เศรษฐกิจ “สิงคโปร์” เจ็บหนัก ถดถอยกว่าเดิม GDP ไตรมาส 2 ร่วงเกือบ 43%

Photo : Shutterstock

เศรษฐกิจสิงคโปร์ บอบช้ำจากพิษ COVID-19 มากกว่าที่ประเมินไว้ บ่งชี้สัญญาณการฟื้นตัวที่ต้องใช้เวลานาน ล่าสุด ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 หดตัวถึง 42.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2020 พร้อมหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีนี้ เป็นติดลบ 5-7% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4-7%

วันนี้ (11 ..) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำไตรมาส 2 ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หดตัว 42.9% จากไตรมาสแรก หรือหดตัว 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) นับว่าเเย่ลงจากตัวเลขที่ได้ประกาศเมื่อเดือนที่เเล้วว่า จีดีพีของไตรมาส 2 หดตัวที่ 41.2% จากไตรมาสแรก ซึ่งเป็นการติดลบมากกว่าที่ประมาณการไว้จากระดับ -12.6%

ตัวเลขจีดีพีล่าสุดนี้ เป็นเหมือนการตอกย้ำการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคของสิงคโปร์หลังเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดกัน โดยนับว่าเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจมากที่สุด ตั้งแต่สถาปนาประเทศเมื่อ 55 ปีที่แล้ว

เเม้จะเป็นประเทศเกาะเล็กๆ เเต่สิงคโปร์มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงมาก นับเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมของทวีปเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(Photo by Maverick Asio/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

นอกจากนี้ ทางการได้หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจตลอดทั้งปีนี้เป็นติดลบ 5-7% จากเดิม 4-7% โดยกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายน้อยที่สุด จะหดตัวที่ 5% แต่ในสถานการณ์เลวร้ายมากที่สุดอาจหดตัวมากถึง 7%

หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจของสิงคโปร์ พบว่า เคยหดตัวรุนเเรงในช่วงปี 1998 อยู่ที่ -2.2% จากผลกระทบของวิกฤตต้มยำกุ้ง จากนั้นในปี 2001 ลดลงในอัตรา -1.1% จากผลกระทบของวิกฤต Y2K เเละในปี 1964 ช่วง 1 ปีประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการจากมาเลเซีย มีสถิติลดลง -3.2% ซึ่งหากมองตัวเลขคาดการณ์จีดีพีของสิงคโปร์ในปี 2020 ที่จะอยู่ราว -5 ถึง -7% เเล้วก็นับว่าจะเป็นสถิติการหดตัวมากที่สุดนับตั้งเเต่ก่อตั้งประเทศ

เศรษฐกิจสิงคโปร์ ส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงักไปในช่วงเดือนเมษายน จากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศที่รัฐบาลเรียกว่า Circuit Breaker เพื่อสกัดการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะที่ช่วงเดือนมิ.. ภาคธุรกิจต่างๆ ก็เริ่มกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งเเล้ว หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง

ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในสิงคโปร์ที่ได้รับการยืนยันมีจำนวนมากกว่า 5.5 หมื่นราย และมีผู้เสียชีวิต 27 ราย โดยสิงคโปร์เคยเป็นประเทศที่เคยรับมือ COVID-19 ได้ดีในระยะแรก ก่อนจะพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์หอพักแรงงานต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์มีแรงงานต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศราว 1.4 ล้านราย ส่วนใหญ่มาจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศในภาคธุรกิจต่างๆ

 

ที่มา : CNBC , todayonline , Reuters