สงครามรีดค่าลิขสิทธิ์! ออสเตรเลียสั่ง Google-Facebook จ่ายค่า “คอนเทนต์” ให้สื่อดั้งเดิม

  • รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมออกกฎหมายสั่งการให้ Google และ Facebook จ่ายค่า “ใช้ซ้ำ” คอนเทนต์ให้กับสื่อดั้งเดิมในประเทศ สร้างสมดุลทางการค้า
  • บริษัทสื่อดั้งเดิมกล่าวถึงบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ว่า มีการนำคอนเทนต์ไปใช้ฟรีมานาน ขณะที่ผู้ผลิตต้นฉบับยากลำบาก โดยเฉพาะในวิกฤต COVID-19 ที่เม็ดเงินโฆษณาลดลง
  • ฟากยักษ์เทคโนโลยีโต้กลับว่าสื่อดั้งเดิมได้ประโยชน์ไปแล้ว เพราะแพลตฟอร์มได้นำผู้ชมไปสู่เว็บไซต์ของสื่อ สร้างรายได้ค่าโฆษณาและการสมัครสมาชิก แต่รัฐออสเตรเลียมองว่า ค่าโฆษณาส่วนใหญ่ตกอยู่กับบริษัทเทคฯ และทั้ง Google และ Facebook มีการทำตลาดแบบผูกขาด
  • ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศแรกที่พยายามเรียกค่าลิขสิทธิ์จากยักษ์เทคโนโลยี แต่ทุกประเทศก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครชนะ

“จอช ไฟรเดนเบิร์ก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย เปิดเผยผ่านทางบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Australian Friday ว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เดินหน้าการเจรจาสัญญาความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัลกับธุรกิจสื่อดั้งเดิม เพื่อสร้างระเบียบปฏิบัติโดยสมัครใจในการ “ปกป้องผู้บริโภค พัฒนาความโปร่งใส และสร้างสมดุลเชิงอำนาจระหว่างสองฝ่าย” แต่ปรากฏว่าไม่เป็นผลเนื่องจาก “ไม่เกิดความก้าวหน้าที่มีประสิทธิภาพ”

ระเบียบที่ คณะกรรมาธิการแข่งขันทางการค้าออสเตรเลีย (ACCC) พยายามประสานให้สองฝ่ายตกลงกันได้ก่อนหน้านี้ จะเกี่ยวข้องกับการแบ่งปันรายได้ ความโปร่งใสในการใช้อัลกอริทึมจัดลำดับแสดงผล ช่องทางเข้าถึงดาต้าผู้ใช้ วิธีการนำเสนอคอนเทนต์ข่าว และบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม

เมื่อการเจรจาไม่ก้าวหน้า ทำให้รัฐบาลเลือกที่จะเปลี่ยนมาใช้วิธีออกระเบียบบังคับแทนการใช้ระเบียบแบบสมัครใจ โดยขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดการแบ่งค่าตอบแทนว่าจะเป็นอย่างไร แต่ไฟรเดนเบิร์กย้ำว่า จะมีบทลงโทษสูงหลายพันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียสำหรับบริษัทที่หลีกเลี่ยงการจ่ายค่าตอบแทน และคาดว่าจะร่างระเบียบเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ตัวอย่างการแสดงผลเนื้อความแบบ snippet ของคอนเทนต์ข่าวบน Google Assistant

“จะยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย หากยักษ์ใหญ่ด้านเสิร์ชเอนจิ้นและโซเชียลมีเดียจ่ายค่าคอนเทนต์ต้นฉบับให้กับธุรกิจสื่อดั้งเดิม เพราะพวกเขาใช้คอนเทนต์เหล่านี้สร้างทราฟฟิกผู้ชมสู่แพลตฟอร์มของตนเอง” ไฟรเดนเบิร์กกล่าว

“ระเบียบนี้จะรับประกันให้ยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มสื่อทั้งหลายจ่ายค่าคอนเทนต์ และออสเตรเลียต้องการจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำสำเร็จ” เขากล่าวย้ำ

โดยฝ่ายสื่อและรัฐบาลมองว่ายักษ์เทคโนโลยีเหล่านี้นำคอนเทนต์ไปใช้ซ้ำและสร้างรายได้ทางอ้อมบนแพลตฟอร์ม เช่น Google News ซึ่งจะแสดงเนื้อความแบบย่อ (snippet) จากคอนเทนต์ต้นฉบับในเว็บไซต์ข่าวไว้บนแพลตฟอร์มของตน

 

สื่อดั้งเดิมประณามบริษัทเทคฯ ทำนาบนหลังคน

การตัดสินใจที่เร็วเกินคาดของรัฐบาล เชื่อว่าเป็นผลมาจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เม็ดเงินโฆษณายิ่งหดหาย กดดันให้รัฐต้องปกป้องธุรกิจสื่อในประเทศ

“รัฐบาลออสเตรเลียตระหนักได้ว่าระเบียบโดยสมัครใจไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่ออำนาจการต่อรองไม่เท่าเทียมกัน” มาร์คัส สตอร์ม ประธานสหพันธ์สื่อบันเทิงและศิลปะ กล่าว โดยสหพันธ์นี้เป็นตัวแทนกลุ่มธุรกิจสื่ออาชีพซึ่งเรียกร้องการจัดเก็บค่าคอนเทนต์ดังกล่าวมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน

“บางส่วนของ Google และ Facebook เติบโตขึ้นมาได้จากคอนเทนต์ข่าวที่ปรากฏในแพลตฟอร์ม แต่ผู้สร้างคอนเทนต์ตัวจริงคือธุรกิจสื่อข่าวทั้งหลายกลับต้องตกที่นั่งลำบาก ระหว่างที่ยังเป็นคนผลิตข่าวที่สำคัญยิ่งต่อสาธารณะ” สตอร์มกล่าวเสริม “บริษัทเทคโนโลยีจะต้องเจรจากับบริษัทสื่อด้วยความรับผิดชอบแล้ว และเริ่มจ่ายค่าคอนเทนต์หลังจากที่ใช้ประโยชน์ฟรีๆ มาตลอด”

 

ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์?

ฟากบริษัทเทคฯ ไม่นิ่งเฉยต่อความเคลื่อนไหวเหล่านี้ โดยโฆษกของ Google ออกแถลงการณ์ว่า “เรามีการทำงานต่อเนื่องมาหลายปีเพื่อเป็นพันธมิตรกับอุตสาหกรรมข่าว ช่วยให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตผ่านรายได้ค่าโฆษณาและบริการสมัครสมาชิก รวมถึงช่วยเพิ่มยอดผู้ชมจากการสร้างทราฟฟิกให้”

Google เสริมว่า เมื่อปี 2018 บริษัทนำผู้อ่านชาวออสเตรเลียเข้าสู่เว็บไซต์ของกลุ่มธุรกิจสื่อดั้งเดิมถึงกว่า 2 พันล้านครั้ง และบริษัทมิได้เก็บเงินจากสำนักข่าวเพื่อให้คอนเทนต์ของพวกเขาปรากฏบนเสิร์ชเอนจิ้น ดังนั้นบริษัทสื่อจึงได้ประโยชน์จากทราฟฟิกผ่าน Google

ACCC ศึกษาตลาดพบว่า ชาวออสเตรเลีย 98% ใช้ Google เป็นเสิร์ชเอนจิ้นหลัก และประชากร 17 ล้านคนจากทั้งหมด 25 ล้านคนในประเทศนี้ใช้ Facebook โดยใช้งานไม่ต่ำกว่าวันละ 30 นาที สะท้อนถึงอิทธิพลของแพลตฟอร์มเหล่านี้ต่อตลาดคอนเทนต์ออนไลน์ (photo : Jenny Evans/Getty Images)

ด้าน “วิล อีสตัน” กรรมการผู้จัดการ Facebook ประเทศออสเตรเลีย โต้กลับว่าบริษัท “ผิดหวัง” ต่อการตัดสินใจของรัฐ เพราะบริษัทกำลังทำงานอย่างหนักในการเจรจาระเบียบโดยสมัครใจซึ่งเดิมรัฐบาลกำหนดเดดไลน์ข้อตกลงไว้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ บริษัทเพิ่งจะออกทุนสนับสนุนมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับสื่อท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Aljazeera รายงานว่า 3 ใน 4 ของมูลค่าทุน 100 ล้านเหรียญดังกล่าวนั้นเป็นเครดิตสำหรับให้สำนักข่าวใช้ทำโฆษณาฟรีบน Facebook ขณะที่อีก 25 ล้านเหรียญนั้นมอบให้กับบริษัทสื่อในทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้น ดังนั้น สื่อออสเตรเลียจึงไม่ได้กระแสเงินสดส่วนนี้เลย

ส่วนรัฐมนตรีไฟรเดนเบิร์กก็กล่าวสวนเช่นกันว่า ACCC ศึกษาตลาดพบว่า ชาวออสเตรเลีย 98% ใช้ Google เป็นเสิร์ชเอนจิ้นหลัก และประชากร 17 ล้านคนจากทั้งหมด 25 ล้านคนในประเทศนี้ใช้ Facebook โดยใช้งานไม่ต่ำกว่าวันละ 30 นาที สะท้อนถึงอิทธิพลของแพลตฟอร์มเหล่านี้ต่อตลาดคอนเทนต์ออนไลน์

และเมื่อ ACCC เจาะลึกค่าโฆษณาออนไลน์ในออสเตรเลีย พบว่า ทุกๆ 100 เหรียญที่จ่ายไป จะตกเป็นของ Google 47 เหรียญ เป็นของ Facebook 24 เหรียญ ส่วนอีก 29 เหรียญที่เหลือไปแบ่งกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยมูลค่าตลาดของโฆษณาออนไลน์ในแดนจิงโจ้นั้นสูงถึง 9 พันล้านเหรียญต่อปี เติบโตขึ้นมากกว่า 8 เท่าในรอบ 15 ปี

 

อียูเคยพยายามมาก่อนแล้ว

ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศแรกที่พยายามจะจัดสมดุลทางการค้ากับบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ เมื่อปีก่อน สหภาพยุโรป เพิ่งโหวตเห็นด้วยกับทิศทางปฏิรูปเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ เนื้อหาหลักๆ คือต้องการให้บริษัทเทคฯ เหล่านี้กลั่นกรองเนื้อหาประเภท UGC (User-generated Content) ว่าผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ แม้แต่การที่ผู้ใช้เข้ามาเขียนคอมเมนต์ก็ต้องผ่านการกรองก่อน (ซึ่งแปลว่าเราจะนำรูปที่หาได้บนอินเทอร์เน็ตมาทำเป็นมีมตลกๆ ไม่ได้แล้ว)

จากทิศทางดังกล่าว ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการแข่งขันทางการค้าอย่างยุติธรรมใน ฝรั่งเศส กดดันให้ Google ต้องเจรจากับสื่อดั้งเดิมเพื่อชำระค่าคอนเทนต์เมื่อมีการนำคอนเทนต์มาใช้ซ้ำบนแพลตฟอร์ม แต่สิ่งที่ Google ทำคือปิดฟังก์ชัน Google News ในฝรั่งเศสไปเลย ซึ่งเป็นการตอบโต้แบบเดียวกับที่ Google ทำใน สเปน เมื่อปี 2014

แม้แต่ เยอรมนี ก็เคยแพ้บนชั้นศาล โดยเมื่อปีที่แล้วสำนักพิมพ์สัญชาติเยอรมันรวม 200 แห่ง ร่วมกันฟ้องร้อง Google ที่ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป โดยอ้างอิงกฎหมายลิขสิทธิ์ของเยอรมนีซึ่งบังคับใช้ในปี 2013 ฟ้องเรียกค่าลิขสิทธิ์จาก Google มูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่สุดท้าย Google ชนะไปด้วยเรื่องทางเทคนิคคือ ศาลพบว่ากฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะประเทศเยอรมนีไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมมาธิการยุโรปทราบว่ามีกฎหมายนี้อยู่

ต้องติดตามต่อว่าออสเตรเลียจะสามารถตีวงล้อมรีดค่าลิขสิทธิ์จากยักษ์เทคโนโลยีได้จริงหรือไม่!

Source: TechCrunch, Aljazeera