How To ปรับตัวฉบับ ‘สุทธิชัย หยุ่น’ กับการเป็น ‘Content Creator’ ได้ในทุกยุค

วงการสื่อหรือนักสื่อสารมวลชน ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก่อนใครเพื่อน และไม่ใช่ทุกคนที่สามารถปรับตัวจนอยู่รอดมาได้ทุกครั้ง แต่ไม่ใช่กับ ‘สุทธิชัย หยุ่น’ เพราะขนาด ‘TikTok’ แพลตฟอร์มวัยรุ่นจ๋า เขาก็ยังสามารถนำมาเล่าข่าวได้ ดังนั้น ไปเจาะลึกแนวคิดของคุณสุทธิชัย ที่มาเปิดเผยบนเวที iCreatorConference2020 กัน ว่าทำไมถึงสามารถปรับตัวให้อยู่ได้ทุกยุคทุสมัยเเบบนี้

อย่า กลัว ที่จะปรับตัว

ความอยากรู้อยากเห็นเป็นหัวใจสำคัญ และต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีเรียนรู้ได้ ดังนั้น ต้องหมั่นติดตามและเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงแรกที่ทำหนังสือพิมพ์ การทำข่าวต้องไปสัมภาษณ์เอง ต้องแกะเทปเอง ไม่ได้เป็น MP3 แบบในทุกวันนี้ หากเทปมีปัญหาก็ต้องอาศัยความจำตัวเอง ต่อมาส่งข่าวผ่านทางโทรศัพท์ ถ้าอยู่ข้างนอกก็ต้องอาศัยตู้โทรศัพท์สาธารณะบ้าง ซึ่งยุ่งยากมาก จนมาถึงยุค ‘Social Media’ ที่เปรียบดัง “ของขวัญจากพระเจ้า”

อย่าง Twitter ที่ทำให้สามารถส่งข่าวได้ทันที ซึ่งทำให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในช่วงที่เคยแนะนำ Twitter ให้กับเพื่อนนักข่าวมาลองใช้ 99% ไม่เอาด้วย เพราะเห็นว่ามันส่งได้ 140 ตัวอักษร เขามองว่ามันสั้นเกินไปที่จะส่งข่าว บอกว่ายุ่งยากที่ต้องทวิตหลาย ๆ ครั้งเพื่อมารวม ดังนั้น ที่หลาย ๆ สื่อไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะกลัวที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ

หลายคนอาจจะไม่กล้าเปลี่ยนตัวเอง ไม่กล้าลองใช้ ซึ่งต้องเปลี่ยนความคิด ถ้ามีเครื่องมือใหม่ ๆ ต้องลองก่อน ถ้าไม่เวิร์ก ก็พอ แล้วก็ไปทำอย่างอื่น ยิ่งตอนนี้การเปลี่ยนผ่านเกิดไวขึ้น ถ้าไม่รีบปรับตอนนี้ อนาคตจะยิ่งยาก เพราะทุกวันนี้มีมือถือก็ทำได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งถ่ายทอดสด ไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นล้านเหมือนอดีต”

สูตรตายตัวไม่มี

Social Media ไม่ว่าจะ Facebook, Instagram หรือ Twitter ทุกแพลตฟอร์มเหมือนจัตุรัสกลางเมือง คือ มีคนอยู่แล้ว ไม่เหมือนเว็บไซต์ที่ต้องเรียกคนเข้ามาดู ดังนั้น เมื่อตลาดทมีคนอยู่แล้ว โจทย์คือ ต้องทำให้คนสนใจ ไม่ว่าจะตลาดเล็ก ตลาดใหญ่ ตลาดคนรุ่นใหม่ ก็ต้องเสียบตัวเอง เอาข่าวที่เหมาะสมกับความสนใจของเขาไปนำเสนอ ถ้าที่นั่นมีคน ผมจะเข้าไปให้ได้

อย่าง TikTok ที่มีแต่คนบอกว่า ไม่มีทางเอาข่าวเข้าไปได้ เพราะมันเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นเพียง 1 นาที แต่ผมบอกว่า ไม่จริง ผมต้องหาทุกวิถีทางที่จะเข้าไปอยู่ในทุก ๆ แพลตฟอร์มที่เป็นข่าวให้ได้ ดังนั้น ผมจึงเริ่มฝึกฝนปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเงื่อนไข ต้องฝึกฝนการเล่าเรื่องให้สั้นลงให้ได้ใน 1 นาที

ตั้งแต่วันที่มี Facebook ผมก็เริ่ม Live โดยที่คนดูบ้างไม่ดูบ้าง แต่สิ่งที่ผมรู้คือ เนื้อหาที่คนสนใจอยากดู หาจากที่อื่นไม่ได้ต้องมาที่นี่ จากนั้นก็ค่อย ๆ สร้างไปทำผิดทำถูกเรียนรู้ไป เพราะว่าในโลก Social นั้นไม่มีสูตรตายตัว มีใครบอกว่าทำอย่างนี้สิถึงจะสำเร็จ ไม่จริง อย่าไปฟังใคร แต่อาจจะเริ่มจากสิ่งที่ชอบก่อนและพัฒนาไป ที่สำคัญต้องทำทุกวัน”

การเล่าเรื่อง หัวใจสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยน

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกยุคทุกสมัยมีความสนุก ถ้ามี Passion กับมัน และเนื้อหาความสำคัญของการจับประเด็น ความสำคัญของการเล่าเรื่องไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงวันนี้ ดังนั้น คนอยากรู้อยากเห็นอะไร ไปแสวงหาสิ่งนั้นเพื่อจะเล่าขานต่อไปยังคนที่เราเชื่อว่า เขาก็อยากจะรู้

“หัวใจของมันจะไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ การที่เรามีเรื่องที่จะเล่า เล่าอย่างแม่นยำ เล่าอย่างถูกต้อง เล่าอย่างน่าสนใจและสามารถ Inspire คนอื่น นั่นคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการที่เราจะเป็น Content Creator ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน