ครม.อนุมัติ “วีซ่าระยะยาว” ดึงต่างชาติมีฐานะ “อสังหาฯ” อ้อนรัฐปลดล็อกการถือครองบ้าน-คอนโด

มติ ครม. อนุมัติการจัดทำโครงการ “วีซ่าระยะยาว” ให้ชาวต่างชาติที่มีฐานะหรือมีทักษะสูงเข้ามาพำนักในไทย หวังดึงเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเด็นนี้ทำให้กลุ่มธุรกิจ “อสังหาฯ” ตื่นตัว และส่งเสียงถึงภาครัฐอีกครั้งว่าต้องการให้มีการ “ปลดล็อก” กฎหมายการถือครองที่อยู่อาศัย “ดีดีพร็อพเพอร์ตี้” เปิดข้อมูลคนจีนยังสนใจกลับมาลงทุน

เมื่อวานนี้ (14 ก.ย. 64) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ข้อหนึ่งในมติที่มีการอนุมัติ คือการให้จัดทำ “วีซ่าระยะยาว” (Long-term Resident Visa) มุ่งเป้าดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะดีหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพำนักในไทย เพื่อดึงกำลังซื้อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น

โครงการนี้วางแผนในระยะ 5 ปี (2565-2569) ตลอดระยะโครงการหวังผลดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน แต่ละคนมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับรวมมูลค่าจากการลงทุนและการชำระภาษีเงินได้ที่ไทยจะได้ประโยชน์

(Photo : Shutterstock)

กลุ่มที่ต้องการจะดึงดูดเข้ามามีทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

– ลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15 ล้านบาท) ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

– มีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

– มีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านบาท)

2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

– ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท) ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

– มีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท)

– กรณีไม่มีการลงทุน ต้องมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท)

3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) มีคุณสมบัติกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้

– กรณีที่ 1 มีรายได้ส่วนบุคคล (อาทิ เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

– กรณีที่ 2 มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือ ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุน Series A และมีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี

4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled professional) มีคุณสมบัติกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้

– กรณีที่ 1 มีรายได้ส่วนบุคคล (อาทิ เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

– กรณีที่ 2 มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวระดับคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ การบิน การแพทย์ครบวงจร เศรษฐกิจหมุนเวียน ฯลฯ)

(Photo : Shutterstock)
ต่างชาติที่ยื่นขอ “วีซ่าระยะยาว” จะได้สิทธิประโยชน์อะไร?

กลุ่มข้อ 1-3 จะได้สิทธิประโยชน์คือ

  • สิทธิทำงาน ได้พร้อมกันกับวีซ่า
  • ทั้งคู่สมรสและบุตรจะได้วีซ่าผู้ติดตาม
  • ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้ที่มาจากต่างประเทศ

ส่วนกลุ่มข้อ 4 จะได้สิทธิประโยชน์แบบเดียวกับข้อ 1-3 แต่เนื่องจากกลุ่มนี้น่าจะเข้ามาเพื่อทำงานในประเทศไทย มีรายได้ภายในประเทศไทย ทำให้รัฐมีแรงจูงใจทางภาษีคือ ไทยจะคิดภาษีเงินได้เท่ากับภาษีของการจ้างแรงงานในเขต EEC (ปัจจุบันต่างชาติที่มาทำงานระดับบริหารใน EEC จะได้ลดเพดานอัตราภาษีไม่เกิน 17% จากปกติ 35%)

ทั้งนี้ ประเด็นสิทธิการถือครองที่ดินยังค่อนข้างกำกวม เนื่องจากรายงานที่เสนอ ครม. ระบุว่าคนต่างชาติกลุ่มวีซ่าระยะยาวจะมีสิทธิประโยชน์ด้านการถือครองที่ดิน 5 ปีนับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้โครงการนี้ แต่ยังไม่ลงรายละเอียดว่าสิทธิส่วนนี้จะเป็นอย่างไร

 

“อสังหาฯ” ขานรับ ขอปลดล็อกการถือครองที่ดิน

ต่อประเด็นนี้ ผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีมุมมองเชิงบวกกับโครงการวีซ่าระยะยาว โดย “สุพินท์ มีชูชีพ”  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ ประเทศไทย จำกัด (JLL) กล่าวว่า โครงการนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น เพราะการขอวีซ่าพำนักจะง่ายขึ้นและอยู่อาศัยได้สะดวกขึ้น จากเดิมต้องรายงานตัวกับสำนักตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน แต่การมีวีซ่าตามโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องไปรายงานตัว

ภาพมุมสูง กรุงเทพฯ

เช่นเดียวกัน “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ มีความหวังว่า โครงการวีซ่าระยะยาวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคอสังหาฯ ฟื้นตัว จาก 1 ล้านคนที่เป็นเป้าหมายของรัฐ นอกจากการเช่าที่พักอาศัยแล้ว ขอเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากจำนวนนี้ที่เข้ามาซื้ออสังหาฯ ก็จะช่วยภาคธุรกิจนี้ได้

สุพินท์กล่าวต่อว่า ประเด็นหนึ่งที่ต้องการร้องขอให้รัฐพิจารณา คือการอนุญาตให้ต่างชาติในโครงการนี้ถือครองที่ดินในหมู่บ้านจัดสรรได้ โดยอาจจะมีเงื่อนไขไม่ให้มีสิทธิออกเสียงในฐานะเจ้าของร่วมเมื่อมีการประชุมลูกบ้าน รวมถึงอนุญาตให้ต่างชาติถือครองห้องชุดในคอนโดฯ ได้เกินสัดส่วน 49% ของโครงการซึ่งเป็นข้อจำกัดเดิม

(Photo : Shutterstock)

ข้อร้องขอของสุพินท์เป็นประเด็นที่คนในวงการธุรกิจอสังหาฯ ร้องขอมานาน รวมถึงเคยมีข้อเสนอของ TDRI ในทำนองเดียวกันเมื่อปี 2563 โดยเล็งผลด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก

ข้อเสนอของ TDRI มีการชี้แนะว่าการปลดล็อกหรือผ่อนผันเหล่านี้ควรจะมาพร้อมกับการจำกัดวงบ้านหรือคอนโดฯ ที่ต่างชาติซื้อได้มากกว่าเกณฑ์ปกติ ให้ซื้อเฉพาะกลุ่มราคาสูง และอยู่ในทำเลเฉพาะที่รัฐกำหนด เพื่อให้กระทบกลไกราคาบ้าน-คอนโดของคนไทยทั่วไปน้อยลง (อ่านมุมมองของ TDRI ที่นี่ >> https://positioningmag.com/1309568)

 

“คนจีน” ยังสนใจอสังหาฯ ไทยอยู่

กมลภัทรให้ข้อมูลว่า ชาวต่างชาติเริ่มกลับมาให้ความสนใจอสังหาฯ ไทย วัดจากยอดการเข้าชมเว็บไซต์ดีดีพร็อพเพอร์ตี้เพื่อชมรายการอสังหาฯ ขายของไทย มีการเข้าชมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 31% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เทียบกับปีก่อนหน้า แน่นอนว่า กลุ่มคนต่างชาติที่ต้องการอสังหาฯ ไทยมากที่สุดคือ “ชาวจีน”

ทั้งนี้ อสังหาฯ ไทยถือเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของคนจีนในการลงทุนนอกประเทศ อันดับ 1 ที่คนจีนเลือกคือ ญี่ปุ่น (22%) อันดับ 2 ไทย (21%) และอันดับ 3 สหรัฐฯ และ มาเลเซีย (12% เท่ากัน) สาเหตุที่คนจีนชื่นชอบอสังหาฯ ไทยเพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ย 5% มากกว่าผลตอบแทนในจีนที่ได้เฉลี่ยเพียง 2% และคนจีนยังชื่นชอบวัฒนธรรมไทยเป็นพิเศษ

ราคาที่พักอาศัยที่คนจีนสนใจซื้อในประเทศไทย (ที่มา : ดีดีพร็อพเพอร์ตี้)

เมื่อวัดจากกลุ่มราคาอสังหาฯ ที่คนจีนสนใจ พบว่ามีถึง 30% ที่มองหาอสังหาฯ ในราคามากกว่า 10 ล้านบาท สอดคล้องกับแนวคิดของภาครัฐที่ต้องการให้มีกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งเข้ามาลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากนี้ต้องรอดูเงื่อนไขโดยละเอียดของภาครัฐในการจัดทำโครงการวีซ่าระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ จะเป็นไปตามที่ภาคธุรกิจหวังไว้หรือไม่ รวมถึงรอการเปิดประเทศของไทยที่จะทำให้กลุ่มนักลงทุนเข้ามาชมโครงการจริงได้ในที่สุด