รู้จัก ‘นิชิกาวะ แอร์’ เครื่องนอนเพื่อสุขภาพระดับ 3 หมื่นบาท ขอบุกตลาดที่นอนหรูเมืองไทย

ที่นอนนิชิกาวะ แอร์

ในช่วง COVID-19 ที่ส่งผลให้หลายคนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น แต่ไม่ใช่แค่การทานของดี ๆ หรือการออกกำลังกายเท่านั้น แต่การนอนหลับพักผ่อนก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพราะหากใครที่มีปัญหาเรื่องการนอน สุขภาพก็จะไม่ค่อยดี และป่วยง่าย เพราะเราต้องใช้เวลา 6-8 ชั่วโมงอยู่บนเตียงเลยทีเดียว ดังนั้น จากกระแสการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้การเลือก ‘ที่นอน’ ก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจ ซึ่ง Positioning จะพาไปรู้จักกับแบรนด์ ‘นิชิกาวะ แอร์’ (Nishikawa Air) เครื่องนอนระดับพรีเมียมที่มีอายุถึง 454 ปี!

รู้จัก นิชิกาวะ แอร์

นิชิกาวะ แอร์เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี 1566 ปัจจุบันได้บริหารงานโดยทายาทเจนเนอรเชั่นที่ 3 แล้ว ในตอนแรกนิชิกาวะได้เริ่มจากผลิตสินค้ามุ้งกันยุง และฟูตอง แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไป จึงได้คิดค้นนวัตกรรมที่นอน จนได้เป็นแบรนด์เครื่องนอนแบบฟูกลมเบอร์ 1 ของญี่ปุ่น

จุดเด่นของนิชิกาวะ แอร์ เป็นที่นอนผลิตจากวัสดุโฟมยูรีเทนคุณภาพ มี ‘ปุ่ม’ มากถึง 1,860 ปุ่ม ซึ่งจะช่วยโอบรับสรีระ ลดการกดทับ ทำให้เกิดการไหลเวียดเลือดที่ดีขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ท่านอนใกล้เคียงกับท่ายืนทำให้นอนหลับได้สบายมากยิ่งขึ้น มีน้ำหนักเบา เครื่องย้ายได้ง่าย สามารถวางทับบนที่นอนเก่าได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนอีกด้วย

กลุ่มสินค้าของ นิชิกาวะ แอร์ แบ่งออกเป็นชุดที่นอนนิชิกาวะ แอร์มีขนาดตั้งแต่ 3-6 ฟุต ทั้งแบบใช้ในบ้าน และแบบกลางแจ้ง โดยราคาเริ่มต้นที่ 31,300 – 190,000 บาท ส่วนหมอนก็มีให้เลือกแบบทั่วไปและที่สั่งทำตามความต้องการ รวมถึงหมอนรองคอราคาเริ่มต้นที่ 6,000 – 13,600 บาท นอกจากนี้ยังมี เบาะรองนั่ง ราคาเริ่มต้น 3,300 – 7,900 บาท

ด้วยราคาสุดแรง เริ่มต้นที่ 3 หมื่นบาท ไปจนถึงราคาเหยียบแสน แต่ต้องบอกว่าตลาดที่นอนกลุ่มพรีเมี่ยมกำลังเติบโตเฉลี่ย 7-8% เพราะคนไทยหลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ก็มีกลุ่มลูกค้าที่ยอมจ่าย เพื่อแลกกับที่นอนดีๆ ทำให้เป็นโอกาสสำคัญที่นิชิกาวะ แอร์ตัดสินใจบุกตลาดหนักมากขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในตลาดนี้ก็มีคู่เเข่งจำนวนมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Omazz, sealy และ Tempor ซึ่งเเต่ละแบรนด์ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป

นำร่องทำตลาด 2 ปี

จริงๆ แล้วนิชิกาวะ แอร์ได้เข้ามาทำตลาดในไทยได้ราวๆ 2 ปี นำเข้า และจัดจำหน่ายโดยกลุ่มบริษัทโตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) หรือ TTTC ซึ่งดูธุรกิจใน 4 ส่วนหลัก คือ 1. การจัดงาน โตโยสึ เจแปน เฟสติวัล และการทำ Business Matching 2. ลงทุนในสตาร์ทอัพ อย่างโตโยสึ ดีเอ็กซ์ ที่ให้บริการ Flare Application 3. Well -Being และ 4. นำเข้าสินค้ามาจัดจำหน่าย

ในปีนี้ TTTC ต้องการเน้นที่จะเจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์มากขึ้น จึงได้ก่อตั้ง บริษัท โตโยสึ แอล แอนด์ ซี (ไทยแลนด์) จำกัด เพิ่งเริมก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่ามานี้เอง ขึ้นมาเพื่อนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าโดยเฉพาะ ดังนั้น แบรนด์เครื่องนอนนิชิกาวะ แอร์จึงถูกนำเข้ามาในนามของบริษัท โตโยสึ แอล แอนด์ ซี (ไทยแลนด์) จากเดิมที่นำเข้ามาในนาม TTTC

นางอนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ผู้อำนวยการ บริษัท โตโยสึ แอล แอนด์ ซี (ไทยแลนด์) จำกัด (ขวา) โนบุฟุมิ มิอุระ ประธานกรรมการบริษัท โตโยสึ แอล แอนด์ ซี (ไทยแลนด์) จำกัด (ซ้าย)

ขยายโชว์รูมอีกแห่ง เจาะตลาดคนทำงาน และ B2B

โนบุฟุมิ มิอุระ ประธานกรรมการบริษัท โตโยสึ แอล แอนด์ ซี (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า โพซิชั่นของแบรนด์นิชิกาวะ แอร์จะอยู่ในกลุ่มพรีเมียม โดยได้เปิดช้อปแห่งแรกที่ห้างสรรพสินค้า “สยามทาคาชิมายา” ไอคอนสยาม เป็นห้างฯ สัญชาติญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2019 ในตอนแรกเป็นการจับตลาดกลุ่มคนมีกำลังซื้อ กลุ่มไฮโซ กลุ่มคนพักอาศัยทั่วไปที่มีการซื้อบ้านพักใหม่

แต่ในปัจจุบันพบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับที่นอนเพื่อสุขภาพมากขึ้น จึงได้ขยายโชว์รูมอีกหนึ่งแห่งที่สำนักงานบริษัท โตโยต้า ทูโชว์ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อให้พนักงานออฟฟิศ และผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียงได้เข้ามาทดลองใช้ โดยหวังให้เกิดกระแสปากต่อปาก เป็นการขยายการทำการตลาดด้วย พร้อมกับมีทีม ‘โฮมเซลล์’ โดยจะมีทีมเซลล์ไปตามบ้านลูกค้า พร้อมกับนำชุดนอนให้ทดลองใช้ฟรี 3 วัน เพื่อให้ได้ทดลองใช้จริง

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจ B2B นิชิกาวะ แอร์ จะรุกในส่วนของกลุ่มท่องเที่ยว, โรงแรม, โรงพยาบาล โครงการอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทที่ทำ Loyalty Program สะสมแต้มแลกของรางวัล โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้า B2B แล้ว 2 ราย คือ รถไฟสาย Eastern & Oriental Express และโรงแรมหรูแบรนด์ไทยอีก 1 แห่ง

“ในกลุ่มพรีเมียมนี้มีคู่แข่งเยอะมาก แต่ละรายก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันในการนำเสนอให้กับลูกค้า โดยเราจะเน้นที่ด้านสุขภาพ ที่ผ่านมามีการสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอล เพื่อให้เห็นภาพการฟื้นฟูร่างกายที่ชัดเจน หรืออย่างผู้ป่วยติดเตียงก็นำสินค้าเราไปใช้ ซึ่งช่วยลดอาการแผลกดทับได้ด้วย” อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ผู้อำนวยการ บริษัท โตโยสึ แอล แอนด์ ซี (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวเสริม

ภายในสิ้นปี บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ 20 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 15 ล้านบาท และต้องการปรับสัดส่วนรายได้จาก B2C 80% เหลือ 60% ส่วน B2B 20% เป็น 40% และเติบโต 100% ใน 3 ปี 

ขณะที่ภาพรวมของบริษัททั้งหมด ตั้งเป้าทำรายได้ 50 ล้านบาทในปีนี้ โดยจะเน้นที่การลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพเป็นหลัก รวมถึงนำเข้าแบรนด์สินค้าจากญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติมอย่างน้อย 1 แบรนด์ในปีหน้า ขณะที่ส่วนของการจัดงานโตโยสึ เจแปน เฟสติวัลต้องพักไปก่อนเพราะ COVID-19

ปัจจุบัน ตลาดเครื่องนอนมีการเติบโตต่อเนื่อง 5-7% โดยแบ่งเป็นกลุ่มระดับล่างราคาต่ำกว่า 7,000 บาท มีสัดส่วน 50% โดยกลุ่มนี้ไม่เติบโต เนื่องจากมีการเเข่งขันราคารุนแรง กลุ่มระดับกลางราคาตั้งแต่ 7,000-20,000 บาท มีสัดส่วน 30% เติบโต 10% และกลุ่มพรีเมียมราคาตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป มีสัดส่วน 20% เติบโต 7-8%