ห้ามเนียน! “เกาหลีใต้” บังคับ “อินฟลูเอนเซอร์” ต้องแจ้งให้ชัดว่ารีวิวนั้นเป็น “โฆษณา”

(Photo : Shutterstock)
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (FTC) ของเกาหลีใต้ ยกระดับระเบียบข้อบังคับ ให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์หรือบล็อกเกอร์ต้อง “แจ้งแก่ผู้บริโภคให้ชัดเจน” ว่ารีวิวหรือโพสต์สินค้านั้นๆ เป็นโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท มิฉะนั้นจะมีความผิดร่วม

ระเบียบใหม่จาก คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (FTC) ของเกาหลีใต้ เริ่มบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยข้อกำหนดนี้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น ให้อินฟลูเอนเซอร์หรือบล็อกเกอร์ต้องแจ้งแก่สาธารณะรับทราบว่า รีวิวหรือโพสต์สินค้าที่กำลังรับชมได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเจ้าของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นข้อแลกเปลี่ยนเป็นเงิน บัตรกำนัลของขวัญ หรือได้รับสินค้าฟรีเพื่อแลกกับการรีวิวในเชิงบวกก็ตาม

ถ้าหากไม่ปฏิบัติตาม อินฟลูเอนเซอร์และบริษัทเจ้าของสินค้าอาจมีความผิดร่วมกัน มีโทษปรับสูงสุด 500 ล้านวอน (ประมาณ 13.2 ล้านบาท) บวกกับค่าปรับคิดจากสัดส่วน 2% จากยอดขายที่บริษัทได้รับเนื่องจากรีวิวนั้นๆ

ก่อนหน้าที่จะมีระเบียบชุดใหม่นี้ออกมา FTC มีระเบียบเดิมอยู่แล้วให้อินฟลูเอนเซอร์แจ้งแก่สาธารณะว่ารีวิวชิ้นนั้นๆ เป็นโฆษณา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีระเบียบอย่างละเอียด ทำให้อินฟลูเอนเซอร์มักจะนำข้อความแจ้งไปซ่อนอยู่ในจุดที่มองไม่เห็นเด่นชัด เช่น ติดแฮชแท็ก #AD #Sponsored ไว้ในแคปชันและเขียนไว้เป็นแฮชแท็กสุดท้าย

หลังจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์จะต้องแจ้งแก่สาธารณะว่าโพสต์นั้นเป็นโฆษณาให้ชัดแจ้ง แค่ติดแฮชแท็กไม่เพียงพออีกแล้ว (PHOTO : FTC Korea)

เพื่อรักษาสิทธิของผู้บริโภค FTC จึงมีระเบียบอย่างละเอียดออกมาเป็นข้อปฏิบัติ เช่น การรีวิวสินค้าบน YouTube หรือแพลตฟอร์มวิดีโออื่นๆ การแจ้งว่าเป็นโฆษณาต้องระบุไว้ใน “ชื่อวิดีโอ” หรือขึ้นแจ้งเตือนก่อนเริ่มวิดีโอ หรือปิดท้ายตอนจบวิดีโอ รวมถึงต้องมีการแจ้งซ้ำหลายครั้งระหว่างคลิป เพื่อให้ผู้ชมที่เปิดดูคลิปเพียงบางส่วนสามารถรับรู้ได้ว่าเป็นคลิปโฆษณาเสมอ

ในกรณีที่เป็นการรีวิวบน Instagram ข้อความแจ้งว่าเป็นโฆษณาจะต้องระบุไว้บนรูปภาพที่โพสต์ ไม่ใช่การเขียนไว้เฉพาะในแคปชันหรือในช่องคอมเมนต์ ส่วนการรีวิวในบทความเขียนตามเว็บไซต์หรือบล็อกต่างๆ ต้องระบุว่าเป็นโฆษณาตั้งแต่ช่วงต้นของบทความหรือตอนจบบทความ และต้องใช้ฟอนต์และขนาดฟอนต์ที่มองเห็นได้ง่าย

สาเหตุที่ FTC ออกกฎใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิม เพราะแม้ว่าจะออกระเบียบลักษณะนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ปี แต่เมื่อ Korea Consumer Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ในปี 2562 ทำการสำรวจโพสต์รีวิวสินค้าบนโซเชียลมีเดียทั้งหมด 582 ชิ้น มีเพียง 174 ชิ้นที่ระบุว่าโพสต์นั้นเป็นโฆษณา และโพสต์จำนวนมากใน 174 ชิ้นดังกล่าวไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนแต่นำไปซ่อนไว้ด้านท้ายของบทความ ทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิที่จะทราบว่ารีวิวนั้นเป็นการโฆษณา

หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 FTC มีการฟ้องร้องและลงโทษปรับบริษัทเจ้าของโฆษณา โดยมีการปรับรวมกัน 269 ล้านวอน (ประมาณ 7.11 ล้านบาท) มีผู้ถูกลงโทษ 7 บริษัท ได้แก่ Dyson Korea, LG Household & Health Care, Amorepacific (บริษัทเจ้าของแบรนด์ เช่น Etude, Innisfree), L’Oreal Korea, LVMH, TGRN Co. และ Aplnature Corp.

Source: The Korea Herald, The Korea Times, Pulse News Korea