Facebook ขู่บล็อกไม่ให้ชาวออสซี่ “แชร์ข่าว” บนแพลตฟอร์ม ปมรัฐบาลเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์

จากช่วงต้นปีที่รัฐบาลออสเตรเลียยกระดับแรงกดดัน เตรียมออกกฎหมายบีบให้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Google ต้องแบ่งส่วนรายได้ค่าโฆษณาให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์สื่อท้องถิ่น ล่าสุด Facebook ออกมาเตือนแล้วว่าถ้ารัฐยังไม่ถอย แพลตฟอร์มจะจัดการบล็อกไม่ให้บริษัทสื่อและบุคคลใดในออสเตรเลียโพสต์หรือแชร์ข่าวบน Facebook รวมถึง Instagram

“วิล อีสตัน” กรรมการผู้จัดการ Facebook ประจำประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แถลงผ่านบล็อกโพสต์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ว่า คณะกรรมาธิการแข่งขันทางการค้าออสเตรเลีย (ACCC) “ละเลยข้อเท็จจริงที่สำคัญ” ในการดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ว่านี้รวมถึงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างโซเชียลมีเดียกับบริษัทสื่อ

“รัฐบาลออสเตรเลียกำลังร่างกฎระเบียบที่เข้าใจพลวัตของอินเทอร์เน็ตอย่างผิดๆ และจะสร้างความเสียหายให้กับองค์กรสื่อท้องถิ่นที่รัฐพยายามจะปกป้อง” อีสตันกล่าว

“ถ้าหากร่างกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้จริง เราจำต้องหยุดการอนุญาตให้บริษัทสื่อและบุคคลใดในออสเตรเลียโพสต์หรือแชร์ข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวท้องถิ่นหรือข่าวสากล บนแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram” เขากล่าวต่อ “นี่ไม่ใช่ทางเลือกแรกของเรา นี่เป็นทางเลือกสุดท้ายที่เราจะทำ แต่เป็นทางเดียวที่จะป้องกันผลลัพธ์อันไร้ตรรกะ และจะสร้างความเสียหายมากกว่าความช่วยเหลือไปยังบริษัทสื่อออสเตรเลียในระยะยาว”

 

Facebook : เราส่งยอดคลิกเข้าเว็บไซต์ให้ ‘ฟรี’ มาตลอด

ต้นเรื่องของการวางแผนแบนการแชร์ข่าวจากสำนักข่าวบน Facebook นี้ มาจากการที่บริษัทสื่อท้องถิ่นของออสเตรเลียเข้าหารือกับรัฐบาลว่า แพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Google นำคอนเทนต์ของสื่อท้องถิ่นไปใช้งานและได้รับค่าโฆษณามหาศาล แต่สื่อท้องถิ่นกลับได้ส่วนแบ่งกลับมาน้อยมาก สุดท้ายทาง ACCC สั่งการให้กลุ่มบริษัทเทคฯ ร่างระเบียบให้ส่วนแบ่งรายได้อย่างสมัครใจ แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้รัฐบาลเดินหน้าร่างกฎหมายเพื่อ “บังคับ” แทน

ในร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณากันอยู่นั้น นอกจากจะมีเรื่องส่วนแบ่งรายได้แล้ว กฎหมายจะกำหนดให้ Google และ Facebook ต้องแจ้งบริษัทสื่อผู้ผลิตคอนเทนต์ทราบถึงนโยบายการเปลี่ยนอัลกอริธึมล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง และจะมีบทลงโทษหากไม่ทำตาม ทั้งสองบริษัทต่างต่อต้านในประเด็นนี้อย่างแข็งขัน โดยทาง Facebook กล่าวว่า กฎนี้จะทำให้บริษัทสื่อในออสเตรเลียได้เปรียบบริษัทสื่อประเทศอื่นอย่างไม่ยุติธรรม

(Photo by In Pictures Ltd./Corbis via Getty Images)

อีสตันยังกล่าวอีกว่า “คอนเทนต์ข่าว” เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ผู้ใช้ Facebook มองเห็นบน News Feeds และเป็นส่วนที่ “ไม่ใช่แหล่งที่มารายได้ที่สำคัญ” ของบริษัท

ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2020 แพลตฟอร์ม Facebook ได้ส่งจำนวนการคลิกถึง 2,300 ล้านครั้งเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของบริษัทในอุตสาหกรรมสื่อออสเตรเลีย โดยไม่ได้เก็บค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ทราฟฟิกเข้าเว็บไซต์ จำนวนดังกล่าวจะคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

 

Google ขึ้นกล่อง pop-up โต้กลับ

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Google มีจดหมายเปิดผนึกออกมาตอบโต้ร่างกฎหมายนี้เช่นกัน โดยการใส่กล่อง pop-up บนหน้าโฮมเพจของเว็บไซต์ตนเองในออสเตรเลีย ข้อความว่า “การใช้งาน Google ของชาวออสซี่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง” และระบุว่าระเบียบข้อบังคับนี้จะสร้างความเสียหายต่อประสบการณ์การค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต

กล่อง pop-up ของ Google เพื่อโต้กลับรัฐบาลออสเตรเลีย

“กฎหมายนี้เป็นการให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทสื่อขนาดใหญ่ และส่งเสริมให้พวกเขาสร้างข้อเรียกร้องมหาศาลที่ไร้เหตุผล ทำให้บริการฟรีของเราเกิดความเสี่ยงขึ้น” เป็นถ้อยแถลงโต้กลับของ Google

ACCC ตอบกลับจดหมายของ Google ว่า Google ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และเสริมว่า “ภาคธุรกิจสื่อที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการประชาธิปไตยที่จะดำเนินไปได้ดี”

ช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจสื่อในออสเตรเลียได้รับผลกระทบหนักหน่วงยิ่งขึ้นจาก COVID-19 ทำให้บริษัทสื่อใหญ่หลายๆ แห่งต้องลดเงินเดือนพนักงาน และบริษัทหนังสือพิมพ์บางส่วนต้องหยุดพิมพ์ชั่วคราวเนื่องจากรายได้ค่าโฆษณาที่ร่วงลงอย่างรุนแรง บริษัทดังกล่าวรวมถึง News Corp องค์กรสื่อยักษ์ระดับโลกของเศรษฐี “รูเพิร์ต เมอร์ด็อก” ด้วย

Source