดเเย้งทางการเมือง โดยผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า SME เกือบครึ่งคาดว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ไม่เกิน 6 เดือน หากรัฐไม่ช่วยให้การสนับสนุนครั้งใหม่
จากการศึกษาของหอการค้าฮ่องกง พบว่า องค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด จากผลกระทบของ COVID-19
ยิ่งไปกว่านั้น ฮ่องกงมี SME ทั้งหมด 340,000 ราย คิดเป็น 98% ของธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การจ้างงานกว่า 45% ของฮ่องกงอยู่ในภาคเอกชน
หอการค้าฯ สอบถามไปยังสมาชิกราว 4,000 ราย ที่มีทั้ง SME และธุรกิจใหญ่ โดยผู้ประกอบการรายย่อยกว่าครึ่งหนึ่ง บอกว่า ผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังต่อเนื่อง อาจทำให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกไม่เกิน 6 เดือน โดย SME กว่า 60% เเละธุรกิจใหญ่อีก 29% ยอมรับว่ามีสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก เพราะต้องสูญเสียรายได้ไปถึงครึ่งหนึ่ง
โดยผู้ตอบแบบสำรวจดังกล่าว ได้เรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือครั้งใหม่ เเละประกาศมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ในการแถลงนโยบายเดือนต.ค.นี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วเเละชัดเจนขึ้น
ส่วนมาตรการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมานั้น ผู้ประกอบการมองว่า โครงการสนับสนุนการจ้างงาน มูลค่า 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 3.2 เเสนล้านบาท) ที่รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้พนักงานสูงสุดเดือนละ 9,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 3.6 หมื่นบาท) ระหว่างเดือนมิ.ย.-พ.ย. เป็นโครงการที่ให้ประโยชน์มากที่สุด รองลงมากคือการแจกเงินสดให้แก่ผู้ใหญ่ชาวฮ่องกงที่พำนักอยู่ถาวร รายละ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 4 หมื่นบาท) และการอุดหนุนอุตสาหกรรมอื่น ๆ
สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ในฮ่องกงนั้นยังน่าเป็นห่วง หลังจากช่วงเดือนมิ.ย. ต้องเผชิญกับการระบาดระลอก 3 เเละทางการต้องกลับมาเข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกครั้งในเดือนก.ค. โดยร้านอาหารต่างๆ ต้องถูกจำกัดเวลาให้บริการ ขณะที่ธุรกิจบันเทิงและกีฬา เช่น โรงยิม คลินิกเสริมความงาม และโรงภาพยนตร์ ถูกสั่งให้ปิดชั่วคราวในช่วงนั้น
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของฮ่องกง กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ติดลบ 9% จากไตรมาสเเรกของปีนี้อยู่ที่ 9.1% ซึ่งถือเป็นการลดลงอย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาส นับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 1974
ที่มา : SCMP